xs
xsm
sm
md
lg

เปลือยชุดอวกาศใหม่นาซา พร้อมกลับดวงจันทร์-สำรวจดาวอังคาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพร่างชุดอวกาศใหม่ของนาซา จากเว็บไซต์ของบริษัทโอเชียเนียริงอินเตอร์เนชันแนล
ชุดอวกาศใหม่ของนาซา สำหรับเดินทางกลับไปดวงจันทร์และภารกิจเยือนดาวอังคาร ใช้ประโยชน์ได้ครบทั้งเดินทางสู่วงโคจร นั่งยานพิเศษ และเดินบนพื้นผิวดาวอังคาร ด้วยระบบการทำงานแบบเดียวสามารถสลับได้เป็น 2 โครงสร้างเพื่อการใช้งานที่เหมาะสม

องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เลือกว่าจ้างบริษัทโอเชียเนียริงอินเตอร์เนชันแนล (Oceaneering International) ให้พัฒนาชุดอวกาศรุ่นใหม่ ซึ่งมีระบบพร้อมสำหรับงานสำรวจระหว่างดวงดาว หรือ ซีเอสเอสเอส (CSSS: Constellation Space Suit System) ซึ่งสามารถรองรับภาระงานของนักบินอวกาศได้ทั้งหมด ภายในระบบเดียวสามารถเปลี่ยนโครงสร้างภายนอกได้ 2 แบบ เพื่อรองรับการเดินทางกลับไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้ง และสำหรับการเดินทางสำรวจดาวอังคารในอนาคต

ทางนิตยสารป็อปปูลาร์เมคานิคส์ (Popular Mechanics) ได้อธิบายกลไกการทำงานของชุดอวกาศรุ่นใหม่ของนาซา ที่มีโครงสร้างภายนอก 2 แบบภายในระบบเดียว ซึ่งโครงสร้างภายนอกแบบที่ 1 (configuration 1) จะใช้เพื่อการเดินทางไปและกลับสู่โลก และการขับขี่ยานพิเศษในภาวะฉุกเฉิน และโครงสร้างภายนอกแบบที่ 2 (configuration 2) สำหรับขับขี่ยานพิเศษในภารกิจประจำ รวมถึงการเดินบนดวงจันทร์ และกระทั่งพื้นผิวดาวอังคาร
ป็ปปูลาร์เมคานิกส์เปรียบเทียบชุดอวกาศใหม่ของนาซาซึ่งในระบบเดียวกันนี้มีโครงสร้างภายนอก 2 แบบ
หมวกกันน็อค
โครงสร้างภายนอกแบบที่ 2 ออกแบบให้ที่บังแดดยื่นไปด้านหน้ามากขึ้น เพื่อมองระดับต่ำได้ชัดขึ้น

อุปกรณ์กู้ชีพ
สำหรับโครงสร้างภายนอกแบบที่ 1 มีสายส่งออกซิเจน ควบคุมอุณภูมิและอุปกรณ์สื่อสาร ส่วนของโครงสร้างภายนอกแบบที่ 2 มีเป้กู้ชีพพีแอลเอสเอส (Portable life-support system: PLSS) ด้านหลัง

ลำตัวและแขน
ลำตัวและแขนของโครงสร้างภายนอกแบบที่ 1 ออกแบบเพื่อความสบายและง่ายต่อการเคลื่อนไหวไปมา ระหว่างการเดินทางระยะยาว หรือเมื่ออยู่ในสถานีอวกาศ ส่วนลำตัวและแขนของโครงสร้างภายนอกแบบที่ 2 เชื่อมต่อกับเป้พีแอลเอสเอส และออกแบบให้สามารถเดินบนพื้นผิวของดวงจันทร์ได้นานๆ และสะดวกเท่าที่จะทำได้

ถุงมือ
ถุงมือของโครงสร้างภายนอกแบบที่ 1 ออกแบบให้เบาและใช้งานได้คล่องแคล่ว ส่วนของโครงสร้างภายนอกแบบที่ 2 อาจจะไม่คล่องแคล่วเท่าแบบที่ 1 แต่รองรับรูและรอยฉีกขาดได้มากกว่า

ชั้นนอก
ชั้นนอกของโครงสร้างภายนอกแบบที่ 1 มีคุณสมบัติหน่วงไฟ ส่วนโครงสร้างภายนอกแบบที่ 2 ทนทานต่อการฉีกขาดจากเศษวัตถุในอวกาศ

เมื่อเปรียบเทียบกับระบบเดิมที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี 2526 แล้ว มนุษย์อวกาศต้องใช้ชุดอวกาศหลายชุดสำหรับปฏิบัติการหนึ่งๆ แต่ระบบซีเอสเอสเอสนี้ ใช้เพียงชุดเดียวที่สามารถเปลี่ยนรูปร่างภายนอกได้ และยังมีน้ำหนักเบากว่า รวมทั้งราคาถูกกว่าระบบเดิม

สำหรับชุดอวกาศที่มีโครงสร้างภายนอกแบบที่ 1 นั้นจะใช้งานกับปฏิบัติการโอไรออน (Orion) ในปี 2558 และโครงสร้างภายนอกแบบที่ 2 จะใช้เพื่อเดินทางกลับไปเยือนดวงจันทร์ในปี 2563
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ wired
กำลังโหลดความคิดเห็น