xs
xsm
sm
md
lg

ยาน LRO ถึงที่หมายมุ่งสร้างแผนที่ให้นาซาใช้ ยามกลับไปเหยียบดวงจันทร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพแรกของดวงจันทร์ที่ได้จากยาน LRO/LCROSS ยานสำรวจดวงจันทร์ของนาซาที่เดินทางจากโลกเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 52 และเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 52 และมีกำหนดจะลงจอดบริเวณขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ในเดือน ต.ค. นี้ (เอเอฟพี/นาซา)
นาซาบรรลุเป้าหมาย ส่งยานไปถึงดวงจันทร์สำเร็จ เร่งสำรวจพื้นผิวดาวบริวารของโลกด้วยกล้องความละเอียดสูง หวังเก็บข้อมูลในมุมที่ไม่เคยเห็น พร้อมสร้างแผนที่ดวงจันทร์ เพื่อการวางแผนส่งมนุษย์อวกาศกลับไปอีกครั้งในอีก 10 ปีข้างหน้าหน้า ส่วนปลายปีนี้เตรียมนำยานลงจอดในหลุมขั้วโลกใต้ ขุดหาร่องรอยของน้ำ

ลูนาร์ รีคอนเนสซองซ์ ออร์บิเตอร์ หรือ แอลอาร์โอ (The Lunar Reconnaissance Orbiter: LRO) ยานสำรวจดวงจันทร์ลำล่าสุดขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เดินทางถึงที่หมายและเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์เรียบร้อยแล้วเมื่อเวลา 17.27 น. ของวันที่ 23 มิ.ย.52 ที่ผ่านมา ตามเวลาในประเทศไทย พร้อมเดินหน้าสำรวจภูมิประเทศบนดวงจันทร์ เตรียมทำแผนที่ให้มนุษย์อวกาศมาสำรวจต่อในปี 2563

"ทันทีที่ยานเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ เราก็สามารถเริ่มรวบรวมข้อมูลรายละเอียดภาพถ่ายพื้นผิวดวงจันทร์ที่จะทำให้เราเข้าใจรายละเอียดภูมิประเทศบนดวงจันทร์ได้มากยิ่งขึ้น" แคธี เพดดี (Cathy Peddie) รักษาการผู้จัดการโครงการยานแอลอาร์โอ กล่าว โดยมีศูนย์ประสานงานโครงการอยู่ที่ศูนย์อวกาศกอดดาร์ด (Goddard Space Flight Center) มลรัฐแมรีแลนด์

ข้อมูลจากนาซาระบุว่ายานแอลอาร์โอจะพุ่งเป้าการสำรวจไปที่หลุมที่ลึกที่สุดบนดวงจันทร์ รวมทั้งบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึงและบริเวณที่อยู่ในเงามืดตลอดเวลา เพื่อทำความเข้าใจกับผลของรังสีสะท้อนจากดวงจันทร์ต่อมนุษย์บนโลก โดยอาศัยภาพถ่ายภูมิประเทศบนดวงจันทร์ในแบบ 3 มิติ ที่มีความละเอียดสูง และสามารถสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ใด้ภายใต้สเปกตรัมที่ความยาวคลื่นต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน ก็จะสำรวจและเก็บข้อมูลเพิ่มเติมในบริเวณที่ภารกิจก่อนหน้าได้เคยสำรวจไปบ้างแล้ว ซึ่งเครื่องมือและอุปกรณ์ของยานแอลอาร์โอทั้ง 7 ชิ้น จะเริ่มเชื่อมต่อกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และดำเนินการสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์อย่างจริงจัง ตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย. เป็นต้นไป หลังจากที่ยานแอลอาร์โอเข้าสู่วงโคจรชั้นในของดวงจันทร์แล้ว

ทั้งนี้ นาซาส่งยานแอลอาร์โอพร้อมด้วยโพรบแอลซีอาร์โอเอสเอส (Lunar Crater Observation and Sensing Satellite: LCROSS) จากศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา ด้วยจรวดแอตสาส วี (Atlas V rocket) โดยโพรบ LCROSS นั้นจะยึดติดอยู่กับยานแอลอาร์โอไปจนถึงเดือน ต.ค. ก่อนที่จะแยกออกไปสำรวจดวงจันทร์ในขั้นที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นต่อไป

นาซาจะให้โพรบดังกล่าวลงจอดในหลุมบนดวงจันทร์ที่อยู่ใกล้กับบริเวณส่วนขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์
เพื่อขุดเอาวัตถุบริเวณดังกล่าวมาวิเคราะห์หาร่องรอยของน้ำแข็งต่อไป และข้อมูลที่ได้จากการสำรวจดวงจันทร์โดยยานแอลอาร์โอครั้งนี้ นาซาจะนำไปใช้วางแผนสำหรับการส่งมนุษย์ไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้งที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2563

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในช่วง 2 ปีที่แล้ว ทั้งจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ได้ทยอยส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์กันอย่างแข็งขัน และเมื่อเดือน มี.ค. ยานฉางเอ๋อ 1 (Chang'e 1) ของจีนได้ลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ ตามด้วยยานคางูยะ (Kaguya) ของญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา.
การส่งยาน LRO/LCROSS ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2552 (เอเอฟพี)
ภาพจำลองยาน LRO/LCROSS ขณะลอยเหนือพื้นผิวดวงจันทร์ (นาซา)
กำลังโหลดความคิดเห็น