ฉลองครบรอบ 40 ปีของการลงจอดบนดวงจันทร์ และก้าวย่างแห่ง "มูนวอล์ก" ครั้งแรก เหล่า 12 ผู้เฒ่านักบินอวอากาศแห่งโครงการ "อพอลโล" ล้อมวงเล่าประสบการณ์ รวมทั้ง "นีล อาร์มสตรอง" และ "บัซ อัลดริน" นักบินของยานอพอลโล 11 มนุษย์ชุดแรกที่ย่างเหยียบบนดวงจันทร์มาร่วมวงสนทนาด้วย
การรวมตัวกันของนักบินอวกาศในโครงการอพอลโล (Apollo) เพื่อฉลองครบ 40 ปีที่มนุษย์ได้เหยียบดวงตันทร์ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 17 ก.ค.52 ที่ผ่านมา ณ หอเกียรติยศสถาบันการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (National Aviation Hall of Fame) ของพิพิธภัณฑ์แห่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ (National Museum of the United States Air Force)
ในจำนวนนี้มี "นีล อาร์มสตรอง" (Neil Armstrong) และบัซ อัลดริน (Buzz Aldrin) มนุษย์อวกาศชุดแรก ที่เหยียบดวงจันทร์ ได้เข้าร่วมในงาน พร้อมรับรางวัล "สปิริต ออฟ ไฟล์ท" (Spirit of Flight) เพื่อแสดงถึงความกล้าหาญ และการอุทิศตนของเขาทั้งสอง
เอพีระบุว่า ภายในงานรำลึกเหตุการณ์ ที่ทั้งสองได้สร้างประวัติศาสตร์ไว้ ซึ่งมีผู้คนหลายร้อยคนอยู่ภายในงาน ได้ฉายภาพวิดิโอที่ถ่ายทอดคำพูดอันโด่งดังของอาร์มสตรองอีกครั้งว่า "ก้าวเล็กๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ" (One small step for a man, one giant leap for mankind.) ซึ่งเป็นประโยคแรก ที่เขาพูดหลังจากเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2512
"มันน่าตื่นเต้นมาก" อาร์มสตรองมนุษย์อวกาศของยานอพอลโล 11 รำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น ซึ่งเขาจ้องเขม็งที่พื้นผิวดวงจันทร์ ขณะที่เหยียบย่างก้าวแรกลงไป และกล่าวต่อว่า เมื่อใดก็ตามที่เราไปที่ไหนสักแห่ง สถานที่ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่เราเคยเห็น สถานที่แห่งนั้นพิเศษและมีค่าแก่การจดจำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาครั้งนั้น แต่เขาและแอดรินมีเวลาเพียงเล็กน้อยที่จะเพลิดเพลินไปกับประสบการณ์ดังกล่าว
"เรามีเวลาไม่ถึง 5 วินาที เมื่อได้รับข้อความจากศูนย์ควบคุมปฏิบัติการ (Mission Control) บอกให้เราเดินหน้าภารกิจต่อไป" อาร์มสตรองกล่าว และบอกว่า เขาเป็นทีมสำรองสำหรับเที่ยวบินอพอลโล 8 แต่เมื่อเขาไม่ต้องทำหน้าที่ในภารกิจดังกล่าว จึงได้รับการทาบทามให้ปฏิบัติภารกิจในอีก 3 ลำดับถัดไป ซึ่งเขากล่าวว่าเป็นเรื่องยากที่จำทำนายว่าภารกิจของเที่ยวบินใดที่จะประสบความสำเร็จ
ด้าน ยูจีน เคอร์นัน (Eugene Cernan) มนุษย์คนสุดท้ายที่ได้เดินบนดวงจันทร์ และยังได้บินในเที่ยวบินก่อนหน้าอาร์มสตรอง ได้กล่าวติดตลกว่า ภารกิจของเขาได้ขีดเส้นขาวให้ยานอพอลโล 11 ได้เดินตาม ซึ่งทุกคนทราบดีว่า อาร์มสตองลงจอดบนดวงจันทร์ได้ แต่พวกเขาก็ไม่มั่นใจนักว่าอาร์มสตรองจะหาดวงจันทร์พบหรือเปล่า แต่อาร์มสตรองก็สวนกลับว่า เขาได้ยินคำพูดเช่นนี้มา 40 ปี แต่ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของเขาได้ ซึ่งเรียกเสียงหัวเราะของผู้คนที่เข้าร่วมจำนวนมาก
แม้จะมีเที่ยวบินกรุยทางให้แล้ว แต่การลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งแรกก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เมื่อนักบินอวกาศต้องเผชิญสถานการณ์ที่สร้างความตรึงเครียดให้กับทั้งตัวนักบินเองและศูนย์ควบคุมปฏิบัติการ เมื่อพื้นที่กำหนดให้เป็นจุดลงจอดนั้น มีสภาพเป็นหินมากเกินไป อาร์มสตรองจำต้องเผาพลาญเชื้อเพลิงที่กำลังลดลงเพื่อหาตำแหน่งลงจอดที่เหมาะสมต่อไป
"ผมพูดไม่ได้ว่ามันน่าตื่นตระหนก อันที่จริงมีการดูแลเรื่องรายละเอียดอย่างมาจากห้องควบคุมปฏิบัติการ ระดับเชื้อเพลิงกำลังลดลง ลดลงเรื่อยๆ และอะไรๆ ก็เริ่มเข้าสู่ภาวะตึงเครียด เมื่อมีเชื้อเพลิงเพียงพอแค่ 30 วินาที ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว อยู่ในภาวะเงียบราวกับหยุดหายใจเลยทีเดียว" ชาร์ลส ดุค (Charles Duke) ผู้ประจำอยู่ในห้องควบคุมครั้งนั้นด้วยกล่าว
ด้านอัลดรินยังคงเก็บปากกาที่ปลายบิดเบี้ยว เขาใช้ปากกาดังกล่าวเป็นสวิตช์ชั่วคราวเพื่อใช้จุดเครื่องยนต์ ซึ่งนำเขาและอาร์มสตรองทะยานขึ้นจากพื้นผิวดวงจันทร์ และมุ่งหน้ากลับสู่โลกอย่างปลอดภัย
อัลดรินบอกว่าปากกาด้ามดังกล่าว และสวิตซ์ที่ว่านั้น เป็นเรื่องน่าจดจำ เป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และข้อมูลจากนาซาระบุว่าหลังจากอาร์มสตรองและอัลดรินได้สำรวจดวงจันทร์แล้ว พวกเขาได้เดินทางขึ้นไปสมทบกับ ไมเคิล คอลลินส์ (Michael Collins) นักบินอวกาศยานอพอลโล 11 ซึ่งรอคอยอยู่ในวงโคจรดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2512
ทั้งนี้ อัลดรินในวัย 79 ปียังได้เขียนหนังสือถ่ายทอดประสบการณ์เดินทางไปดวงจันทร์ "ความโดดเดี่ยวที่งดงาม - เส้นทางกลับบ้านที่ยาวไกลจากดวงจันทร์" (Magnificent Desolation: The Long Journey Home from the Moon) ซึ่งเขากล่าวภายในงานเปิดตัวหนังสือว่า ความสำเร็จของยานอพอลโลนั้น มีบางสิ่งที่ไม่เป็นไปตามแผน อย่างเช่นคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อนนั้นมีน้ำหนักเกิน แต่พวกเขาได้พิสูจน์ว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย และไม่มีผลกระทบต่อการลงจอด
เมื่อ "เดินบนดวงจันทร์" (moonwalk) และนักบินอวกาศกลับเข้าโมดูลแล้ว ก็พบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสวิตซ์ที่จะส่งกระแสไฟฟ้าเข้าไปยังเครื่องยนต์ เพื่อนำพวกเข้าขึ้นจากพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งหากไม่สามารถกดสวิตซ์ดังกล่าวได้ ก็จะเกิดปัญหาแน่
ดังนั้นอัลดรินจึงใช้ปากกาของเขาสอดเข้าไปในช่องเล็กๆ ตรงจุดที่ควรมีสวิตซ์เปิดปิด และเมื่อเครื่องยนต์จุดติดแล้ว พวกเขาจึงเดินทางกลับมาได้ เขากล่าวด้วยว่าดวงจันทร์เป็นสถานที่อันโดเดี่ยว แต่ก็ให้ความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ในสัญลักษณ์ที่มนุษย์สามารถไปเยือนได้
"จุดสุดยอดในชีวิตของผม อาจจะเป็นการลงจอดบนดวงจันทร์ร่วมกับนีล และการลงจอดก็สำคัญยิ่งกว่าการเดินไปรอบๆ ข้างนอก ไม่ว่าทุกๆ คนจะคิดอย่างไรก็ตาม การลงจอดได้เปิดโอกาสให้เกิดอะไรก็ได้ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" อัลดรินกล่าว.
คลิกอ่าน ... ประมวลข่าว "รำลึก 40 ปีเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรก"