xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย "อพอลโล 11" ก้าวเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นีล อาร์มสตรอง ขณะกำลังปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์โดยกำลังทำงานอยู่ใกล้ๆ กับบริเวณห้องเก็บอุปกรณ์ของหน่วยยานอีเกิล ซึ่งนี่เป็นภาพหนึ่งในจำนวนไม่กี่ภาพของอาร์มสตรองขณะเดินบนพื้นผิวดวงจันทร์ (นาซา)
รัสเซียมี "ยูริ กาการิน" ที่ผู้คนทั่วโลกรู้จักในฐานะนักบินอวกาศคนแรกของโลก ฟากสหรัฐฯ ก็มี "นีล อาร์มสตรอง" ผู้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในฐานะนักบินอวกาศคนแรก ที่ลงสัมผัสกับพื้นผิวดวงจันทร์กับเที่ยวบินอวกาศของยาน "อพอลโล 11" เมื่อ 40 ปีที่แล้ว

เมื่อปี พ.ศ.2504 วันที่ 12 เม.ย. "ยูริ กาการริน" (Yuri Gagarin) นักบินอวกาศชาวรัสเซียได้ทำบันทึกประวัติศาสตร์เป็น "มนุษย์คนแรกของโลกทีได้ออกสู่อวกาศ" จากนั้นไม่กี่เดือน เมื่อวันที่ 5 พ.ค. "อลัน เชพเพิร์ด" (Alan Shepard) นักบินอวกาศคนแรกของสหรัฐฯ ได้ออกไปบินรอบโลก ทว่าเป็นคนที่ 2 ในประวัติศาตร์ 

จากนั้นอีก 8 ปียาน "อพอลโล 11" (Apollo 11) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ก็พา 3 นักบินมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ และ "นีล อาร์มสตรอง" (Neil Armstrong) ก็ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า เป็นมนุษย์คนแรกที่เหยียบลงบนพื้นผิวดวงจันทร์

สหรัฐฯ ในสมัยนั้น อยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี (John F. Kennedy) ที่ให้การสนับสนุนงานด้านอวกาศของสหรัฐฯ อย่างเต็มที่ และตั้งเป้าจะส่งมนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์ให้ได้ภายในทศวรรษที่ 60

กระทั่งวันที่รอคอยมาถึง 7 เดือนหลังจากนาซาส่งยานอพอลโล 8 (Apollo 8) เดินทางไปกลับระหว่างโลกและดวงจันทร์ เป็นเที่ยวบินแรกที่มีนักบินอวกาศ 3 นาย ร่วมเดินทางได้ด้วย แต่ไม่ได้ลงจอดบนดวงจันทร์

เช้าวันที่ 16 ก.ค. 2512 อาร์มสตรอง พร้อมด้วย บัซ อัลดริน (Buzz Aldrin) และไมเคิล คอลลินส์ (Michael Collins) เข้านั่งประจำที่ในยานอพอลโล 11 ที่เตรียมพร้อมอยู่บนฐานปล่อยจรวด 39A ในศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) และเมื่อเวลา 9.32 น. (หรือ 21.32 น. ตามเวลาในประเทศไทย) เครื่องยนต์เริ่มจุดระเบิดและทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า เพียง 12 นาที อพอลโล 11 ก็พาลูกเรือทั้ง 3 นาย เข้าสู่วงโคจรรอบโลก

หลังจากโคจรรอบโลกได้ 1 รอบครึ่ง อพอลโล 11 ก็มุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ (Translunar Injection) อันเป็นเป้าหมายของภารกิจในครั้งนั้น และหลังจากนั้นเพียง 3 วัน ก็เข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์สำเร็จ

20 ก.ค. 2512 อาร์มสตรองและอัลดรินก็เข้าประจำที่ ในหน่วยของยานที่จะนำลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ ชื่อว่า "อีเกิล" (Eagle) ส่วนนักบินคอลลินส์ยังประจำที่อยู่ในหน่วยบัญชาการนามว่า "โคลัมเบีย" (Columbia)

ทั้งนี้ ในภายหลังคอลลินส์ได้บันทึกไว้ว่า "อีเกิลเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดที่สุดในท้องฟ้าเท่าที่เคยเห็นมา แต่มันกำลังจะได้พิสูจน์คุณค่าของตัวมันเอง"

เวลาประมาณ 16.18 น. ของวันที่ 20 ก.ค. (หรือ 4.18 น. ของวันที่ 21 ก.ค. ตามเวลาในประเทศไทย) อาร์มสตรองนำอีเกิลลงจอดบนดวงจันทร์บริเวณที่เรียกว่า "ซี ออฟ แทรงควิลิตี" (Sea of Tranquility) หรือทะเลแห่งความสงบได้ในตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ ฝั่งตะวันออก แม้ว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นกับคอมพิวเตอร์ของอีเกิลบ้าง และทันทีที่ลงจอดสำเร็จ อาร์สตรองก็ส่งสัญญาณรายงานมายังโลกทันที

22.56 น. (หรือ 10.56 น. ของวันที่ 21 ก.ค. ตามเวลาในประเทศไทย) อาร์มสตรองเตรียมพร้อมแล้ว ที่จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการประทับรอยเท้าแรกของมนุษย์บนพื้นผิวดวงจันทร์ ท่ามกลางสายตาของประชากรทั่วโลกกว่า 500 ล้านคน ที่เฝ้าจดจ้องรอดูวินาทีประวัติศาสตร์อยู่หน้าจอโทรทัศน์

อาร์มสตรองค่อยๆ ไต่บันไดยานลงมาเบื้องล่างพร้อมกับประกาศว่า "นี่เป็นก้าวเล็กๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ " (That's one small step for a man, one giant leap for mankind.)

หลังจากนั้นอัลดรินก็ค่อยๆ ไต่บันไดลงมาสมทบ พร้อมกับเอ่ยคำออกมาสั้นๆ แต่ให้ใจความของสภาพพื้นผิวบนดวงจันทร์ได้อย่างมากว่า "เป็นความเวิ้งว้างที่ยิ่งใหญ่มาก" (magnificent desolation)

พวกเขาได้ปักธงชาติสหรัฐฯ เอาไว้บนดวงจันทร์ในบริเวณดังกล่าว เป็นเกียรติให้แก่ลูกเรือทั้ง 3 ของอพอลโล 1 ที่เกิดอุบัติเหตุเสียก่อนจะเดินทาง  

พร้อมกับปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์อยู่ราว 2 ชั่วโมงครึ่ง ทั้งสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ บันทึกภาพ และเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์

อีกทั้ง ยังได้ปักแผ่นจารึกไว้ที่ฐานของอีเกิล ซึ่งมีข้อความว่า "พวกเราเป็นมนุษย์จากดาวโลก ที่ได้ย่างเท้าเหยียบบนดวงจันทร์ ในเดือนกรกฎาคม 1969 พวกเรามาโดยสันติเพื่อมวลมนุษยชาติ" (Here men from the planet Earth first set foot upon the moon. July 1969 A.D. We came in peace for all mankind.)

ก่อนที่จะกลับไปสมทบกับคอลลินส์ที่ประจำอยู่ในหน่วยบัญชาการของยานเพื่อเดินทางกลับสู่มาตุภูมิ

อพอลโล 11 และนักบินทั้ง 3 นายเดินทางกลับมาถึงโลกอย่างปลอดภัยในวันที่ 24 ก.ค. 2512 โดยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น จากประธานาธิบดีและประชาชนชาวสหรัฐฯ

ตลอดช่วงเวลา 3-4 ปี หลังจากนั้น นาซาก็ได้ส่งนักบินอวกาศรวมประมาณ 10 คน ปฏิบัติภารกิจตามรอยพวกเขาในโครงการอพอลโลครั้งต่อๆ มา ซึ่งจีน เคอร์แนน (Gene Cernan) ผู้บังคับการอพอลโล 17 ได้กล่าวกับดวงจันทร์ไว้ หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งสุดท้าย ในโครงการอพอลโลว่า พวกเขาจะกลับไปอีกครั้งด้วยสันติภาพและความหวังแห่งมวลมนุษยชาติ

และขณะนี้ "รอยเท้านักบินโครงการอพอลโล" ก็กำลังรอคอยพวกเรากลับไปเยี่ยมเยือนอีกครั้ง

(ข้อมูลจาก องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ)
ยานอพอลโล 11 ขณะทะยานออกจากฐานปล่อยจรวดในศูนย์อวกาศเคนเนดีเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2512 เพื่อมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ และสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้มวลมนุษยชาติ (นาซา)



คลิกอ่าน ... ประมวลข่าว "รำลึก 40 ปีเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรก"
บัซ อัลดริน ขณะกำลังไต่บันไดหน่วยานอีเกิลลงมาสัมผัสพื้นผิวดวงจันทร์ครั้งแรก (นาซา)
สภาพพื้นผิวบนดวงจันทร์ที่เวิ้งว้างและแห้งแล้ง (นาซา)
3 นักบินอวกาศของยานอพอลโล 11 ขณะเตรียมตัวไปเข้าประจำที่ในยานอพอลโล 11 เพื่อออกเดินทางสู่ดวงจันทร์ (นาซา)
ประชาชนในสหรัฐฯ ต้อนรับการกลับมาของนักบินอพอลโล 11 อย่างยิ่งใหญ่ (นาซา)
กำลังโหลดความคิดเห็น