xs
xsm
sm
md
lg

เล็งตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนสุญญากาศ รองรับอุตสาหกรรมต่างประเทศในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งานเสวนา คุยกัน...ฉันท์วิทย์ เรื่อง เทคโนโลยีสุญญากาศเพื่ออุตสาหกรรมไทย ที่จัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เพื่อเผยแสดงให้เห็นขีดความสามารถของคนไทยในด้านเทคโนโลยีสุญญากาศระดับสูง (ภาพจาก วท.)
นักวิจัยเผยเทคโนโลยีสุญญากาศกำลังขยายตัวในภาคอุตสาหกรรม แต่ไทยยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ และต้องนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ ล่าสุดสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนเตรียมถ่ายทอดเทคโนโลยีสุญญากาศระดับสูงแก่เอกชน หวังอีก 3 ปี ไทยตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนสุญญากาศคุณภาพทัดเทียมสากลแต่ราคาถูกกว่าครึ่ง พร้อมให้บริการด้านเทคนิคแก่อุตสาหกรรมต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จัดงานเสวนา คุยกัน...ฉันท์วิทย์ เรื่อง "เทคโนโลยีสุญญากาศเพื่ออุตสาหกรรมไทย" ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและภาคเอกชนถึงความสำคัญของเทคโนโลยีสุญญากาศสำหรับภาคอุตสาหกรรมและความสามารถของคนไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวได้ทัดเทียมกับต่างชาติ ซึ่งทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ได้ร่วมฟังพร้อมกับนักศึกษาและตัวแทนจากภาคเอกชนจำนวนมาก

ดร.ประยูร ส่งสิริฤทธิกุล หัวหน้าฝ่ายระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน อธิบายว่า สุญญากาศคือบริเวณที่มีความดันน้อยกว่าความดันบรรยากาศ ซึ่งได้มีการนำหลักการของสุญญากาศมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันมากมาย เช่น เครื่องปั๊มน้ำ, ระบบสุญญากาศในเครื่องใช้ไฟฟ้า, ระบบสุญญากาศในเครื่องผลิตรังสีเอ็กซ์ เป็นต้น รวมถึงระบบสุญญากาศที่ใช้ในการผลิตแสงซินโครครอน

"ในการผลิตแสงซินโครตรอนต้องใช้เทคโนโลยีระบบสุญญากาศระดับสูง และในภาคอุตสาหกรรมหลายประเภทก็จำเป็นต้องใช้งานระบบสุญญากาศในกระบวนการผลิตเช่นกัน แต่เป็นสุญญากาศที่ระดับปานกลางหรือระดับต่ำ ซึ่งปกติแล้วต้องนำเข้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แต่ปัจจุบันนี้เราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีสุญญากาศระดับสูงได้เทียบเท่ากับสากล รวมทั้งการผลิตชิ้นส่วนสุญญากาศความดันต่ำระดับสุดขีดได้เป็นแห่งเดียวในประเทศ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้กับระบบสุญญากาศในภาคอุตสาหกรรมได้" ดร.ประยูร กล่าว

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้ระบบสุญญากาศ เช่น อุตสาหกรรมการบรรจุหีบห่อ, การเคลือบฟิล์มบางในกระบวนการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์, การเคลือบฟิล์มบางเพื่อป้องกันการสึกร่อน, อุตสาหกรรมการอบแห้งสุญญากาศ และการทำวัคซีนเหลวให้เป็นผง เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีสุญญากาศมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในประเทศ การใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศนอกจากมีต้นทุนสูงแล้ว หากเกิดปัญหาขึ้นก็ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาแก้ไข หรือสั่งซื้อชิ้นส่วนเครื่องจักรจากต่างประเทศเข้ามาซ่อมบำรุง ซึ่งอาจต้องใช้เวลานาน ทำให้มูลค่าความเสียหายเพิ่มมากขึ้น

"ปัญหาสำคัญที่พบบ่อยในระบบสุญญากาศของภาคอุตสาหกรรมคือ เกิดรอยรั่วแล้วไม่สามารถตรวจสอบได้เอง ต้องรอผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาตรวจสอบให้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะซ่อมแซมได้จนแล้วเสร็จ แต่หากเรามีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ภายในประเทศ จะช่วยแก้ปัญหาให้ภาคอุตสาหกรรมได้ง่ายขึ้นในเวลาอันสั้น" ดร.ประยูร กล่าว ซึ่งล่าสุดได้ให้บริการตรวจสอบหารอยรั่วในระบบสุญญากาศของเครื่องทำวัคซีนให้เป็นผง ของบริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ซิเออร์ชีววัตถุ จำกัด โดยใช้เทคโนโลยีการตรวจสอบรอยรั่วด้วยเครื่องฮีเลียม ลีก ดีเทคเตอร์ (Helium Leak Detector) และแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วขึ้น ช่วยลดการสูญเสียจากการหยุดชะงักของกระบวนการผลิตวัคซีนได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนเป็นหน่วยงานเพียงแห่งเดียวในประเทศที่มีผู้เชี่ยวชาญสามารถให้บริการแก้ไขปัญหาระบบสุญญากาศแก่ภาคอุตสาหกรรม แต่ความต้องการใช้ระบบสุญญากาศ กำลังเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรและขีดความสามารถของไทยด้านเทคโนโลยีสุญญากาศระดับสูง

ดร.ประยูร กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า ปัจจุบันสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนให้บริการด้านเทคโนโลยีสุญญากาศแก่นักวิจัยและภาคอุตสาหกรรมในด้านเทคนิค แก้ปัญหาของระบบ และการผลิตชิ้นส่วนของระบบสุญญากาศตามความต้องการของผู้ใช้งานได้คุณภาพทัดเทียมกับนำเข้าต่างประเทศแต่ราคาถูกกว่า 50%

"ในอนาคตวางแผนว่าจะก้าวสู่การให้บริการด้านคำปรึกษาแก่ภาคอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสุญญากาศ ตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้งโรงงาน ติดตั้งระบบ ตลอดจนแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ภาคอุตสาหกรรมของไทย ขณะเดียวกันก็จะให้บริการฝึกอบรมแก่บุคลากรของภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุญญากาศตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" ดร.ประยูร กล่าว

นอกจากนี้ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนยังตั้งเป้าจะถ่ายทอดเทคโนโลยีสุญญากาศระดับสูงให้กับเอกชนไทยที่สนใจ รวมทั้งการผลิตชิ้นส่วนและระบบสุญญากาศ เพื่อนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชน์และให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยได้ โดยเบื้องต้นอาจจัดตั้งเป็นบริษัทที่ร่วมทุนกับเอกชน ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า หากทำได้จะช่วยลดการสูญเสียเงินตราให้ต่างประเทศ และสามารถให้การรองรับด้านเทคนิคแก่ภาคอุตสาหกรรมของไทยได้อย่างดี รวมทั้งบริษัทต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในไทยได้ในอนาคต
ดร.ประยูร ส่งสิริฤทธิกุล (ภาพจาก วท.)
กำลังโหลดความคิดเห็น