นาโนเทคดึงแสงซินโครตรอนช่วยวิจัยวัสดุนาโน จับมือ มทส. สร้างระบบลำเลียงแสงชุดใหม่ ประเดิมงานวิจัยแว่นตานาโนส่องดูคราบเลือด ต่อยอดของเดิมให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น พร้อมพัฒนาคนคู่พัฒนางานวิจัยเทคโนโลยีจิ๋ว หวังภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอด
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) หรือ สซ. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) แถลงข่าวและจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง "การจัดตั้งและดำเนินการสถานร่วมวิจัย มทส.-นาโนเทค เพื่อการใช้แสงซินโครตรอน" ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ร่วมงานพร้อมกับสื่อมวลชนอีกจำนวนหนึ่ง
ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ กรรมการบริหารปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ สซ. กล่าวว่า การจัดตั้งสถานร่วมวิจัย มทส.-นาโนเทค เพื่อการใช้แสงซินโครตรอนครั้งนี้เป็นความร่วมมือกันของ 3 สถาบันไตรภาคี เพื่อให้บุคลากรจากทั้งสามฝ่ายใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนในการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี พัฒนาบุคลากร ร่วมกันใช้ประโยชน์จากป้องปฏิบัติการและเครื่องมือวิทยาศาสตร์นี้อย่างคุ้มค่า เพราะเป็นเครื่องมือที่มีราคาแพงมาก และมีเพียงแค่ไม่กี่ประเทศเท่านั้น จึงอยากให้นักวิจัยไทยรวมถึงนักวิจัยในประเทศเพื่อนบ้านได้มาร่วมใช้ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด
"แสงซินโครตรอน โดยเฉพาะแสงเอ็กซ์เรย์ (X-ray) เป็นแสงในย่านความถี่ที่เหมาะสมในการประยุกต์ใช้ทางด้านนาโนเทคโนโลยี เพราะสามารถทำให้มองเห็นโมเลกุลในระดับอะตอมได้ ช่วยลดข้อจำกัดของงานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีได้มาก ซึ่งการใช้แสงซินโครตรอนทางด้านนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็มีหลายประเทศใช้เทคโนโลยีนี้กันแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนโลหะ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมในประเทศของเขาได้เป็นอย่างมาก" ดร.วีระพงษ์ อธิบาย
ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการความร่วมมือนี้จะมีการจัดสร้างระบบลำเลียงแสงซินโครตรอน เอสยูที-นาโนเทค บีมไลน์ (SUT-NANOTEC beamline) ณ ห้องปฏิบัติการแสงสยาม ที่ตั้งอยู่ภายใน ม.เทคโนโลยีสุรนารี สำหรับเป็นสถานีวิเคราะห์โครงสร้างนาโนด้วยแสงซินโครตรอน และผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ เพื่อเตรียมพร้อมในการใช้เทคโนโลยีใหม่ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติในอนาคตต่อไป โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี ภายใต้งบประมาณ 70 ล้านบาท
ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการนาโนเทค กล่าวว่ากับทีมข่าวิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีนักวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีประมาณ 400 คน ซึ่งนาโนเทคได้ให้ทุนวิจัยไปแล้วกว่า 90 โครงการ
"ในการศึกษาวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยียังมีข้อจำกัดอยู่มาก เนื่องจากโครงสร้างระดับนาโนเมตรมีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองด้วยตาเปล่าได้ นักวิจัยมีความต้องการที่จะสามารถมองเห็นอนุภาคขนาดนาโนได้ เพื่อให้รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นอย่างไรบ้างในระดับนาโนเมตร ซึ่งจะทำให้งานวิจัยมีความแม่นยำมากขึ้น สามารถทดลองซ้ำได้อย่างอย่างถูกทิศทาง และเพิ่มประสิทธิภาพของผลงานวิจัย" ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ แจง
ผู้อำนวยการนาโนเทคยังยกตัวอย่างงานวิจัยที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ได้แก่ แว่นตานาโน ซึ่งเป็นการต่อยอดจากงานวิจัยแว่นตานาโนที่ประสบความสำเร็จไปแล้ว โดยร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ในการนำอนุภาคนาโนของสารอินเดียมออกซีไนไตร (Indium oxy nitrile) เคลือบบนกระจกแว่น ทำให้สามารถมองเป็นสารคัดหลั่ง เช่น คราบเลือด คราบอสุจิ ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในกรณีที่แห้งไปแล้ว แต่สามารถมองเห็นได้ในคลื่นแสงย่านหนึ่งโดยใช้แว่นตานาโน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการหาหลักฐานสำคัญทางกระบวนการยุติธรรม
"เราสามารถใช้แสงซินโครตรอนพัฒนาเทคนิคการเคลือบอนุภาคนาโนบนกระจกแว่นตาได้ ซึ่งจะทำให้แว่นตานาโนมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจทำให้สามารถมองเห็นคราบเลือดหรือคราบอสุจิได้อย่างชัดเจนแม้มีปริมาณเพียงน้อยนิด หรือสามารถทำให้มองเห็นได้ว่ามีสารใดปนเปื้อนอยู่บ้าง หรืออาจทำให้เห็นสิ่งอื่นที่ต้องการเห็น แต่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอนุภาคนาโนที่ใช้และสิ่งที่เราต้องการเห็น" ผู้อำนวยการนาโนเทคยกตัวอย่าง
นอกจากแว่นตานาโนแล้วยังมีงานวิจัยด้านการใช้อนุภาคนาโนไททาเนียม (Titanium oxy nitrile) เคลือบผิววัสดุต่างๆ เพื่อสะท้อนน้ำ เช่น กระจกรถยนต์ เป็นต้น รวมถึงการวิจัยศึกษาโครงสร้างของยาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และยังจะทำให้เกิดการพัฒนางานวิจัยทางด้านฟิสิกส์ วัสดุศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ และด้านอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในหลากหลายด้าน
ทั้งนี้ ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มทส. กล่าวเพิ่มเติมว่า มทส.ได้ร่วมกับ สซ. ในการวิจัยและใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนมาตั้งแต่เริ่มต้น และมีหลักสูตรบันฑิตศึกษารองรับอยู่แล้ว ซึ่งหากมีผลการวิจัยการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนมากยิ่งขึ้น จะยิ่งเพิ่มความสนใจให้ภาคการผลิตนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศชาติต่อไป.