หลังจากเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ได้เป็นคนแรกแล้วกลับสู่โลก "นีล อาร์มสตรอง" ก็ดังเป็นพลุแตก เขากลายเป็นหนึ่งในข้อสอบที่เด็กๆ ท่องกัน ขณะที่ "บัซ อัลดริน" ผู้ร่วมสำรวจดวงจันทร์กับเขาเมื่อ 40 ปีที่แล้วก็โดดเด่นเคียงคู่กัน
แต่ทราบไหม? เที่ยวบิน "อพอลโล 11" ครั้งนั้นยังมี "ไมเคิล คอลลินส์" อีกคนที่ร่วมเดินทางไปด้วย แล้วเหตุใดเขาจึงกลายเป็นนักบินอวกาศที่ถูกลืม?
หลายคนแทบจะนึกชื่อของเขาไม่ออก และไม่ทราบว่า "ไมเคิล คอลลินส์" (Michael Collins) คือนักบินอวกาศอีกคนที่เดินทางไปกับยานอพอลโล 11 (Apollo11) ซึ่งส่งคนไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรกเมื่อ 40 ปีก่อน และคงไม่ทราบถึงความหวาดกลัวที่เกาะกุมหัวใจของเขา ขณะนำยานโคลัมเบียซึ่งเป็นยานแม่ ในเที่ยวบินดังกล่าวบินผ่านพื้นผิวดวงจันทร์ไป
ตามรายงานของเมลแอนด์การ์เดียนออนไลน์ระบุว่า คอลลินส์รอคอยสัญญาณการทะยานขึ้นจากพื้นผิวดวงจันทร์ ของนีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) และ บัซ อัลดริน (Buzz Aldrin) เพื่อนร่วมเดินทาง หลังจากลงไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จอย่างใจจดใจจ่อ
ข้อความที่ส่งกลับมา ช่วยขับไล่ความกลัวอยู่ลึกๆ ของคอลลินส์ว่า เขาจะเป็นเพียงคนเดียว ที่รอดชีวิตจากโศกนาฎกรรมอพอลโล 11 และเขาจำต้องเดินทางกลับโลก มุ่งหน้าสู่สหรัฐอเมริกาตามเวลาที่กำหนดเพียงลำพัง ในฐานะ "ผู้มีรอยแผล"
ณ เวลานั้นไม่มีใครที่ตกอยู่ในภาวะกดดันเท่ากับคอลลินส์อีกแล้ว
เขาถูกทำให้เชื่อมั่นในเครื่องยนต์ของยาน "อีเกิล" (Eagle) ที่นำอาร์มสตรองและอัลดรินสู่พื้นผิวดวงจันทร์ แต่เครื่องยนต์ดังกล่าว ไม่เคยเดินบนพื้นผิวของดวงจันทร์มาก่อน และนักบินอวกาศหลายคน ต่างสงสัยในความสามารถของเครื่องยนต์
เป็นไปได้ที่เครื่องยนต์จะล้มเหลวในการจุดระเบิด แล้วอาร์มสตรองกับอัลดรินต้องติดอยู่บนดวงจันทร์ และเสียชีวิตเมื่อออกซิเจนของพวกเขาหมด หรือถ้าล้มเหลวในการจุดระเบิดภายใน 7 นาที มนุษย์อวกาศทั้งสองก็มีสิทธิ์โหม่งพื้นดวงจันทร์ หรือไม่ก็ถึงวงโคจรที่ต่ำเกินกว่าจะเชื่อมต่อกับคอลลินส์ในยานโคลัมเบียซึ่งเป็นยานแม่ได้
มนุษย์อวกาศทั้งสามของอพอลโล 11 เชื่อว่ามีโอกาสที่จะเป็นเช่นนี้ได้ โดยอาร์มสตรองคิดว่าเขามีโอกาส 50-50 ที่จะกลับโลกได้ เช่นเดียวกับคอลลินส์ผู้ขับยานแม่ และเป็นหนึ่งในคนที่มีประสบการณ์บินมากที่สุดในโลก
ไม่เพียงแค่นักบินอวกาศ แม้แต่ ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยุคนั้น ยังได้เตรียมสุนทรพจน์ในกรณีที่ยานอีเกิลเกิดล้มเหลวในการจุดระเบิดเครื่องยนต์ไว้ด้วยว่า "โชคชะตาได้กำหนดให้มนุษย์ทั้งสองไปดวงจันทร์เพื่อสำรวจอย่างสงบ และจะพักอยู่บนดวงจันทร์ต่อไปอย่างสงบ มนุษย์ผู้กล้าทั้งสองอาร์มสตรอง และอัลดริน ต่างทราบดีว่าไม่มีหวังที่จะได้กลับคืนมา แต่พวกเขาต่างทราบดีว่ามนุษยชาติมีความหวังต่อการเสียสละของพวกเขา"
ดังนั้น คอลลินส์จึงอยู่เพียงลำพังในยานโคลัมเบีย ขณะที่ทั้งโลกพุ่งความสนใจไปที่อาร์มสตรองและอัลดริน ที่เดินย่ำไปบนพื้นผิวของดวงจันทร์
ส่วนเขาก็ได้แต่กลัดกลุ้มถึงเพื่อนร่วมเดินทางของเขาทั้งสอง ซึ่งอยู่เบื้องล่างลงไปบนพื้นผิวดวงจันทร์ และเขากำลังเหงื่อตกเหมือนเจ้าสาวที่กำลังประหม่า ขณะรอคอยที่จะได้ยินเสียงสัญญาณจากยานอีเกิล อีกทั้งตอนนั้นเขายังได้เขียนแสดงความรู้สึกขณะนั้นด้วย
"ความหวาดกลัวลึกๆ ของผมตลอด 6 เดือน คือการทิ้งพวกเขาไว้บนดวงจันทร์แล้วกลับสู่โลกเพียงลำพัง และภายในไม่กี่นาทีนั้น ผมกำลังจะได้พบว่ามันจะเป็นจริงหรือไม่ หากพวกเขาล้มเหลวที่จะทะยานขึ้นจากพื้นผิว หรือตกกลับไปโหม่งพื้น ผมไม่สาบานหรอกว่าจะฆ่าตัวตาย ผมจะกลับบ้านในทันที แต่ผมจะกลายเป็น "ผู้มีรอยแผล" ไปตลอดชีวิต และผมรู้ดี" คอลลินส์เขียนระบายความรู้สึกขณะอยู่ในยานแม่เพียงลำพัง
จากนั้นอาร์มสตรองและอัลดรินได้เตรียมความพร้อมยานลงจอดของพวกเขาเพื่อทะยานขึ้น อาร์มสตรองกดปุ่มจุดระเบิดเครื่องยนต์ และยานอีเกิลก็ส่งเสียงคำรามอย่างสมบูรณ์แบบเหนือพื้นผิวดวงจันทร์ มุ่งหน้ามาหาคอลลินส์ที่คอยอยู่
ความกล้วอันเลวร้ายที่สุดของเขาไม่กลายเป็นจริง และเขาได้กลับบ้านพร้อมอาร์มสตอรงและอัลดรินเพื่อนร่วมทางอย่างปลอดภัย โดยไม่มีประสบการ์ณอันบอบช้ำ และเขาไม่ต้องเป็นทุกข์กับการเผชิญชื่อเสียงที่ไม่ดีบนโลก
หากแต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นตรงข้าม คอลลินส์ถูกลืม ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่รู้จักชื่อมนุษย์ 2 คนแรกบนดวงจันทร์ และคำพูดของอาร์มสตรองซึ่งกล่าวถึงก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ
แต่ชื่อ "ไมเคิล คอลลินส์" ถูกพูดถึงน้อยมาก แม้ว่าเขาจะมีบทบาทสำคัญต่อเที่ยวบินประวัติศาสตร์ของอพอลโล 11 ก็ตาม ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่ได้น้อยใจและเพิ่งเปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า "นั่นเป็นเกียรติแล้ว"
ชาร์ลส ลินด์เบิร์ก (Charles Lindbergh) นักบินผู้ยิ่งใหญ่ชาวอเมริกันเขียนถึงคอลลินส์ หลังการกลับสู่โลกอย่างปลอดภัยว่า คอลลินส์เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการที่ลึกซึ้งยิ่ง และเขายังได้รับรู้ถึงความโดดเดี่ยวอย่างที่ไม่มีมนุษย์คนไหนได้รับรู้มาก่อน
ยานอพอลโล 11 ประกอบด้วยงานลงจอดดวงจันทร์ โดย "อีเกิล" และยานแม่ที่อยู่ในวงโคจร "โคลัมเบีย" ทั้งหมดถูกนำขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดแซทเทิร์น 5 (Satern V) ลำใหญ่ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2512 และ 3 วันหลังจากนั้น อาร์มสตรอง อัลดรินและคอลลินส์ก็มุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ด้วยยานโคลัมเบีย ซึ่งตามคำบอกเล่าของอัลดริน พวกเขาต่างจ้องเขม็งผ่านช่องหน้าต่างลงมายังโลกที่เล็กลงๆ พร้อมกับตรวจสภาพยานอวกาศด้วย
จากนั้นในวันที่ 20 ก.ค.อาร์มสตรองและอัลดรินก็คลานเข้าไปในยานอีเกิล แล้วบินลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ ขณะที่คอลลินส์ได้แต่ส่งเสียงผ่านวิทยุไปยังทั้งสอง ด้วยอาการตระหนกว่า "สื่อสารกับฉันไว้นะพวก" และไม่กี่นาทีหลังจากนั้น ยานโคลัมเบียก็ผ่านไปด้านหลังของดวงจันทร์
คอลลินส์จึงกลายเป็นนักเดินทางโดดเดี่ยว ผู้เดินทางไกลที่สุดในโลก โดยถูกแยกเดี่ยวจากมนุษ์ทั้งโลกเป็นระยะทาง 400,000 กิโลเมตร ด้วยอวกาศและความใหญ่ของดวงจันทร์ ซึ่งดวงจันทร์นี่เองที่กั้นสัญญาณวิทยุจากศูนย์ปฏิบัติการควบคุม เขาถูกตัดขาดสัญญาณ และขาดการติดต่อกับดาวเคราะห์ที่เป็นบ้านหลังใหญ่ของเขา
"ตอนนี้ผมโดดเดี่ยวจริงๆ และโดดเดี่ยวอย่างสิ้นเชิงจากสิ่งมีชีวิตใดๆ ที่รู้จัก ผมคือสิ่งมีชีวิตเดียวที่ผมรู้จัก" คอลลินส์เขียนไว้ ขณะอยู่ในยานอย่างโดดเดี่ยวครั้งนั้น และลินด์เบิร์กได้ย้ำอีกทีว่าสิ่งที่เขาเขียนนั้น "จริงที่สุด"
ความโดดเดี่ยวที่ว่า นี้ย่อมทำให้คนส่วนใหญ่ตื่นตระหนก แต่ไม่ใช่สำหรับคอลลินส์ เขาเผยความรู้สึกส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น ในวันที่เขาโดดเดี่ยวอยู่ในวงโคจรของดวงจันทร์ว่า เขารู้สึกปิติยินดี และเพลิดเพลินกับเวลาที่กลายเป็นสมาชิกโดดเดี่ยวที่สุดของเผ่าพันธุ์มนุษย์
อีกทั้งหลังจากกลับสู่โลกแล้วคอลลินส์กลายเป็นผู้ที่ไม่มีบาดแผลใดๆ ขณะที่อัลดรินกลายเป็นคนติดเหล้าและหดหู่ ส่วนอาร์มสตรองกลายเป็นคนปลีกตัวจากสังคม และมนุษย์คนแรกผู้เหยียบดวงจันทร์ทั้งสองต่างผ่านการหย่าร้าง
ส่วนคอลลินส์แตกต่างออกไป เพราะไม่ต้องถูกจดจ้องจากสาธารณะ และยังคงอยู่กับภรรยาที่ "แพทริเชีย" (Patricia) ซึ่งเขาแต่งงานด้วยตั้งแต่ปี 2511 ก่อนได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการอพอลโล 11
หลังจากกลับสู่โลกคอลลินส์ลาออกจากการเป็นนักบินอวกาศ และหันไปเอาดีด้านงานบริหารและธุรกิจ เขาเคยเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งสหรัฐฯ (National Air and Space Museum) จนถึงปี 2521 ก่อนที่จะเป็นรองประธานบริษัทแอลทีวีแอโรสเปซ (LTV aerospace) ในแอร์ลิงตัน เวอร์จิเนีย และเขาได้ลาออกในปี 2528 เพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัว และทุกวันนี้เขายังคงปลื้อมปิติกับบทบาทของตัวเองในอพอลโล 11 แม้เขาจะนิยามตัวเองว่ากลายเป็นคนอารมณ์เสียง่ายขึ้นก็ตาม
"ด้วยอายุ 78 บางอย่างในสังคมทุกวันนี้ทำให้ผมหงุดหงิด การยกยอปอปั้นเหล่าคนเด่นคนดังและการพองตัวของเหล่าฮีโร่ ฮีโร่มีอยู่มากมาย แต่ไม่นับนักบินอวกาศอยู่ในนั้น เราทำงานหนัก เราทำภารกิจของเราใกล้เคียงความสมบูรณ์ แต่นั่นคือสิ่งที่เราได้รับว่าจ้างให้ทำ" คอลลินส์ให้ความเห็น พร้อมทั้งนิยามตัวเองในทุกวันนี้ว่าค่อนข้างยุ่งกับการวิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ตกปลา วาดภาพ ทำอาหาร อ่านหนังสือ ค่อยกังวลเกี่ยวกับตลาดหุ้น และค้นหาไวน์ดีๆ ที่ราคาถูกกว่า 10 เหรียญ.
คลิกอ่าน ... ประมวลข่าว "รำลึก 40 ปีเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรก"