xs
xsm
sm
md
lg

ภาวะโลกร้อนกับภัยน้ำท่วม (จบ)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มตลอดเวลา ตามรายงานครั้งแรกในปี 2503 โดย Charles Keeling
นอกจากนี้การเพิ่มของระดับน้ำทะเลจะทำให้เกิดการหนุนของน้ำทะเลเข้าไปตามแม่น้ำ และแหล่งน้ำจืดต่างๆ ในทวีป ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของชุมชนทุกชุมชนที่อาศัยอยู่ติดน้ำด้วย

ตามปกติ คนทั่วไปเวลาได้ยินเสียงหวอ เสียงไซเรน ทุกคนจะตระหนกตกใจ และถ้าเสียงนั้นดังจากที่ไกล คนส่วนใหญ่ก็จะกลับไปทำกิจกรรมที่กำลังกระทำต่อ แต่ในกรณีน้ำท่วมที่เกิดจากภาวะโลกร้อน เมื่อ 56 ปีก่อน ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 ลมพายุในทะเลเหนือได้พัดพาคลื่นเข้าฝั่ง กระแสน้ำได้ไหลท่วมเข้าไปในแผ่นดินใหญ่เป็นระยะทาง 64 กิโลเมตร จนพื้นที่ 500,000 ไร่ ถูกน้ำท่วม และคนนับแสนไร้ที่อยู่อาศัย เหตุการณ์นี้ได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์เนเธอร์แลนด์ เสนอรัฐบาลให้สร้างเขื่อนป้องกันเหตุการณ์น้ำท่วมประเทศซ้ำอีก และหลังจากนั้นเหตุการณ์น้ำทะเลไหลนองแผ่นดิน เนเธอร์แลนด์ก็ได้หายไป

การศึกษาภัยน้ำท่วมโดยคณะนักวิทยาศาสตร์แห่ง Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ในปี 2530 ได้คำพยากรณ์ว่า ในอนาคตอีก 100 ปี เมื่อโลกร้อนขึ้น และน้ำทะเลขยายตัว ระดับน้ำทะเลจะเพิ่ม 18-50 เซนติเมตร แต่ IPCC ก็ได้เน้นว่า ตัวเลขนี้ไม่ได้พิจารณาการละลายของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก ทั้งนี้เพราะนักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีความรู้ที่แน่ชัดเกี่ยวกับธรรมชาติของน้ำแข็งขั้วโลก จึงไม่สามารถนำประเด็นน้ำแข็งละลายมาทำนายการเพิ่มของระดับน้ำทะเล จะอย่างไรก็ตาม ข้อมูลหยาบๆ เกี่ยวกับน้ำแข็งที่ Greenland และ Antaretica ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าน้ำแข็งในบริเวณทั้งสองนี้ละลายหมด ระดับน้ำทะเลก็จะเพิ่ม 6 เมตร

การวัดระดับน้ำทะเลทุกปีตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา ระบุว่าระดับน้ำทะเลได้เพิ่ม โดยเฉลี่ยปีละ 3 มิลลิเมตร (ซึ่งสูงกว่าที่ IPCC ได้เคยพยากรณ์ไว้) และถ้าตัวเลขนี้เป็นจริง นั่นก็หมายความว่า ในอีกหนึ่งศตวรรษ เมืองต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ริมทะเล (กรุงเทพฯ, ลอนดอน, นิวยอร์ก ฯลฯ) จะถูกน้ำท่วมตลอดปี ส่วนสภาพเศรษฐกิจของประชาชนในแถบลุ่มน้ำ Yangtze และแม่น้ำเหลืองในจีน แม่น้ำแดงในเวียดนาม แม่น้ำคงคาและพรหมบุตรในบังกลาเทศ ที่มีประชากรอาศัยประมาณ 300 ล้านคน ก็จะได้รับความเดือดร้อน เช่น บ้านถูกน้ำท่วม และนาที่ถูกน้ำท่วมก็จะปลูกข้าวไม่ได้ การแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากยุง รวมทั้ง อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ บิด ก็จะเกิดในพื้นที่ที่ยังไม่เคยได้รับผลกระทบมาก่อน นอกจากนี้เหตุการณ์น้ำท่วมยังทำให้แหล่งน้ำอุปโภค ได้รับการปนเปื้อนด้วย เพราะดินก็สกปรกที่ถูกน้ำพัดพามา อาจนำเชื้อ anthrax เชื้อรา และโลหะชนิดที่มีพิษ เช่น ปรอท เข้าสู่ร่างกายคนได้ และถ้าน้ำทะเลสูงขึ้น ไม่มาก เพียง 1 เมตร พื้นที่ของประเทศอียิปต์ประมาณ 15% จะถูกน้ำท่วม หมู่เกาะ Carteret ใน New Guinea ก็จะจมน้ำจนประชาชนชาวเกาะต้องอพยพหนีน้ำ ชาวบังกลาเทศร่วม 90 ล้านคน ก็จะถูกบีบบังคับให้ย้ายบ้านขึ้นที่สูง และการแทรกซึมของน้ำเค็มเข้าในแผ่นดินใหญ่ จะทำให้น้ำจืดปนเปื้อน ซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตของคน สัตว์ และพืชในบริเวณนั้นมาก

เมื่อปีกลายนี้ ในวารสาร Online และ Nature Geoscience, DOI : 10.1038/ngeo 285 A. Carlson แห่งมหาวิทยาลัย Wisconsin-Madison และคณะได้ศึกษา isotope ของธาตุ beryllium ในหินชั้นที่อยู่ในทะเล และพบว่าน้ำแข็งจากขั้วโลกที่ละลายได้ทำให้ระดับน้ำเพิ่ม 0.7-1.3 เมตร/ศตวรรษ

การศึกษาโดยดาวเทียม GRACE ของ NASA ที่ใช้วิเคราะห์แรงโน้มถ่วงในบริเวณต่างๆ ของโลก เมื่อต้นปีนี้ แสดงให้เห็นว่า แผ่นน้ำแข็งใน Greenland และ Antarctica ได้สูญเสียน้ำแข็งในปริมาณ 150 ลูกบาศก์กิโลเมตร/ปี และนั่นหมายความว่า ระดับน้ำทะเลกำลังเพิ่มเพราะอิทธิพลของน้ำแข็งที่ละลาย ประมาณ 10 เซนติเมตรในหนึ่งศตวรรษ การศึกษาการเคลื่อนที่ของธารน้ำแข็งใน Greenland ก็ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกัน

ดังนั้น หนทางหนึ่งที่จะชะลอการเพิ่มระดับน้ำทะเล คือควบคุมอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เพิ่มเกิน 1 องศาเซลเซียส ควบคุมปริมาณ CO2 ในอากาศให้ต่ำกว่า 450 ppm และถ้าทำได้โลกในอนาคตอีก 100 ปีก็จะปลอดภัยจากเหตุการณ์น้ำท่วม ในขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องศึกษาปรากฏการณ์นี้อย่างถี่ถ้วน เพื่อให้สามารถบอกได้ว่า สถานการณ์เรื่องนี้กำลังเลวร้ายอย่างไร และเพียงใด แต่ประชาชนทั่วไปก็ต้องตระหนักว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างในโลก และบนโลกที่เราทุกคนไม่รู้จัก และเข้าใจดีนัก ดังนั้นการพยากรณ์ใดๆ ที่จะให้ถูก 100% เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
ถ้าระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง 5 เมตร Ho Chi Minh City และกรุงเทพฯ จะจมน้ำทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น