xs
xsm
sm
md
lg

"วิกฤติภูมิอากาศ" นักวิทยาศาสตร์จะหาทางรับมือ หรือยอมจำนน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เด็กๆชาวปาปัวนิวกินีผจญกับเหตุการณ์น้ำท่วมทางตะวันออกของปาปัวนิวกินีเมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปจำนวน 7 ราย จากเหตุพายุฝนกระหน่ำจนแผ่นดินถล่ม (เอเอฟพี)
ในอีกราว 50 ปีข้างหน้า โลกของเราจะเป็นดังที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้หรือไม่ เราคงต้องติดตามกันต่อไป แต่ที่แน่ๆ ณ ตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์มีหลักฐานเพิ่มขึ้นมากมายว่า สิ่งมีชีวิตบนโลกกำลังเผชิญหน้ากับมหันตภัยใหญ่หลวง เกินกว่าจะจินตนาการได้ แต่เราจะมีวีธีหลีกเลี่ยงไม่ให้เวลานั้นมาถึงได้หรือไม่ ลองไปฟังความเห็นของนักวิทยาศาสตร์จากนานาชาติกัน

"ยูเรกา!" ("eureka!") คำอุทานที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มักเปล่งออกมาเมื่อยามตื่นเต้นดีใจที่เขาค้นพบอะไรใหม่ๆ แต่คำนี้คงใช้ไม่ได้กับนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับ "ภาวะโลกร้อน" หรือ "การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ" ในเวลานี้เป็นแน่ ดีไม่ดีอาจจะต้องตื่นตระหนกถึงอนาคตของโลกจากสิ่งที่พวกเขาค้นพบในวันนี้ก็เป็นได้

"วิทยาศาสตร์มักทำให้ตื่นเต้นได้เสมอ เมื่ออคุณค้นพบบางสิ่ง แต่ถ้าคุณหยุดและพิจารณาที่ความหมายโดยนัยของสิ่งที่ที่กำลังจะมาถึงมนุษยชาติ จะพบความน่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่า ผมมีนักศึกษาในทีมที่วิทยาลัย พวกเขาจะต้องตั้งตารอคอยอะไรในอีก 50 ปีข้างหน้าหรือ?" คอนราด สเตฟเฟน (Konrad Steffen) หัวหน้าสถาบันความร่วมมือเพื่อการวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Cooperative Institute for Research in Environmental Sciences: CIRES) ในเมืองโบลเดอร์ มลรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา แสดงความเห็นเป็นเชิงตั้งคำถาม ในระหว่างการประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จัดขึ้นในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อสัปดาห์ก่อน

ในรายงานพิเศษของสำนักข่าวเอเอฟพีระบุไว้ว่า นั่นอาจจะยังไม่ใช่เรื่องเลวร้ายที่สุด แต่ที่เลวร้ายยิ่งกว่าก็คือ ข่าวร้ายเรื่องหนึ่งในจำนวนหลายๆ เรื่องที่มีการพูดถึงกันในที่ประชุมว่าในศตวรรษหน้าระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น และเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างน้อย 2 เท่า และประชากรโลกหลายร้อยล้านคนเสี่ยงต่อผลกระทบจากภาวะดังกล่าวด้วย

สิ่งที่สร้างความกังวลใจให้นักวิทยาศาสตร์มากที่สุด ส่วนใหญ่มักพูดกันว่าคือ ความรู้สึกที่ว่าพวกเขาไม่สามารถสื่อสารออกไปสู่สาธารณชนให้เข้าใจกันในวงกว้างได้ว่า โลกขยับเข้าใกล้ภัยพิบัติใหญ่หลวง ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอาอากาศอย่างไร ซึ่งมันเหมือนราวกับว่า นักวิทยาศาสตร์รู้ดีว่าระเบิดลูกใหญ่กำลังทำงานและจะระเบิดขึ้นในไม่ช้านี้แล้ว แต่เขาไม่สามารถหาถ้อยคำที่ถูกต้อง ออกมาร้องเตือนประชาชนได้ ทั้งที่พวกเขาอาจจะสามารถปลดชนวนระเบิดออกได้

ด้านคลอดี ลอเรียส (Claude Lorius) นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็งจากฝรั่งเศสก็เป็นอีกคนหนึ่ง ที่รู้สึกหมดหวังกับการสื่อสารข้อมูลถึงสาธารณชน ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์คนแรกๆที่พบหลักฐานของการเกิดภาวะโลกร้อนว่าเป็นเรื่องจริง โดยตีพิมพ์เป็นผลงานวิจัยในปี 2530

"ในตอนแรกผมคิดว่า เราอาจจะโน้มน้าวผู้คนได้ แต่มันเกิดความเชื่องช้าอย่างน่ากลัว ผมกลัวว่าหากสังคมไม่กระตือรือล้นที่จะต่อกรกับภาวะวิกฤติดังกล่าว ผมในฐานะมนุษย์คนหนึ่งคงอยู่อย่างหมดอาลัยตายอยาก" ลอเรียส กล่าวกับผู้สื่อข่าวของเอเอฟพี

ขณะที่จอห์น เชิร์ช (John Church) ผู้เชี่ยวชาญด้านระดับน้ำทะเลของศูนย์วิจัยความร่วมมือด้านระบบนิเวศน์และสภาพอากาศแอนตาร์กติก (Antarctic Climate and Ecosystem Cooperative Research Centre) เมืองโฮบาร์ต รัฐทัสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย ก็รู้สึกหม่นหมองในเรื่องประสิทธิภาพโดยรวมเกี่ยวกับการแก้ปัญหาดังกล่าว

"บางทีสังคมอาจตระหนักได้ถึงความรุนแรงของปัญหา แต่มั่นใจได้เลยว่ายังไม่ได้สำนึกว่ามันเป็นเรื่องเร่งด่วนสักแค่ไหน และถ้าหากว่าคุณกำลังมองโลกในแง่ร้าย ซึ่งอาจรวมทั้งตัวผมด้วย มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรขึ้นมาได้ คุณกำลังจะทำอะไรต่อไปล่ะ? ตัดมือของคุณออกแล้วก็ยอมจำนนอย่างนั้นรึ? นั่นมันไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาเลย" เชิร์ช แสดงความเห็นอย่างออกรสชาติ

"พวกเราจะต้องลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ถ้าหากว่าเรายังต้องการรักษาสเถียรภาพของสภาพภูมิอากาศ และหลีกเลี่ยงผลกระทบรุนแรงที่ไม่พึงปารถนา และมันก็ยังพอเป็นไปได้ที่เราจะทำแบบนั้น" ความเห็นของ เจมส์ แฮนเซน (James Hansen) ผู้อำนวยการสถาบันกอดดาร์ดเพื่อการศึกษาอวกาศ (Goddard Institute for Space Studies) องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา)

ผลกระทบที่ไม่พึงปารถนาตามความหมายของแฮนเซนคือ ภัยพิบัติทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งอย่างหนักหนาสาหัส พายุเฮอริเคนที่รุนแรงยิ่งกว่า รวมถึงโรคระบาด และผู้ลี้ภัยทางสภาพอากาศอีกนับหลายสิบล้านคน และฉากที่น่าเศร้ายิ่งกว่าคือการที่แผนที่โลกเปลี่ยนไปอันเป็นผลมาจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นหลายสิบเมตร และในปี 2593 ดาวเคราะห์โลกดวงนี้จะสามารถรักษาชีวิตมนุษย์ไว้ได้เพียงส่วนน้อยนิดจากทั้งหมดกว่า 9,000 ล้านคน

วิลเลียม โฮเวิร์ด (William Howard) นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทัสมาเนีย (University of Tasmania) ออสเตรเลีย กล่าวว่าเขากังวลว่า ผู้คนจะไม่สามารถปฏิบัติกันได้ เมื่อวิเคราะห์ในทางจิตวิทยา เพราะความร้ายกาจของปัญหาที่จะเกิดขึ้น และดีไม่ดีอาจทำให้พวกเขากลับสู่สภาพเดิม คือการไม่ทำอะไรเลยสักอย่าง

"ในฐานะที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ ผมได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนมาตรของเวลาหลายร้อยในจำนวนหลายพันปี ซึ่งผมทุ่มเทเวลาอย่างหนักเพื่อการนี้ ผมพบว่าสัตว์ทะเลขนาดเล็กๆ ที่เรียกว่าฟอแรม (foram) มันกำลังค่อยๆสูญเสียความสามารถในการดูดซับคาร์บอนที่มีอยู่มหาศาลในบรรยากาศ ซึ่งได้เขียนรายงานเรื่องนี้ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว" โฮเวิร์ด กล่าว

ส่วนโจฮัน ร็อคสตรอม (Johan Rockstrom) ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม (Stockholm Environment Institute) ประเทศสวีเดน กล่าวว่าความเสี่ยงอยู่ตรงที่วิทยาศาสตร์ค่อยๆ ทยอยเผยให้เห็นหลักฐานชัดเจนมากขึ้นๆ ถึงการที่พวกเรากำลังเผชิญหน้ากับมหันตภัยที่อยู่ปลายสุด มันจะไปกระตุ้นให้ภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศไม่สามารถย้อนกลับได้ เหมือนกับว่าคุณมุดหัวลงไปในทราย และเปลี่ยนปฏิกิริยาจากที่เคยปฏิเสธกลายเป็นความสิ้นหวัง

อย่างไรก็ดี เจมส์ เลิฟล็อค (James Lovelock) นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษวัย 90 ปี กล่าวว่าท่ามกลางการประชุมที่กำลังดำเนินไป ราวกับถูกปกคลุมด้วยเมฆหมอกที่มองไม่เห็นของการเปิดเผยการพยากรณ์สิ่งผิดปรกติทางด้านวิทยาศาสตร์โลก ซึ่งเลิฟล็อคถือเป็นผู้ทำลายภาพพจน์ในเรื่องภาวะโลกร้อนตัวจริง โดยเขาบอกให้คำนึงว่าโลกประพฤติตัวเองโดยลำพัง มีระบบควบคุมตัวเองที่ประกอบไปด้วยองค์ประกอบทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ ซึ่งเขาอ้างว่าเป็น "กฏแห่งเกอา" (Gaia principle)

ทั้งนี้ ในหนังสือเรื่อง "เดอะ แวนิชชิง เฟซ ออฟ เกอา" (The Vanishing Face of Gaia) ของเลิฟล็อค ที่เพิ่งวางแผงเมื่อไม่นานมานี้ เขากล่าวไว้ว่า "พวกเราผ่านจุดที่ไม่มีทางหวนกลับมาแล้ว และตอนนี้มันก็ไม่มีทางเป็นไปได้ที่เราจะรักษาดาวดวงนี้ไว้ได้เหมือนอย่างที่เราๆรู้กันอยู่" และ "ความพยายามที่จะรักษาระดับคาร์บอนไดออกไซด์และอุณหภูมิไม่ให้สูงไปกว่านี้ ไม่ได้ดีไปกว่าการรักษาโลกด้วยการแพทย์ทางเลือก"

บางทีนักวิทยาศาสตร์กว่าหลายคนที่ให้สัมภาษณ์มานั้นอาจพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งที่เลิฟล็อคพูดนั้นผิด และไม่ต้องพูดเลยก็ได้ว่า พวกเขารู้อยู่แล้วว่าเลิฟล็อคผิด บนฐานของวิทยาศาสตร์
พายุหิมะถล่มทางตะวันออกของสหรัฐฯ เมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้องปิดโรงเรียนชั่วคราว และการจราจรทั้งทางบกและทางอากาศต้องหยุดชั่วคราว ในภาพเป็นบริเวณด้านหน้าทำเนียบขาว กรุงวอชิงตันดีซี (เอเอฟพี)
ประชาชนในเขตทางตอนใต้ของซูดานต้องสูบน้ำจากใต้ดินมาใช้อย่างยากลำบาก ท่ามกลางแดดร้อนจัดและแห้งแล้ง (เอเอฟพี)
กลุ่มเมฆหมอกและควันไฟจากเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าในประเทศออสเตรเลียเมื่อเดือน ก.พ. 52 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยหลาย (เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น