xs
xsm
sm
md
lg

จรวดนาซาขัดข้อง ระหว่างส่งดาวเทียมสำรวจ CO2 ดวงแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพขณะจรวดทอรัส เอ็กซ์เอล บรรทุกดาวเทียมสำรวจคาร์บอนไดออกไซด์ โอซีโอ ของนาซาทะยานออกจากฐานปล่อยจรวดของฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์กในแคลิฟอร์เนียอย่างสวยงาม แต่หลังจากนั้นไม่นานกลับเกิดเหตุขัดข้องเมื่อพบว่าไม่สามารถแยกจรวดและดาวเทียมออกจากกันได้ (นาซา)
ดาวเทียมสำรวจคาร์บอนไดออกไซด์ดวงแรกของนาซา ทะยานขึ้นฟ้าแล้ว แต่ไปได้ไม่กี่นาทีก็มีปัญหา เหตุจรวดนำส่งไม่แยกตัวในโค้งสุดท้าย ทำให้ดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรไม่สำเร็จ เบื้องต้นพบปัญหา ที่บริเวณด้านนอกของส่วนปลายจมูกของจรวด

องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐอเมริกา หรือนาซา (NASA) ได้ฤกษ์ปล่อยจรวดทอรัส เอ็กซ์แอล (Taurus XL) เพื่อส่งดาวเทียมสำรวจคาร์บอนในชั้นบรรยากาศโลก หรือ โอซีโอ (Orbiting Carbon Observatory: OCO) ออกไปโคจรรอบโลก จากฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์ก (Vandenberg Air Force Base) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 24 ก.พ.52 เวลา 16.55 น. (ตามเวลาในประเทศไทย) 

ทว่า หลังจากที่จรวดทอรัส เอ็กซ์แอล พาดาวเทียมโอซีโอทะยานขึ้นท้องฟ้าได้ไม่นาน ก็เกิดเหตุขัดข้อง ในการแยกดาวเทียมและจรวดออกจากกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อดาวเทียมได้ โดย จอร์จ ดิลเลอร์ (George Diller) ผู้จัดการโครงการปล่อยจรวดของนาซา ประกาศว่าดาวเทียมไม่สามารถแยกตัวออกจากจรวดเพื่อประทับวงโคจรได้

"การส่งดาวเทียมมีปัญหาในการแยกดาวเทียมออกจากจรวด ทำให้ดาวเทียมไม่สามารถประทับวงโคจรได้ ซึ่งขณะนี้เรากำลังตรวจสอบสถานะและตำแหน่งที่ถูกต้อง ของจรวดและดาวเทียมกันอยู่" ดิลเลอร์ประกาศผ่านสถานีโทรทัศน์ของนาซา ตามรายงานของเอเอฟพี

อย่างไรก็ดี สเปซไฟลต์นาวด็อตคอม (spaceflightnow.com) รายงานความคืบหน้าว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากจรวดจุดระเบิดครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย เพื่อที่จะแยกตัวจรวดและดาวเทียมออกจากกัน โดยเบื้องต้นนาซาพบว่า เกิดปัญหาที่บริเวณโครงสร้างภายนอกส่วนปลายจมูกของจรวด

ขณะที่ดิลเลอร์บอกว่า เป็นเหตุสุดวิสัยในการปล่อยจรวด และทำให้ไม่สามารถแยกจรวดออกจากดาวเทียมได้ ซึ่งขณะนี้นาซายังไม่มั่นใจว่า จะสามารถแก้ปัญหาได้และส่งดาวเทียมขึ้นไปประทับวงโคจรได้สำเร็จหรือไม่ในคืนนี้ และหากรวบรวมข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้มากขึ้น ทางนาซาจะประกาศให้ทราบกันต่อไป

ทั้งนี้ ดาวเทียมโอซีโอมีน้ำหนักราว 450 กิโลกรัม ถูกกำหนดวงโคจรไว้ที่ความสูงเหนือพื้นโลกราว 640 กิโลเมตร นับเป็นดาวเทียมดวงแรกของนาซา ที่มีภารกิจในการสำรวจและติดตามการเปลี่ยนแปลงของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่นในชั้นบรรยากาศรอบโลก

การขึ้นไปเก็บข้อมูลของดาวเทียมดวงนี้ จะช่วยให้ข้อมูลปริมาณคาร์บอนในชั้นบรรยากาศที่แม่นยำมากขึ้น และเป็นประโยชน์แก่นักวิทยาศาสตร์ในการประเมินการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อหาแนวทางแก้ไขภาวะโลกร้อนต่อไป โดยภารกิจของดาวเทียมโอซีโอนี้มีระยะเวลา 2 ปี และเป็นส่วนหนึ่งในโครงการสำรวจบรรยากาศมูลค่า 280 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ของนาซา.
ภาพจำลองดาวเทียมโอซีโอโคจรเหนือพื้นโลก ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศดวงแรกของนาซาที่ถูกส่งไปเมื่อราวตี 2 ของวันที่ 24 ก.พ. 52 ตามเวลาในท้องถิ่น แต่ขณะนี้ยังไม่รู้สถานภาพแน่ชัดหลังพบว่าเกิดเหตุขัดข้องในการแยกตัวออกจากจรวด ทำให้เข้าประทับวงโคจรไม่สำเร็จตามแผน (นาซา)
กำลังโหลดความคิดเห็น