สมเด็จพระเทพรัตนฯ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงาน "วทท 34" พร้อมตรัสว่าจะนำพาประเทศให้ก้าวหน้าแบบยั่งยืน ต้องอาศัยวิทย์-เทคโนโลยี และต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับปัจจัยที่มีอยู่ จากนั้นถ่ายทอดสดปาฐกถา "ปาจาอุรี" เผยภาวะโลกร้อนเล่นงานคนจนก่อนเพื่อน ดึงทุกคนให้หันมาสนใจร่วมแก้ปัญหา
เมื่อเวลา 15.00 น. ของวันที่ 31 ต.ค.51 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามมกุฎราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในการเปิดงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 34 (วทท 34) ภายใต้หัวข้อ "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับโลกที่ท้าทาย" ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งในปีนี้เป็นการจัดงานร่วมกันระหว่างสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวรายงานว่า สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ได้จัดงาน วทท ต่อเนื่องกันเป็นประจำทุกปี ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 34 และในปีนี้ยังเป็นการฉลองครบรอบ 60 ปี ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ครบรอบ 48 ปี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และครบรอบ 20 ปี คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร
กิจกรรมภายในงานนี้ประกอบด้วย การบรรยายนำเสนอผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประมาณ 180 เรื่อง โดยบรรยายพร้อมกันใน 11 ห้องย่อย การจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยในรูปแบบโปสเตอร์ประมาณ 590 เรื่อง การจัดแสดงเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ผลิตภัณฑ์ วัสดุ และเทคโนโลยีดานวิทยาศาสตร์จากองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน การบรรยายพิเศษโดยนักวิทยาศาสตร์ไทยและต่างชาติที่มีชื่อเสียงกว่า 50 คน โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 1,400 คน
จากนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีพระราชดำรัสในการเปิดงาน โดยมีใจความสำคัญว่า การพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวหน้า จำเป็นต้องอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโลยีเข้ามาช่วย แต่การจะทำให้ประเทศชาติเกิดความยั่งยืน ต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ โดยคำนึงถึงปัจจัยที่เรามีอยู่
หลังเสร็จสิ้นพิธีเปิดงาน วทท 34 เป็นการบรรยายพิเศษเรื่อง "ภาวะโลกร้อน" (Global Warming) โดย ศ.ดร.ราเชนทรา คูมาร์ ปาจาอุรี (Prof.Dr. Rajendra Kumar Pachauri) ประธานไอพีซีซี (IPCC) โดยผ่านการถ่ายทอดสัญญาณสดจากประเทศอินเดีย
ปาจาอุรี กล่าวว่า ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.074 องศาเซลเซียส ทว่าหากดูแค่ในช่วง 50 ปีที่แล้ว อุณภูมิเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.128 องศาเซลเซียส ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ทั้งการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น การเกิดคลื่นความร้อนบ่อยครั้งขึ้น และภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังเช่นพายุไซโคลนนาร์กีสในประเทศพม่าเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา
โดยในปี 2441 นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดนได้ออกมาเตือนว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาถ่านหินและใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอาจจะทำให้โลกร้อนขึ้นได้ ต่อมาในปี 2531 นักวิทยาศาสตร์ของนาซาก็ออกมาเปิดเผยว่าขณะนี้ภาวะโลกร้อนกำลังเกิดขึ้นแล้ว และในปี 2535 ไอพีซีซีได้มีเป้าหมายที่แน่ชัดว่าจะควบคุมปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้ได้
จนนำไปสู่พิธีสารเกียวโต (Kyoto Potocal) ในปี 2543 และมาถึงการประชุมการประชุมประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพิธีสารเกียวโต ที่บาหลี อินโดนีเซีย เมื่อเดือน ธ.ค. 2550
ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ประธานจัด วทท 34 กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมว่า ตามที่ ดร.ปาจาอุรี กล่าวไว้ได้บอกว่าภาวะโลกร้อนนั้นเริ่มเกิดขึ้นแล้ว และจะส่งผลกระทบมากมายที่น่ากลัวมาก นอกจากทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายแล้วยังส่งผลต่อความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมทั้งมนุษย์เราด้วย ส่งผลต่อการเกษตรกรรม ที่จะก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารและน้ำในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อนนี้จะมีผลต่อประเทศกำลังพัฒนาก่อน และประชากรที่มีฐานะยากจนก็จะได้รับผลก่อนใครๆ เพราะไม่มีทุนทรัพย์สำหรับจ่ายเพื่อบรรเทาทุกข์ยาก ซึ่งทั่วโลกมีประชากรที่อยู่ในสถานะดังกล่าวจำนวนมาก โดย 25% นั้นอยู่ในอินเดีย และเราจะมีวิธีใดบ้างที่ช่วยให้ประชากรเหล่านี้มีความหวังขึ้นได้บ้าง
สำหรับในการจัดงานครั้งนี้ ดร.นภาวรรณ กล่าวว่า เป็นอีกเวทีหนึ่งที่เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกได้นำเสนอผลงานวิจัย และมีการบรรยายพิเศษจากนักวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจในหลายเรื่อง โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมงานทุกคน และมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เยาวชนสนใจวิทยาศาสตร์และงานด้านวิจัยและพัฒนามากขึ้น เพราะขณะนี้ประเทศไทยยังขาดแคลนนักวิจัยอีกเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ งาน วทท 34 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ต.ค.-2 พ.ย. 2551 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้สนใจสามารถเข้าชมงานได้ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป