xs
xsm
sm
md
lg

รพ.ราชวิถีนำร่องใช้ "ซอฟต์แวร์วัดไข้" คัดกรองผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บริเวณทางเข้าอาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลราชวิถี ที่มีผู้ผ่านเข้าออกวันละเกือบ 4,000 คน ขณะนี้ได้มีการติดตั้งระบบตรวจวัดอุณหภูมิระยะไกลที่อาศัยการทำงานของกล้องตรวจวัดรังสีความร้อนและซอฟต์แวร์ ThermScreen ซึ่งพัฒนาโดยเนคเทค สำหรับคัดกรองผู้ที่อาจป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009
เนคเทคส่งต่อซอฟต์แวร์วัดไข้ "เทอมสกรีน" ให้ รพ.ราชวิถี นำร่องใช้คัดกรองผู้ป่วยไข้ได้ทุกชนิดที่อุณภูมิร่างกายสูงเกินค่าที่กำหนด ตรวจวัดได้พร้อมกันหลายคน ประมวลผลได้ภายใน 0.03 วินาที พร้อมแสดงค่าอุณหภูมิของแต่ละคน และส่งสัญญาณเตือนทันทีที่ต้องสงสัย ช่วยประหยัดเวลาและแรงงานในการคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้น

ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโตนิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) พัฒนาซอฟต์แวร์ "เทอมสกรีน" (ThermScreen) สำหรับตรวจวัดอุณหภูมิคนไข้แบบไม่สัมผัส โดยอาศัยหลักการร่วมกันระหว่างการตรวจวัดคลื่นความร้อนในย่านอินฟราาเรด การประมวลภาพ และการชดเชยความแปรปรวนของสภาพแวดล้อม เพื่อใช้คัดกรองผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว เบื้องต้นโรงพยาบาลราชวิถีนำไปใช้งานแล้วเพื่อตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่เสี่ยงป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009

"งานวิจัยพัฒนาซอฟต์แวร์นี้เริ่มต้นเมื่อปลายปี 2550 โดยเนคเทคร่วมมือกับโรงพยาบาลราชวิถี เพื่อนำไปใช้ในการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอุณภูมิร่างกายสูงเกินปรกติในเบื้องต้น โดยติดตั้งซอฟต์แวร์ร่วมกับกล้องตรวจวัดรังสีความร้อน กล้องจะส่งต่อข้อมูลภาพรังสีความร้อนที่บันทึกได้ในขณะนั้นเข้าไปยังคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อไว้ด้วยกัน และซอฟต์แวร์เทอมสกรีนจะประมวลผลและแสดงผลภายในเวลา 0.03 วินาที ซึ่งสามารถคัดกรองผู้ป่วยได้พร้อมกันหลายคน และแสดงค่าอุณหภูมิของแต่ละคนที่วัดได้ทันที" ดร.ศรันย์ อธิบาย

ทั้งนี้ โดยปกติการวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้ป่วย ผู้ตรวจจะต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง ไม่ว่าจะวัดโดยปรอทวัดไข้หรือเครื่องวัดอุณหภูมิที่เสียบเข้าที่รูหู ซึ่งวัดได้ทีละคนเท่านั้น และทำให้ช้า หรือหากต้องการให้รวดเร็วขึ้น ก็ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่หลายคน ทั้งยังอาจทำให้ผู้ถูกวัดเกิดความรำคาญหรือเจ็บได้ และอาจมีของเสียติดอยู่กับเครื่องมือวัดได้

ทว่าระะบบตรวจวัดอุณหภูมิระยะไกลนี้จะช่วยคัดกรองในเบื้องต้นได้ครั้งละหลายคน โดยแพทย์สามารถตั้งค่าอุณหภูมิที่ต้องการวัดได้ตามต้องการ เช่น 38 องศาเซลเซียส หากผู้ที่เดินผ่านหน้ากล้องคนใดมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าที่กำหนด ระบบจะแสดงค่าอุณหภูมิเป็นสีแดง (ถ้าปรกติจะแสดงเป็นสีดำ) พร้อมส่งสัญญาณเตือน จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงแยกบุคคลนั้นออกมาตรวจวัดอย่างละเอียดด้วยวิธีปกติอีกครั้งหนึ่ง โดยมีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำเครื่องเพียง 1 คน เท่านั้นก็สามารถคัดกรองผู้ป่วยได้

ดร.ศรัณย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การตรวจวัดด้วยระบบนี้เป็นการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายที่บริเวณผิวหนัง โดยวัดจากบริเวณใบหน้าซึ่งเป็นจุดที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดของร่างกายคนเรา และจากการเปรียบเทียบกับการวัดอุณหภูมิภายในรูหู ซึ่งเป็นการวัดอุณหภูมิที่แท้จริงของร่างกาย พบว่าให้ผลไม่แตกต่างกัน ฉะนั้นการวัดอุณหภูมิร่างกายที่บริเวณผิวหนังจึงสามารถใช้วัดเพื่อคัดกรองผู้ป่วยในเบื้องต้นได้ โดยขณะนี้ติดตั้งที่บริเวณทางเข้าอาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งในแต่ละวันมีผู้ป่วยผ่านเข้าออกราว 3,500 - 4,000 คน เพื่อคัดกรองผู้ที่อาจป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ 2009

อย่างไรก็ดี เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิระยะไกลที่ติดตั้งอยู่ในสนามบินทั่วไปนั้นสามารถตรวจวัดได้ทีละคน บางแห่งก็สามารถตรวจวัดได้ครั้งละหลายคน แต่ยังไม่มีที่ใดมีการการแสดงค่าอุณหภูมิที่ตรวจได้ร่วมด้วย และไม่มีการชดเชยค่าอุณหภูมิเมื่อสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ทว่าซอฟต์แวร์เทอมสกรีนนี้ได้พัฒนาเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวของระบบเดิม โดยตรวจวัดได้ครั้งละหลายคนพร้อมกัน แสดงค่าอุณหภูมิที่ตรวจวัดได้ ชดเชยอุณภูมิเมื่อสภาวะแวดล้อมแปรเปลี่ยน เช่น อุณหภูมิหรือความชื้อสัมพัทธ์เปลี่ยนด้วยเหตุต่างๆ

ทั้งนี้ นักวิจัยได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรผลงานวิจัยดังกล่าวแล้ว และเคยนำผลงานนี้ไปแสดงในงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านแสงกับชีววิทยา (biophotonic) ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือน เม.ย. 51 จากนั้นได้ทำการมอบให้กับโรงพยาบาลราชวิถีไปเมื่อเดือน พ.ค. 51 และจะได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร อินฟราเรด ฟิสิกส์ แอนด์ เทคโนโลจี (Infrared Physics and Technology) ของยุโรปในอีกประมาณ 2 เดือนข้างหน้า

ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่าระบบนี้สามารถตรวจวัดได้ครั้งละหลายคนพร้อมกันโดยไม่จำกัดจำนวน แต่กล้องต้องตรวจจับบริเวณศีรษะได้ชัดเจน และถ้าจะให้ดีจะต้องตรวจจับใบหน้าตรง ซึ่งจะให้ผลแม่นยำกว่าตรวจวัดที่ใบหน้าด้านข้าง และไม่ควรห่างไกลเกิน 2 เมตร ฉะนั้นจึงต้องพิจารณาตำแหน่งในการจัดวางกล้องให้เหมาะสม และการจัดการการไหลของคนให้เป็นระเบียบและหันหน้าเข้าหากล้อง ซึ่งในอนาคตโรงพยาบาลราชวิถีมีแผนที่จะสร้างห้องตรวจคัดกรองแยกออกจากประตูทางเข้าออกอาคาร เพื่อให้ผลการตรวจแม่นยำและไม่เกิดความสับสนระหว่างผู้คนที่เดินเข้าออกทางเดียวกัน

นอกจากนั้นจะมีการนำไปใช้ที่โรงพยาบาลโรคทรวงอกอีกแห่งหนึ่งในเร็วๆ นี้ และจะมีการผลักดันเพื่อให้เกิดการต่อยอดเชิงพาณิชย์และมีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะเป็นราคาของกล้อง ซึ่งมีราคาตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้าน ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติและการนำไปใช้งานของผู้ใช้ว่าต้องการใช้เพื่อตรวจคัดกรองผู้ป่วยเพียงอย่างเดียวหรือจะนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ด้านอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งกล้องตรวจวัดรังสีความร้อนนั้นมีการนำไปใช้งานได้หลายด้าน เช่น การไฟฟ้า การทหาร เป็นต้น
ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร กับระบบตรวจวัดอุณหภูมิระยะไกล ที่ติดตั้งอยู่บริเวณทางเข้าอาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลราชวิถี
กล้องตรวจวัดรังสีความร้อนจะตรวจจับรังสีความร้อนที่แผ่ออกมาจากร่างกายผู้ที่เดินผ่านหน้ากล้อง และส่งผลไปยังคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ซอฟต์แวร์ ThermScreen ประมวลผลและแสดงผลภายในเวลา 0.03 วินาที สามารถตรวจวัดได้ครั้งละหลายคนพร้อมกัน ช่วยประหยัดเวลาและแรงงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น