ศูนย์ข่าวภูเก็ต - นักวิชาการภูเก็ตเปิดประชุม “Climate Change การเปลี่ยนแปลงบรรยากาศโลก” เผยสภาวะโลกร้อนไม่ควรวิตกอย่างที่คิด เพียงทำความเข้าใจข้อมูลแน่ชัด สำคัญที่ระยะอัตราเพิ่มขึ้น และอัตราการเปลี่ยนแปลง ผลวิจัยชี้อีก 147 ปี อุณหภูมิประเทศไทยเพิ่ม 5 องศา หากไม่หยุดสร้างก๊าซคาร์บอนฯ
วันนี้ (12 ม.ค.) ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต ดร.หรรษา จันทร์แสง ผู้ชำนาญการด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุม “Climate Change การเปลี่ยนแปลงบรรยากาศโลก” เพื่ออภิปรายประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในสภาวะปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อโลกในอนาคต พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อลดความหวั่นเกรงต่อผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยมีสมาชิกวิทยาศาสตร์ และสมาชิกธนาคารสมองเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้
ดร.หรรษา กล่าวว่า ปัจจุบันหลายๆ องค์กรได้ตระหนักและให้ความสนใจต่อประเด็นของผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนอย่างมาก ดังที่ผลการวิจัยจากหลายๆ ฝ่ายระบุว่าอุณหภูมิของโลกจะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ธารน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือ และบางส่วนของทวีปยุโรป ละลายอย่างรวดเร็ว มีผลทำให้ปริมาณน้ำทั่วโลกมีระดับสูงขึ้น และอาจถึงขั้นน้ำท่วมโลกได้
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ดร.หรรษา ได้ชี้แจงว่า ต้องมีการทำความเข้าใจให้แน่ชัดว่าสภาวะที่เกิดขึ้นในอนาคต มีสาเหตุและมีระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลงสภาพเช่นไร แม้จากผลกระทบที่มีการสรุปแน่ชัดว่าน้ำจะท่วมโลก ประเด็นสำคัญของปัญหาที่จะต้องทำความเข้าใจ คือ ระยะอัตราเพิ่มขึ้น และอัตราการเปลี่ยนแปลง โดยจากการติดตามผลการวิจัยการคาดการเรื่องภาวะโลกร้อน ตั้งแต่ ค.ศ.1948-2099 รวมระยะเวลา 147 ปี พบว่าหากมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น และไม่มีการลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงแล้ว อุณหภูมิบริเวณขั้วโลกจะเพิ่มสูงขึ้น 10 องศาเซลเซียส โดยในส่วนของประเทศไทยจะมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอีก 5 องศาเซลเซียส
แต่ในทางกลับกัน หากสามารถลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงลงได้ และปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศลดลง อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 6 องศาเซลเซียส