xs
xsm
sm
md
lg

ภาวะโลกร้อนกับภัยน้ำท่วม (1)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

น้ำแข็งที่ Greenland และ Antarctica
ทุกวันนี้ใครๆ ก็รู้ว่า แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และบรรยากาศเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าจะถามว่าใครคือบุคคลแรกที่ได้ศึกษาเรื่องนี้ ประวัติวิทยาศาสตร์ก็ได้บันทึกว่า ในปี 2370 (รัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) Jean Baptiste Joseph Fourier คือนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่ได้ทดลองพบว่าแสงเดินทางผ่านอากาศที่มีอุณหภูมิต่ำได้ดีกว่าอากาศที่มีอุณหภูมิสูง อีก 35 ปีต่อมา John Tyndall ได้แสดงให้เห็นว่า ทั้งแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และไอน้ำต่างก็ดูดกลืนรังสีอินฟราเรดได้ดี

และเมื่อถึงปี 2440 Svante Arrhenius ได้ตีพิมพ์ผลงานชิ้นหนึ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้เป็นครั้งแรกว่า อุณหภูมิของบรรยากาศโลกขึ้นกับปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่บรรยากาศมี ดังนั้นกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่ผลิตแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (เช่น การเผาป่า การเผาถ่านหิน การขับเคลื่อนยานยนต์ ฯลฯ) แล้วปล่อยออกสู่บรรยากาศ สามารถทำให้เกิดปรากฏการณ์ เรือนกระจกที่โลกทุกวันนี้รู้จักในนาม ภาวะโลกร้อน หรือภาวะบรรยากาศเปลี่ยนแปลงได้

แต่ Arrhenius คำนวณผิด เขาจึงอ้างว่า ถ้าอัตราการเผาผลาญถ่านหินดำเนินไปในอัตราขณะนั้น โลกจะมีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น 50% ในอีก 3,000 ปี และแก๊สที่เพิ่มนี้ จะทำให้โลกร้อนขึ้น 3.4 องศาเซลเซียส เพราะข้อสรุปของ Arrhenius ไม่น่ากลัว และถ้าเหตุการณ์โลกร้อนจะเกิดขึ้นจริง ก็อีกนาน 3,000 ปี ดังนั้น วงการวิชาการจึงไม่มีใครสนใจผลงานของ Arrhenius ชิ้นนี้ จนอีก 60 ปีต่อมา นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจึงเริ่มตระหนักว่า ภาวะโลกร้อนเป็นปรากฏการณ์ที่สามารถเกิดได้ในช่วงชีวิตของคนคนหนึ่ง และในที่สุดเหตุการณ์นี้ก็จะเป็นมหันตภัยต่อมนุษยชาติ

การศึกษาประวัติของปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในอดีตเมื่อ 200 ปีก่อน แสดงว่า บรรยากาศโลกขณะนั้นมีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 0.028% แต่ปัจจุบันปริมาณได้เพิ่มมากถึง 0.035% และนอกจากจะดูดกลืนความร้อนได้ดีแล้ว บรรยากาศที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ ยังกักเก็บความร้อนได้ดีมากด้วย

แต่ในความเป็นจริง CO2 มิได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เพราะนักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า ปัจจุบันอื่นๆ เช่น ความแปรปรวนของปริมาณแสงอาทิตย์ที่โลกได้รับ ปริมาณฝุ่นธุลีที่ภูเขาไฟระเบิดพ่นออกมา ลักษณะการไหลของกระแสน้ำในมหาสมุทร ทั่วโลก และปริมาณไอน้ำกับเมฆในท้องฟ้าก็มีบทบาทในการทำให้โลกร้อนขึ้นหรือเย็นลงได้เหมือนกัน แต่ถ้าจะเน้นปัจจัยหลัก แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ คือตัวการสำคัญที่สุด

ทุกวันนี้การสำรวจและศึกษาสภาพในภูมิประเทศต่างๆ ทั่วโลก แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โลกกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะโลกร้อน เช่น ในแอฟริกา นักสำรวจได้พบว่า ธารน้ำแข็งบนยอดเขา Kilimanjaro ได้ลดขนาดลงทุกปี จนในอีก 20 ปี ธารน้ำแข็งนี้จะหายไปอย่างสมบูรณ์ ส่วนในยุโรป ธารน้ำแข็งบนยอดเขา Alps ก็ได้ลดขนาดลงตลอดเวลาและสำหรับสัตว์นั้น นักชีววิทยาก็ได้พบว่า สัตว์ในเขตร้อนหลายชนิดได้อพยพแหล่งอาศัยขึ้นไปทางเหนือที่มีอากาศหนาวกว่า ซึ่งตามปกติแล้ว สัตว์เหล่านั้นไม่น่าจะมีชีวิตอยู่ได้ เช่น ยุง ซึ่งเป็นพาหะของโรคหลายชนิด การอพยพของมันเข้ายุโรปจึงมีสิทธิ์ทำให้ชาวยุโรปมีโอกาสเป็นโรค มาลาเรีย และโรคไข้เลือดออกได้มากขึ้น เป็นต้น

สำหรับน้ำในมหาสมุทรนั้น ก็ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเช่นกัน เพราะเมื่ออุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้น นั่นก็หมายความว่า ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มด้วย การคำนวณโดยนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่ม แสดงให้เห็นว่า ในอีก 90 ปี ระดับน้ำทะเลจะเพิ่ม 50 +25 เซนติเมตร และอีก 500 ปี ความเข้มข้นของ CO2 ในบรรยากาศโลกจะมากขึ้น 4 เท่า

ตัวเลขนี้ได้จากการพิจารณาการขยายตัวของน้ำเพียงอย่างเดียว หาได้คำนึงถึงการละลายของน้ำแข็งที่บริเวณขั้วโลกทั้งสองไม่ ซึ่งถ้าพิจารณาด้วย ระดับน้ำที่จะเพิ่ม ก็จะมีค่ามากขึ้นไปอีก เพราะพื้นที่ 2% ของทวีปต่างๆ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล น้อยกว่า 10 เมตร และพื้นที่ริมทะเลเป็นที่อยู่อาศัยของคน 630 ล้านคน (ในอีก 500 ปี จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ริมทะเลจะสูงขึ้นไปอีก) ดังนั้นการเพิ่มระดับน้ำทะเลจะทำให้ New York, Mumbai, London, Shanghai และกรุงเทพฯ จมน้ำหมด ส่วนเกาะต่างๆ เช่น Maldives, Hawaii และ Caribbean พื้นที่ส่วนใหญ่ก็จะจมน้ำเช่นกัน

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
Svante Arrhenius (คนที่นั่งบนโต๊ะ) ภาพนี้ถ่ายในปี 2439
กำลังโหลดความคิดเห็น