xs
xsm
sm
md
lg

วิ่งรถกอล์ฟทดสอบเซลล์เชื้อเพลิงบรรทุกได้ 20 คน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทดสอบรถลากพลังไฮโดรเจนบรรทุกคน 20 ที่นั่ง
วช. ตรวจรับ "เซลล์เชื้อเพลิงต้นแบบ" ขับเคลื่อนรถกอล์ฟบรรทุกได้ 20 คน พร้อมส่งต่อนายกฯ และหน่วยงานที่จะรับไปต่อยอด เบื้องต้นจะติดตั้งบนรถบัสสำหรับ สว. ด้านทีมวิจัยเตรียมเดินหน้าวิจัยเปลี่ยนน้ำเป็นไฮโดรเจนเพื่อเป็นเชื้อเพลิง

ศ.อานนท์ บุญรัตเวช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร วช.และคณะผู้ตรวจสอบทางวิชาการโครงการวิจัย เดินทางไปตรวจเยี่ยมและประเมินผลการวิจัยโครงการ "สร้างต้นแบบพลังงานเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) ชนิด PEMFC ขนาดใหญ่ 11 กิโลวัตต์ จำนวน 6 ชุด เพื่อนำไปใช้ขับเคลื่อนรถพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติ ที่คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ วุฒิสภาเป็นผู้กำหนดนโยบายและส่งเสริม" เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.52 ณ บริษัท คลีนฟูเอล เอ็นเนอยี เอ็นเตอร์ไพร้ส์ จำกัด ต.คูคต อ.ลำลูกกา ปทุมธานี

ทั้งนี้ คณะผู้บริหาร วช.ได้ชมสาธิตการใช้เซลล์เชื้อเพลิงขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 11.4 กำลังม้า การใช้เซลล์เชื้อเพลิงกับระบบเครื่องปรับอากาศ และใช้ขับเคลื่อนรถพลังงานไฟฟ้า ซึ่งสร้างขึ้นเป็นหัวลากที่จูงรถบรรทุกพร้อมคนนั่ง 20 คน โดยคณะผู้บริหาร วช.และสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งได้ร่วมทดสอบกำลังขับเคลื่อนรถยนต์ด้วยพลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิงด้วย

ศ.อานนท์กล่าวว่า คณะกรรมการได้ตรวจรับงานวิจัยและพบว่ามีผลสำเร็จจริง ซึ่งเมื่อพิจารณาเชิงวิชาการแล้ว อย่างแรกเซลล์เชื้อเพลิงช่วยให้เครื่องปรับอากาศ 18,000 บีทียู เย็นได้จริง ซึ่งเทียบเท่ากับห้องนอนใหญ่ๆ ห้องหนึ่ง อย่างที่สองนั้นเซลล์เชื้อเพลิง 11 กิโลวัตต์ขับเคลื่อนเพลาที่มีลูกล้อได้ และผลักดันให้มีการหมุนของล้อเทียบเท่ากำลัง 14.7 แรงม้า ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้รถยนต์ขับเคลื่อนได้ และอยากที่สามคือรถลากที่ใช้เซลล์เพลิงสามารถลากรถที่มีคนนั่ง 20 คนได้ อีกทั้งยังเป็นนวัตกรรมของคนไทยที่พัฒนาได้ภายใน 1 ปี และใช้งบเพียง 25 ล้านบาท

สำหรับไฮโดรเจนที่ใช้ในเซลล์เชื้อเพลิงจากงานวิจัยนี้ ใช้ไฮโดรเจนที่ได้จากปิโตรเคมี ซึ่ง ศ.อานนท์กล่าวว่า เราสามารถแยกก๊าซไฮโดรเจนจากปิโตรเคมีหรือโรงงานแก้ว ซึ่งในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ดมีเยอะ และปล่อยไฮโดรเจนทิ้งวันละ 4 แสนกิโลกรัม ขณะที่รถลากที่ทดสอบนั้นใช้ไฮโดรเจนเพียงวันละ 5 กิโลกรัม ดังนั้นไฮโดรเจนที่ทิ้งไปในอุตสาหกรรมเทียบเท่ากับพลังงานที่เพียงพอสำหรับ รถยนต์วิ่งได้วันละ 8 หมื่นคัน

"ผลของความสำเร็จครั้งนี้ จะได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแล วช.โดยตรง และส่งมอบงานวิจัยให้แก่ผู้ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ เทคโนโลยีนี้ทำได้จริง มีเหตุผลทางวิชาการ ทำให้ไทยได้ภาพลักษณ์และเป็นชื่อเสียงของประเทศ และเราจะมีพลังงานที่ใช้ได้โดยไม่ซื้อน้ำมันวันละ 400,000 กิโลกรัม" ศ.อานนท์กล่าว

พร้อมกันนี้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้พูดคุยกับเรืออากาศโทภราดร แสงสุวรรณ หนึ่งในคณะวิจัย ซึ่งอธิบายว่าเซลล์เชื้อเพลิงดังกล่าวประกอบด้วยแผ่นไบโพลาร์เพลท (Bipolar Plate) ที่ทำจากกราไฟท์ (Graphite) ซึ่งทำหน้าที่เป็นขั้วไฟฟ้าและกันออกซิเจนกับไฮโดรเจนไม่ให้พบกันก่อนผ่าน แผ่นเมมเบรน ทั้งนี้เลือกกราไฟท์เป็นวัสดุเนื่องจากนำไฟฟ้าได้และอุณหภูมิสูงๆ 70-80 องศาเซลเซียสไม่มีผลต่อการทำงาน

ส่วนแผ่นเมมเบรนทำหน้าที่แยกโปรตอนและอิเล็กตรอนของไฮโดรเจนออกจากกัน ซึ่งอิเล็กตรอนที่ถูกแยกออกมานี จะถูกส่งไปยังมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนเครื่องยนต์ โดยแผ่นเมมเบรนนี้จะใช้แพลตินัมเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ทั้งนี้เซลล์เชื้อเพลิงจะประกอบขึ้นจากแผ่นไบโพลาร์เพลทและเยื่อเมมเบรน

"เซลล์เชื้อเพลิงนี้นำไปใช้กับรถยนต์ได้แล้ว โดยเราจะนำไปใช้กับรถบัสของคณะวุฒิสภา และต่อจากนี้เรายังมีโครงการที่จะเปลี่ยนน้ำเป็นก๊าซไฮโดรเจน" เรืออากาศโทภราดรกล่าว.
นักวิจัยในทีมนำเสนอผลงานต่อคณธกรรมการ
เรืออากาศโทภราดร แสงสุวรรณ  กับเซลล์เชื้อเพลิงที่ยังไม่ใส่ปลอกหุ้ม
ชั้นของไบโพลาร์เพลทและเมมเบรนที่เรียงกันหลายชั้น
ศ๑อานนท์ บุญรัตเวช (ขวา)
รถลากพลังไฮโดรเจน
กำลังโหลดความคิดเห็น