xs
xsm
sm
md
lg

คาดอุตสาหกรรมรถปรับโฉมใหม่ หลังผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - นักวิเคราะห์ชี้ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกจะต้องปรับโฉมครั้งใหญ่หลังจากผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจคราวนี้แล้ว โดยภายในสิบปีข้างหน้า ยอดขายรถแบบใช้พลังงานไฟฟ้าและแบบไฮบริดจะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะมียักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมสักกี่รายที่มีเรี่ยวแรงเดินหน้าต่อไป และแหล่งผลิตจะเป็นที่ใดแน่
กระนั้นก็ตาม สิ่งที่พอจะเห็นแนวโน้มก็คือพวกผู้ผลิตรถคงจะไม่ควบรวมกิจการกัน โดยเฉพาะผู้ผลิตรถต่างสัญชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยประสบปัญหาจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมมาแล้ว
"ผมคิดว่าจะมีบททดสอบให้เห็นกันกันในปีนี้แหละ" เจอร์เกน ไพเพอร์ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมรถยนต์ของเมตซเลอร์ แบงก์ กล่าวถึงแนวโน้มความเคลื่อนไหวในการควบรวมกิจการของอุตสาหกรรมนี้ และว่าหลังจากที่ปริมาณความต้องการซื้อรถดิ่งลงจนแตะระดับต่ำที่สุดแล้ว "หากเรายังไม่เห็นการดำเนินการใดๆ (ในเรื่องการควบรวม) ภายในปีนี้ เราก็จะกลับเข้าสภาพปกติในอีกสองสามปีข้างหน้า"
ทางด้าน ไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์ คาดการณ์ว่า "การผลิตรถในสหภาพยุโรปจะลดลง 20 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ต้นปี 2008 ไปจนถึงสิ้นปี 2009" โดยคิดเป็นรายได้ที่สูญเสียไปถึง 60,000 ล้านยูโร
ทว่ามาร์ติน วินเทอร์คอร์น ประธานใหญ่ของโฟล์กสวาเกนระบุในสัปดาห์ที่แล้วว่า เมื่อวิกฤตการณ์ผ่านไปแล้ว เขา "มั่นใจว่าจะยังคงมีผู้ผลิตรถรายใหญ่ 2 รายในฝรั่งเศส และอย่างน้อย 3 รายในเยอรมนี และอย่างน้อย 2 รายในญี่ปุ่น" เขาบอกอีกว่าไม่ได้วิตกกับอนาคตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในยุโรป อีกทั้งยังเห็นว่า ในจีน, เกาหลีใต้, และสหรัฐฯ ก็ยังจะมีผู้ผลิตรถดำรงอยู่
การคาดการณ์ของบิ๊กบอสโฟล์ก นับว่าขัดแย้งกับ แซร์จิโอ มาร์คิโอนเน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเฟียต ที่เคยพูดไว้ในเดือนธันวาคมว่า จะมีผู้ผลิตรถยนต์เพียง 6 รายที่รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้
"ถ้าหากยังมองจากมุมของผู้ผลิตรถสำหรับตลาดระดับกว้างแล้ว เราคงลงเอยด้วยการเหลือผู้ผลิตในสหรัฐฯ หนึ่งราย เยอรมนีหนึ่งราย อีกหนึ่งรายเป็นการรวมตัวของบริษัทฝรั่งเศสกับญี่ปุ่นซึ่งอาจขยายไปร่วมมือกับสหรัฐฯ ด้วย ในญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง และจีนแห่งหนึ่ง และในยุโรปอีกสักแห่ง"
นอกจากนั้น เฟอร์ดินานด์ ดูเดนโฮฟเฟอร์ ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมรถยนต์ชาวเยอรมันก็วิจารณ์เย้ยซีอีโอเฟียต โดยเขาบอกว่าสิ่งที่มาร์คิโอนเนพูดถึงนั้นเป็นเรื่องเก่าที่พูดกันมานานปีแล้ว โดยตอนนั้นยังเชื่อกันว่า เจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) จะกลายเป็น "ผู้เผลิตรถที่ใหญ่และแข็งแกร่งที่สุดในโลก" ทว่าความจริงในตอนนี้ก็คือจีเอ็มกำลังแบมือขอเงินช่วยเหลือฉุกเฉินจากรัฐบาลสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ดูเดนโฮฟเฟอร์, ไพเพอร์, และวิลลี ดีตซ์ จากสถาบันไอเอฟเอเพื่อธุรกิจรถยนต์แห่งเยอรมนี เห็นพ้องกันว่า วิธีเดียวที่พวกบริษัทรถในยุโรปจะสามารถบรรลุ "การประหยัดอันเกิดจากขนาด" ได้ ก็คือต้องร่วมมือทางด้านการวิจัยและพัฒนา และการผลิตให้มากขึ้น
ดีตซ์คาดหมายว่าเราคงจะเห็นการร่วมมือกันมากขึ้นในหมู่ผู้ผลิตรถยนต์มีแบรนด์ เขายังยกตัวอย่างความร่วมมือระหว่างบีเอ็มดับเบิลยูกับเปอร์โยต์ บีเอ็มดับเบิลยูกับเดมเลอร์ และมิตซูบิชิกับเปอร์โยต์ ซึ่งเริ่มมีการนำรถพลังงานไฟฟ้าต้นแบบออกแสดงในงานแสดงรถยนต์ต่างๆ บ้างแล้ว ดีตซ์ยังคาดด้วยว่ารถพลังงานไฟฟ้าที่ใช้งานได้จริงคงออกมาในราวปี 2015-2020
อย่างไรก็ดี เขาชี้ว่าถ้าถึงขั้นจะเข้าควบรวมกิจการกันแล้ว ก็จะมีความเสี่ยงอยู่มาก ดังในกรณีของบีเอ็มดับเบิลยูกับโรเวอร์ และเดมเลอร์กับไครส์เลอร์ ซึ่งขัดแย้งกันเพราะวัฒนธรรมองค์กรแตกต่างกันจนทำให้ "การบริหารจัดการยุ่งยากมากขึ้น"
ส่วนไพเพอร์เห็นว่าการควบรวมกิจการของบริษัทใหญ่ๆ นั้นคงยังไม่เกิดขึ้น เว้นแต่ว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะยืดเยื้อหรือรุนแรงเกินคาด และผู้ผลิตรถทั้งหลายแทบหมดตัว ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น น่าจะมีข้อพิจารณาทางการเมืองให้เรโนลต์และเปอร์โยต์ของฝรั่งเศสต้องรวมกิจการกัน และบีเอ็มดับเบิลยูกับเดมเลอร์ในเยอรมนีต้องจับมือกัน
สำหรับแนวโน้มอีกอย่างหนึ่งที่นักวิเคราะห์จำนวนมากมองเห็นกัน ได้แก่ การผลิตจะต้องย้ายฐานไปยังยุโรปตะวันออก รัสเซีย จีน และอเมริกาใต้
"ถ้าจะขายรถในจีนคุณต้องไปผลิตในจีน หรือถ้าจะขายรถในบราซิล อาร์เจนตินา หรือเม็กซิโก ก็ต้องไปผลิตแถวๆ นั้น จะใช้วิธีส่งออกรถจากยุโรปไปไม่ได้อีกแล้ว" ดีตซ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น