xs
xsm
sm
md
lg

คาดอุตสาหกรรมรถปรับโฉมใหม่ หลังผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - นักวิเคราะห์ชี้ว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกจะต้องปรับโฉมครั้งใหญ่ หลังจากผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจคราวนี้แล้ว โดยภายในสิบปีข้างหน้า ยอดขายรถแบบใช้พลังงานไฟฟ้า และแบบไฮบริด จะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะมียักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมสักกี่รายที่มีเรี่ยวแรงเดินหน้าต่อไป และแหล่งผลิตจะเป็นที่ใดแน่

กระนั้นก็ตาม สิ่งที่พอจะเห็นแนวโน้ม ก็คือ พวกผู้ผลิตรถคงจะไม่ควบรวมกิจการกัน โดยเฉพาะผู้ผลิตรถต่างสัญชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้ ก็เคยประสบปัญหาจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมมาแล้ว

“ผมคิดว่าจะมีบททดสอบให้เห็นกันกันในปีนี้แหละ” เจอร์เกน ไพเพอร์ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมรถยนต์ของเมตซเลอร์ แบงก์ กล่าวถึงแนวโน้มความเคลื่อนไหวในการควบรวมกิจการของอุตสาหกรรมนี้ และว่า หลังจากที่ปริมาณความต้องการซื้อรถดิ่งลงจนแตะระดับต่ำที่สุดแล้ว “หากเรายังไม่เห็นการดำเนินการใดๆ (ในเรื่องการควบรวม) ภายในปีนี้ เราก็จะกลับเข้าสภาพปกติในอีกสองสามปีข้างหน้า”

ทางด้าน ไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์ คาดการณ์ว่า “การผลิตรถในสหภาพยุโรปจะลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่ต้นปี 2008 ไปจนถึงสิ้นปี 2009” โดยคิดเป็นรายได้ที่สูญเสียไปถึง 60,000 ล้านยูโร

ทว่า มาร์ติน วินเทอร์คอร์น ประธานใหญ่ของโฟล์คสวาเกน ระบุในสัปดาห์ที่แล้วว่า เมื่อวิกฤตการณ์ผ่านไปแล้ว เขา “มั่นใจว่า จะยังคงมีผู้ผลิตรถรายใหญ่ 2 รายในฝรั่งเศส และอย่างน้อย 3 รายในเยอรมนี และอย่างน้อย 2 รายในญี่ปุ่น” เขาบอกอีกว่า ไม่ได้วิตกกับอนาคตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในยุโรป อีกทั้งยังเห็นว่า ในจีน, เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ก็ยังจะมีผู้ผลิตรถดำรงอยู่

การคาดการณ์ของบิ๊กบอสโฟล์ค นับว่า ขัดแย้งกับ แซร์จิโอ มาร์คิโอนเน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเฟียต ที่เคยพูดไว้ในเดือนธันวาคม ว่า จะมีผู้ผลิตรถยนต์เพียง 6 รายที่รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้

“ถ้าหากยังมองจากมุมของผู้ผลิตรถสำหรับตลาดระดับกว้างแล้ว เราคงลงเอยด้วยการเหลือผู้ผลิตในสหรัฐฯ หนึ่งราย เยอรมนีหนึ่งราย อีกหนึ่งรายเป็นการรวมตัวของบริษัทฝรั่งเศสกับญี่ปุ่น ซึ่งอาจขยายไปร่วมมือกับสหรัฐฯ ด้วย ในญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง และจีนแห่งหนึ่ง และในยุโรปอีกสักแห่ง”

นอกจากนั้น เฟอร์ดินานด์ ดูเดนโฮฟเฟอร์ ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมรถยนต์ชาวเยอรมัน ก็วิจารณ์เย้ยซีอีโอเฟียต โดยเขาบอกว่า สิ่งที่ มาร์คิโอนเน พูดถึงนั้นเป็นเรื่องเก่าที่พูดกันมานานปีแล้ว โดยตอนนั้นยังเชื่อกันว่า เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) จะกลายเป็น “ผู้ผลิตรถที่ใหญ่และแข็งแกร่งที่สุดในโลก” ทว่า ความจริงในตอนนี้ ก็คือ จีเอ็ม กำลังแบมือขอเงินช่วยเหลือฉุกเฉินจากรัฐบาลสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ดูเดนโฮฟเฟอร์, ไพเพอร์ และ วิลลี ดีตซ์ จากสถาบันไอเอฟเอเพื่อธุรกิจรถยนต์แห่งเยอรมนี เห็นพ้องกันว่า วิธีเดียวที่พวกบริษัทรถในยุโรปจะสามารถบรรลุ “การประหยัดอันเกิดจากขนาด” ได้ ก็คือ ต้องร่วมมือทางด้านการวิจัยและพัฒนา และการผลิตให้มากขึ้น

ดีตซ์ คาดหมายว่า เราคงจะเห็นการร่วมมือกันมากขึ้นในหมู่ผู้ผลิตรถยนต์มีแบรนด์ เขายังยกตัวอย่างความร่วมมือระหว่าง บีเอ็มดับเบิลยู กับ เปอโยต์ บีเอ็มดับเบิลยู กับ เดมเลอร์ และ มิตซูบิชิ กับ เปอโยต์ ซึ่งเริ่มมีการนำรถพลังงานไฟฟ้าต้นแบบออกแสดงในงานแสดงรถยนต์ต่างๆ บ้างแล้ว ดีตซ์ ยังคาดด้วยว่า รถพลังงานไฟฟ้าที่ใช้งานได้จริงคงออกมาในราวปี 2015-2020

อย่างไรก็ดี เขาชี้ว่า ถ้าถึงขั้นจะเข้าควบรวมกิจการกันแล้ว ก็จะมีความเสี่ยงอยู่มาก ดังในกรณีของ บีเอ็มดับเบิลยู กับ โรเวอร์ และ เดมเลอร์ กับ ไครสเลอร์ ซึ่งขัดแย้งกันเพราะวัฒนธรรมองค์กรแตกต่างกันจนทำให้ “การบริหารจัดการยุ่งยากมากขึ้น”

ส่วน ไพเพอร์ เห็นว่า การควบรวมกิจการของบริษัทใหญ่ๆ นั้น คงยังไม่เกิดขึ้น เว้นแต่ว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะยืดเยื้อหรือรุนแรงเกินคาด และผู้ผลิตรถทั้งหลายแทบหมดตัว ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น น่าจะมีข้อพิจารณาทางการเมืองให้เรโนลต์และเปอร์โยต์ของฝรั่งเศสต้องรวมกิจการกัน และ บีเอ็มดับเบิลยู กับ เดมเลอร์ ในเยอรมนี ต้องจับมือกัน

สำหรับแนวโน้มอีกอย่างหนึ่งที่นักวิเคราะห์จำนวนมากมองเห็นกัน ได้แก่ การผลิตจะต้องย้ายฐานไปยังยุโรปตะวันออก รัสเซีย จีน และ อเมริกาใต้

“ถ้าจะขายรถในจีนคุณต้องไปผลิตในจีน หรือถ้าจะขายรถในบราซิล อาร์เจนตินา หรือเม็กซิโก ก็ต้องไปผลิตแถวๆ นั้น จะใช้วิธีส่งออกรถจากยุโรปไปไม่ได้อีกแล้ว” ดีตซ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น