ไม่ว่าจะอย่างไรแผนพัฒนาพลังงานของประเทศระบุชี้ชัดว่า ปี 2563 ไทยต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นของตัวเอง ประชาชนอย่างเราจะมั่นใจในความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้แค่ไหน แล้วอุ่นใจขึ้นหรือไม่ที่ กฟผ.ส่งวิศวกรเข้าอบรมพื้นฐานนิวเคลียร์อย่างเข้มข้น 60 ชั่วโมง
เวทีเสวนา "คุยกัน...ฉันวิทย์" จัดหัวข้อ "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กับภารกิจความปลอดภัย" ขึ้นเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.52 ณ ห้องโถงกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีนายวิเชียร วงศ์สมาน ผู้อำนวยการสำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) และ ดร.นทีกูล เกรียงชัยพร วิศวกรนิวเคลียร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมเสวนาให้ข้อมูล และดำเนินการเสวนาโดยนายวิเทียน นิลดำ รองประธานสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ก่อนเข้าเรื่องความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร ดร.นทีกูล ให้ข้อมูลว่าเหตุใด กฟผ.จึงต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยบอกว่าไทยมีความพยายามสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 2518 ซึ่งมีการเลือกเทคโนโลยี สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าและสั่งจองเชื้อเพลิงแล้ว แต่ตอนนั้นมีการสำรวจพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ผนวกเข้ากับกระแสต่อต้านจึงทำให้โครงการต้องล้มเลิกไป
จากนั้นในปี 2525 ได้มีการรื้อฟื้นโครงการขึ้นมาใหม่ ทาง กฟผ.ได้สำรวจที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วประเทศเพื่อหาพื้นที่ที่ใช้ได้ ซึ่งมีทั้งหมด 59 แห่ง แล้วได้ศึกษาลึกลงไปจนเหลือที่ใช้ได้ 14 แห่ง จากนั้นทางญี่ปุ่นได้เข้ามาช่วยประเมินจนเหลือ 4 แห่ง แต่เมื่อเจอวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 โครงการก็ได้ล้มเลิกไปอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้พื้นที่เหมาะสมที่เลือกไว้บางแห่งก็ใช้ไม่ได้แล้ว เนื่องจากมีผู้คนย้ายเข้าไปอยู่อาศัย และบางแห่งก็กลายเป็นรีสอร์ท จึงต้องมีการศึกษาใหม่
ดร.นทีกูลให้ข้อมูลที่หลายคนทราบดีว่า ปัจจุบันเราใช้ก๊าซธรรมชาติในสัดส่วน 70% ของพลังงานทั้งหมด พร้อมแสดงความคิดว่าการใช้ก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนขนาดนี้จำเป็นต้องมีแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงเอง 100% แต่ 1 ใน 3 ของก๊าซธรรมชาติที่ใช้นั้นนำเข้าจากพม่า ซึ่งก๊าซธรรมชาติที่มีนั้นเหลือใช้ได้อีก 20 ปี ส่วนถ่านหิินของไทยนั้นมีการใช้อยู่ในสัดส่วน 13% ทางด้านพลังงานน้ำนั้นนำเข้าจากลาวและมาเลเซีย 2% โดยไทยพัฒนาไม่ได้แล้ว เนื่องจากไม่สามารถสร้างเขื่อนได้อีก
"ดังนั้นแผนไฟฟ้า 15 ปีจึงต้องมี เป็นแผนพีดีพี 2007-2021 ซึ่งกำหนดไว้ว่าปี 2563 (2020) จะต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เดิมกำหนดไว้ 2,000 เมกะวัตต์ แต่ปรับเหลือ 1,000 เมกะวัตต์ เมื่อปี 2552 โดยอ้างอิงจากจีดีพีที่ลดง เนื่องจากจีดีพีลดลงการใช้ไฟฟ้าก็ลดลง ซึ่งแผนนี้สามารถยืดหยุ่นได้ โดยปลายปีนี้จะได้ทบทวนแผนอย่างละเอียดอีกครั้ง" ดร.นทีกูลกล่าว
วิศวกรนิวเคลียร์จาก กฟผ.กล่าวว่า หลักๆ ของความ ไม่ปลอดภัยในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คือ สารกัมมันตรังสี แต่สามารถเก็บไว้ได้ด้วยแท่งควบคุมในเครื่องปฏฺกรณ์ แตุ่้ถ้าหากควบคุมไม่ได้ จะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นจนทำให้แท่งเชื้อเพลิงหลอมละลาย แต่ก็จะมีัตัวปิดกั้นไม่ให้กัมมันตรังสีออกมา
ทั้งนี้ การออกแบบเครื่องปฏิกรณ์ได้อิงกับเหตุการณ์เชอร์โนบิล ซึ่งมีความบกพร่องด้านการออกแบบที่ไม่มีอาคารคุมเครื่องปฏิกรณ์ และเหตุการณ์เกิดขึ้นจากการทดลองดึงตัวควบคุมเครื่องปฏิกรณ์ควบคุมออกทั้ง โดยผู้ควบคุมที่ไม่ชำนาญ โดยเครื่องปฏิกรณ์รุ่นใหม่ได้ออกแบบให้แก้ไขข้อบกพร่องเหล่านี้ และได้คำนึงถึงเหตุการณ์ร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้า เช่น เครื่องบินพุ่งชน ภัยพิบัติ การรั่วไหลของสารรังสี เป็นต้น
หากไทยมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นของตัวเอง ดร.นทีกูลกล่าวว่า ผู้ที่จะดูแลส่วนหนึ่งคือเจ้าหน้าที่ กฟผ.รุ่นเก่าๆ ที่มีประสบการณ์ด้านโรงไฟฟ้าและเด็กรุ่นใหม่ที่ศึกษาโดยตรง ซึ่งขณะนี้ทาง กฟผ.ได้จัดอบรมพื้นฐานนิวเคลียร์ให้แก่วิศวกรภายใน โดยอาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลา 60 ชั่วโมงอย่างเข้มข้น ซึ่งปีนี้มีแผนอบรมทั้งหมด 100 คน และในปี 2553 จะสรุปข้อมูลทั้งหมดเกี่ยกวับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ทางด้าน นายวิเชียร กล่าวถึงความปลอดภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่า เจ้าหน้าที่ต้องได้รับรังสีในปริมาณน้อยที่สุด และต้องมั่นใจว่าหากเกิดเหตุฉุกเฉินต้องมีมาตรการบรรเทาให้มากที่สุด และการออกแบบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องคำนึงถึงเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดที่จะ เิกิดขึ้น โดย ปส.จะเข้าไปกำกับดูแลความปลอดภัยโดยอิงเกณฑ์ทบวงปรมาณูเพื่อสันติระหว่าง ประเทศหรือไอเออีเอว่า มีทั้งหมด 5 ขั้นตอน คือ ก่อนเริ่มก่อสร้าง ระหว่างก่อสร้าง ระยะทดลองเดินเครื่อง ระยะทดลองเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ และระยะรื้อถอนเมื่อหมดอายุการใช้งาน
อย่างไรก็ดีเมื่อทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้สอบถามนายวิเชียรถึงกรณีดังกล่าวภายหลังเสวนาว่า หากเิกิดเหตุการณ์ที่คาดคิดกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แม้ว่าจะได้เตรียมรับมือกับเหตุการ์ณร้ายแรงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ที่สุดยังมีรังสีรั่วไหลออกมานั้น ทางสำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์จะรับมือกับสถานการ์ณดังกล่าว อย่างไร เขาตอบว่าได้คำนึงทุกอย่างไว้ตั้งแต่ก่อสร้างแล้ว เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้น