xs
xsm
sm
md
lg

สทน.หนุนไทยตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลดพึ่งก๊าซธรรมชาติ-ยันพลังงานสะอาดปลอดภัย-เล็งผุด 4 แห่งภายใน 12 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติการจัดการกากกัมมันตรังสีอย่างยั่งยืนปลอดภัย ขณะเดียวกัน ผอ.สทน.หนุนประเทศไทยผลักดันตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ลดพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานของชาติ ยืนยันพลังงานสะอาด ปลอดภัย คุ้มค่าการลงทุน เล็งผุด 4 แห่ง มูลค่าลงทุนแห่งละ 7 หมื่นล้านบาท ภายในปี ค.ศ.2020

วันนี้ (12 ม.ค.) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน.จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “การจัดการต้นกำเนิดรังสีปิดผนึกที่ใช้แล้วแบบยั่งยืนเพื่อการเก็บทิ้งที่ปลอดภัย” ซึ่งเป็นการประชุมระดับนานาชาติที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 12-16 ม.ค.2552 ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ตัวแทนประเทศสมาชิกภายใต้กรอบเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ในเอเชีย เจ้าหน้าที่ศูนย์จัดการกัมมันตรังสี สทน.และผู้แทนสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เข้าร่วมจำนวน 60 คน

โดยการจัดประชุมครั้งนี้มีขึ้นเพื่อเพิ่มความรู้และติดตามความก้าวหน้าในเทคโนโลยีเรื่องการจัดการต้นกำเนิดรังสีปิดผนึก และส่งเสริมความร่วมมือประสานงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเทศสมาชิก ตลอดจนเพื่อพัฒนา ส่งเสริมการจัดการกากกัมมันตรังสีในปลอดภัยอย่างยั่งยืน และสร้างความเข้าใจในการเตรียมการด้านการขอใบอนุญาตจัดการกากต้นกำเนิดรังสีที่เลิกใช้ รวมถึงการขออนุญาตทิ้งกากแบบถาวร

ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีการใช้ต้นกำเนิดกัมมันตรังสีประมาณ 20,000 ชิ้น เพื่อประโยชน์ทั้งในด้านการศึกษา การรักษาทางการแพทย์ และการผลิตโรงงานอุตสาหกรรม โดยต้นกำเนิดกัมมันตรังสีจะมีการขึ้นทะเบียนไว้ทุกชิ้นเพื่อการตรวจสอบ ซึ่ง สทน.มีหน้าที่ในการดูแลและบำบัดต้นกำเนิดกัมมันตรังสีเหล่านั้นในกรณีที่มีการเลิกใช้งานแล้ว เพื่อความปลอดภัย

ขณะเดียวกัน ดร.สมพร กล่าวว่า ผู้คนจำนวนมากมักจะมองการศึกษาวิจัยพัฒนาเกี่ยวกับนิวเคลียร์ในทางลบ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วมีการศึกษาและนำนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์ในหลายด้านอย่างแพร่หลายทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น การรักษาผู้เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง เป็นต้น โดยปัจจุบันในประเทศไทยโดย สทน.ก็มีการผลิตไอโซโทปจากสารกัมมันตภาพรังสี นำไปใช้ในการรักษาคนไข้ได้ถึงประมาณ 60,000 คนต่อปี ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับจากการรักษาชีวิตคนถือว่าประเมินค่าไม่ได้

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) แสดงความเห็นว่า ขณะนี้ประเทศไทยควรจะมีการศึกษาและผลักดันอย่างจริงจังในการสร้างโรงไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ ได้แล้วเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานในประเทศ เนื่องจากปัจจุบันการผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศไทย มีการพึ่งพิงการใช้ก๊าซธรรมชาติที่ไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศมากเกินไป คิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ซึ่งถือว่าเสี่ยงอย่างมากที่จะเกิดปัญหาตามหากเกิดภาวะขาดแคลน ดังนั้น จึงน่าจะมีการกระจายสัดส่วนการผลิต ซึ่งการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นับเป็นทางเลือกที่ดีและเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะเป็นพลังงานสะอาด และมีการใช้กันอยู่ทั่วโลก

โดยตามแผนพัฒนาพลังงานของประเทศไทยได้เคยมีการกำหนดว่าในปี ค.ศ.2020 หรือใน 12 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยควรจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 โรง มูลค่าการลงทุนประมาณ 70,000 ล้านบาทต่อโรง แต่ละโรงมีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้า 4,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะคิดเป็นสัดส่วน 9% ของกำลังผลิตทั้งหมด ทั้งนี้ยืนยันว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีความปลอดภัยอย่างแน่นอนและไม่มีการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม เหมือนโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมทั้งคุ้มค่าการลงทุนด้วย

สำหรับจุดที่ตั้งที่เหมาะสมของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น ควรจะต้องอยู่ใกล้แหล่งน้ำขนาดใหญ่ตามธรรมชาติเพื่อใช้น้ำในการหล่อเย็น โดยในประเทศไทยควรจะเป็นพื้นที่ตามแนวชายฝั่งทะเลในภาคใต้ หากเป็นในพื้นที่ภาคเหนือน่าจะเป็นจังหวัดพะเยา ที่มีกว๊านพะเยา เป็นแหล่งน้ำ เบื้องต้นทราบว่ามีการศึกษาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมอยู่ประมาณ 10 จุด เพื่อเป็นตัวเลือกในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น