xs
xsm
sm
md
lg

ปส.เผยไทยใช้ไฟลดลง ปรับแผนสร้าง "โรงนิวเคลียร์" จาก 2 เหลือ 1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศิริชัย เขียนมีสุข เลขา ปส.
เลขาฯ ปส.เผยทั้งอุตสาหกรรมและครัวเรือนใช้ไฟฟ้าลดลง ปรับแผนสร้างโรงนิวเคลียร์จาก 2 เหลือ 1 พร้อมกันนี้ต้องเข้าใจการควบคุมวัสดุนิวเคลียร์ และสารรังสีไม่ให้ตกถึงมือผู้ก่อการร้าย แจงอนาคตสำนักงาน ต้องแยกเป็นอิสระไม่ขึ้นกับกระทรวงใดหรือถูกการเมืองแทรกแซง เพื่อกำกับดูแลกิจการนิวเคลียร์ตามมาตรฐานสากล

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ร่วมกับกลุ่มประเทศที่มีบทบาทในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ทางนิวเคลียร์ NSG (Nuclear Supplier Group) จัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การควบคุมการส่งออกนิวเคลียร์" (Nuclear Export Control) ณ ห้องประชุมใหญ่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดจาก 14 ประเทศซึ่งเป็น 8 ประเทศจากกลุ่มอาเซียน อาทิ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว อินโดนีเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐฯ เป็นต้น

นายศิริชัย เขียนมีสุข เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า การจัดประชุมครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการประสานของทบวงปรมาณูเพื่อสันติ (ไอเออีเอ) ให้รู้จักกับตัวแทนกลุ่ม NSG เมื่อครั้งที่เขาได้เข้าร่วมการประชุมใหญ่สามัญประจำปีในปีที่ผ่านมา และทางกลุ่มได้ทาบทามให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนี้ จึงได้ร่วมกับสถานทูตเยอรมนีในการจัดงานนี้ และผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มดังกล่าว ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะได้ให้ความรู้ในเรื่องการส่งออกและควบคุมวัสดุนิวเคลียร์

"ทั้งนี้วัสดุนิวเคลียร์หรือวัสดุรังสีนั้น สามารถนำไปผลิตอาวุธรนิวเคลียร์ได้ จึงต้องมีการควบคุม ไม่ให้มีการลักลอบส่งไปผลิตอาวุธนิวเคลียร์ และป้องกันการก่อการร้าย สำหรับไทยเป็นประเทศที่อยู่ในฐานะผู้ซื้อวัสดุนิวเคลียร์ โดยมี ปส.เป็นหน่วยงานกำกับดูแล และเป็นหน่วยงานกลางระหว่างประเทศ อีกทั้งไทยมีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปี 2563 จึงต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้" นายศิริชัยกล่าว

เลขาธิการ ปส.เปิดเผยว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) ในปี 2550 ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีนั้น มีแผนสร้างโรงไฟฟ้า 2 แห่งในปี 2563 แต่เพิ่งมีการปรับปรุงแผนดังกล่าวใหม่เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงนี้ทำให้มีการใช้ไฟฟ้าลดลง ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน ทำให้ปัจจุบันผลิตไฟฟ้าเกินอยู่มากพอสมควร จึงมีแผนปรับลดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงเหลือ 1 โรง

"การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ส่วน ปส.มีหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องการอนุญาตให้สร้าง โดยผู้ขอต้องมีข้อมูลมานำเสนอ การเลือกสถานที่ตั้ง ข้อมูลความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ปส.จะเป็นผู้วิเคราะห์แล้วจึงอนุญาตให้สร้าง แต่อีกหน่อย ปส.ต้องโตขึ้น และเป็นหน่วยงานอิสระที่ไม่ขึ้นกับหน่วยงานไหน เป็นอิสระจากการเมือง ไม่ให้มีใครมาแทรกแซง ซึ่งความอิสระนี้เป็นมาตรฐานสากลระหว่างหน่วยงานปฏิบัติงานกับหน่วยงานกำกับดูแล" นายศิริชัยกล่าว

สำหรับหัวข้อในการประชุมครั้งนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการควบคุม การส่งออกวัสดุนิวเคลียร์จากประเทศที่เกี่ยวข้องกับวัสดุนิวเคลียร์ โดยหลักๆ คือ กลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้จากฮังการี สหรัฐฯ เยอรมนีและฝรั่งเศส เข้าร่วม นอกจากนี้ยังมีประเทศแอฟริกาใต้และออสเตรเลียซึ่งส่งออกยูเรเนียมที่ยังไม่ผ่านการเสริมสมรรถนะมาเข้าร่วมในการนี้ด้วย

"ไอเออีเออยากให้เราจัดงานประชุมลักษณะนี้ และเราก็ต้องจัดอยู่แล้ว เพราะอีกหน่อยเราต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับการใช้วัสดุกัมมันตรังสีและสารรังสี" เลขาธิการ ปส.กล่าว

ทางด้าน ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน.กล่าวว่าบทบาทของ สทน.นั้น อยู่ในฐานะผู้ใช้สารรังสี นำเข้า-ส่งออก สั่งซื้อเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ สารรังสี ซึ่งเป็นสารต้องห้าม และต้องมีผู้ควบคุมดูแล ซึ่งไอเออีเอเป็นผู้ควบคุมการใช้สารรังสีทั้งหมด เพื่อติดตามว่าการสั่งซื้อสารรังสีนั้น มีสารรังสีไปอยุ่ที่ไหนบ้าง หากตกอยู่ในมือคนที่ 3 หรือผู้ก่อการ้ายก็จะเป็นอันตราย ทั้งนี้ไทยสารรังสีครอบครองประมาณ 23,000 ชิ้น โดยส่วนใหญ่อยู่ในโรงพยาบาล โรงงานอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัย.
กำลังโหลดความคิดเห็น