แยกตัวจาก ปส.ได้ 3 ปี ยังไม่มีเครื่องปฏิกรณ์ให้ใช้ สทน.ทำเรื่องขอตัวใหม่ เพราะเครื่องปฏิกรณ์เก่ายังค้าง "คดีองครักษ์" ส่วนเครื่องเก่าที่บางเขน ใช้มานานเกือบ 50 ปี ยังต้องทนใช้ต่อไป ระดมวิศวะ-นักวิทย์ซ่อมบำรุงเต็มที่
ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ระหว่างวันทำบุญครบรอบ 3 ปีของสถาบัน ณ สำนักงานสถาบัน อ.องครักษ์ จ.นครนายก เมื่อวันที่ 24 เม.ย.52 ว่า ได้ทำเรื่องขอสร้างเครื่องปฏิกรณ์ตัวใหม่ เนื่องจากเครื่องปฏิกรณ์ที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ทำสัญญากับบริษัทจีเอ (GA) นั้น คณะรัฐมนตรีอนุมัติตั้งแต่ปี 2540 และยังไม่ได้เริ่มต้นก่อสร้างเลย
"ตัวเก่า (เครื่องปฏิกรณ์ที่ ปส.ได้รับอนุมัติจาก ครม.) ต้องรอการดำเนินการทางคดี ส่วน สทน.เกิดใหม่มาได้ 3 ปี เราก็ทำเรื่องใหม่ของเราเอง ส่วนที่ ปส.ขอไว้ ก็ยังคงค้างคดีอยู่ แต่ถ้าไม่ขอเราก็ไม่มีเครื่องปฏิกรณ์ใช้เลย" ดร.สมพรกล่าว
นอกจากนี้ ในส่วนของเครื่องเก่าที่บางเขน ดร.สมพรชี้แจงว่า ก็ยังพยายามให้ใช้งานไปได้เรื่อยๆ เพียงแค่เครื่องอ่อนกำลังทางด้านรังสีลง ซึ่งวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ต้องดูแลเต็มที่ บำรุงรักษาไปเรื่อยๆ แต่ประสิทธิภาพไม่เต็ม 100%
"เหมือนรถเก่าแล้วก็วิ่งได้เต็มที่ 70-80% ตัวบ่อปฏิกรณ์ก็มีอายุ 47 ปีแล้ว ก็ยังใช้ได้ ต่างชาติมาเห็นเขาก็ทึ่งว่าเรายังใช้ของเก่าได้อย่างไร" ดร.สมพรเปรียบเทียบ
พร้อมกันนี้ ดร.สมพรยังได้นำสื่อมวลชน เยี่ยมชมผลงานของ สทน. และบอกว่า 3 ปีที่ผ่านมานั้น สทน.ได้มีส่วนช่วยเหลือภาคการส่งออกอาหารปริมาณมาก โดยอาหารที่ส่งออกนั้น ต้องผ่านการตรวจวัดระดับรังสีจากสำนักงานเสียก่อน สินค้าอาหารอย่างข้าวสาร เม็ดสาคูและน้ำตาลซึ่งมีมูลค่าส่งออกต่งประเทศปีละกว่า 4 หมื่นล้านบาทก็ผ่านการตรวจวดระดับรังสีจาก สทน.
นอกจากนี้ สทน.ยังฉายรังสีอาหารส่งออกอีกประมาณ 70 ชนิด อาทิ อาหารแช่แข็งที่ฉายรังสี เพื่อควบคุมปริมาณเชื้อโรค ผลไม้ฉายรังสีซึ่งสำนักงานสามารถให้บริการได้วันละ 20 ตัน แต่บางวันมีความต้องการมากถึง 100 ตัน เป็นต้น
ในส่วนปริมาณที่ไม่สามารถรองรับได้นี้ สทน.ได้ขอความร่วมมือไปยังบริษัทเอกชน 5 แห่งให้ช่วยฉายรังสีผลไม้ส่งออก โดยบริษัทเหล่านั้นเป็นบริษัทฉายรังสีเครื่องมือแพทย์ ที่ได้รับค่าตอบแทนการฉายรังสีกิโลกรัมละ 100 บาท แต่ได้ช่วยฉายรังสีผลไม้ด้วยค่าตอบแทนกิโลกรัมละ 7 บาท
อีกทั้ง สทน.ยังได้ผลิตไอโซโทปเพื่อใช้ในทางการแพทย์ภายในประเทศ ซึ่งสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ประมาณ 30,000 ราย โดยได้ผลิตยารังสี 2 แบบคือ ยาสำหรับตรวจวินิจฉัย และยารักษา
นายโกมล อังกุรรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ สทน. เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า เพิ่งได้รับงบประมาณ 85 ล้านบาท เพื่อตั้งอาคารผลิตยารังสีประเภทยาฉีดปราศจากเชื้อ โดยกำลังจะก่อสร้างอาคารซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จใน 15 เดือน
"เราผลิตยาที่ราคาถูกกว่าต่างประเทศประมาณ 10 เท่า แต่เมื่อก่อนเราอยู่ภายใต้ ปส.ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ ดังนั้นทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ตอนนี้เราแยกตัวออกมาเป็นองค์การมหาชน อย.จึงต้องปฏิบัติต่อเรา เหมือนเป็นหน่วยงานเอกชน ซึ่งการผลิตยาจะต้องทำให้ได้มาตรฐาน GMP เพื่อที่ยาของเรา จะเข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติได้ ทั้งนี้หากอยู่นอกบัญชี ทาง อย.ก็ไม่สามารถขึ้นทะเบียนยาให้เราได้ ทำให้ผู้ป่วยต้องจ่ายค่ายาเอง" นายโกมลกล่าว
นายโกมลเล่าปัญหาให้ฟังด้วยว่า บุคลากรทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ในไทยนั้นมีไม่เพียงพอ โดยมีไม่ถึง 100 ราย ทำให้ขยายการให้บริการรับรังสีแก่ผู้ป่วยทำได้น้อย ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์บางราย ต้องรอกลืนสารรังสีเพื่อรักษานานเป็นเดือน
อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์จากทางสำนักงานก็ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะะเร็งประมาณ 6-8 หมื่นราย โดยผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ตอบสนองต่อการรักษาด้วยรังสีได้ดีกว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งอื่นๆ
ทางด้าน ดร.สมพร ยังได้กล่าวด้วยว่า 3 ปีที่ผ่านมานั้น สทน.เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้น โดยเฉพาะการบอกต่อแบบปากต่อปาก แต่คิดว่ายังต้องประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้ เพราะคำว่า "รังสี" และ "นิวเคลียร์" ยังเป็นคำที่คนกลัว อยากให้คนหายกลัว เพราะรังสีเป็นเรื่องธรรมชาติ แม้แต่ในน้ำลายและเลือดของเราก็ยังมีรังสี แต่เป็นรังสีที่มีอยู่ในธรรมชาติ มีปริมาณน้อย ส่วนรังสีของสำนักงานนั้นเป็นรังสีปริมาณสูง.