ทูตจีนด้านวิทยาศาสตร์เผย พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบจีน ช่วยให้เลี้ยงประชากรที่ต้องการอาหารบริโภคคิดเป็น 22% ของโลก ได้ด้วยพื้นที่เพาะปลูกที่คิดเป็นสัดส่วนของโลกเพียง 7% เผยจีนทุ่มงบพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอันดับ 4 ของโลก และบุคลากรด้านนี้ถึง 32 ล้านคน มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก
สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศและวิเทศสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดบรรยายพิเศษเรื่อง "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้จีนเป็นมังกรที่ยิ่งใหญ่ในเอเชียได้อย่างไร" เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.52 ณ อาคารสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (โยธี) โดย นายเหมา กั๋วชิ่ง (Mao GuoQing) เลขานุการเอกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานเอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย เป็นผู้บรรยายถึงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน โดยเขาได้กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า จริงๆ แล้วเขาไม่บรรยายในหัวข้อดังกล่าวแต่ก็ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างและ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ของจีน
นายเหมากล่าวว่า ช่วงปี 2492-2509 จีนเดินตามอดีตสหภาพโซเวียตหรือรัสเซียในปัจจุบันในทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การเมืองหรือวิทยาศาสตร์ แต่ช่วง 10 ปีของการปฏิวัติวัฒนธรรมทำให้ "ทุกสิ่งทุกอย่าง" ถูกทำลายลง รวมทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย จีนเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในปี 2521 จนกระทั่งปัจจุบันแดนมังกรก็ยังคงเป็นประเทศพัฒนาอยู่
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจีนจะมูลนิธิวิทยาศาสตร์ที่มีโครงสร้างคล้ายกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ตามที่นายเหมาได้กล่าวระหว่างบรรยาย แต่จีนมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่แตกต่างจากไทย อยู่หลายชั้น อย่างแรกคือจำนวนบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มากถึง 32 ล้านคน ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของโลก และในประชากร 10,000 คน จีนมีนักวิทยาศาสตร์และบุคลากรทางด้านเทคโนโลยี 298 คน ส่วนไทยมีเพียง 5.7 คน (ตามที่ ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ข้อมูลระหว่างบรรยาย)
นายเหมากล่าวว่า จีนมียุทธศาสตร์หลักในการเสริมกำลังของประเทศผ่านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการศึกษา ควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์การพัฒนาอยางยั่งยืน ซึ่งทั้งสองยุทธศาสตร์ถือเป็นนโยบายสำคัญยิ่ง ซึ่งผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ของจีนคือ องค์กรวิจัยและพัฒนาซึ่งอยู่ในความดูแลของรัฐบาล สภาวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Science) องค์กรวิจัยและพัฒนาในระดับท้องถิ่น มหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม โดยในส่วนของสภาวิทยาศาสตร์จีนนั้นมีสถาบันวิจัยและพัฒนาถึง 123 สถาบัน
ด้านการลงทุนในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนนั้นอยู่ที่อันดับ 4 ของโลก รองจากญี่ปุ่น เยอรมนีและสหรัฐฯ โดยคิดเป็นการลงทุน 1.4% ของจีดีพี (ขณะที่ของไทยอยู่ที่ 0.26%) ทั้งนี้ผลจากการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่วนหนึ่งทำให้การเกษตรของจีนสามารถเลี้ยงประชากรภายในประเทศซึ่งมีความ ต้องการอาหารคิดเป็นสัดส่วน 22% ของโลก ขณะที่มีพื้นที่เพาะปลูกเพียง 7% ของพื้นเพาะปลูกในโลก
นอกจากการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายในประเทศแล้ว นายเหมากล่าวว่าจีนยังให้ความสำคัญกับการร่วมมือวิจัยและพัฒนากับประเทศ อื่นๆ พร้อมยกตัวอย่างโครงการใหญ่ อาทิ โครงการด้านการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์และโครงการหาแผนที่ลำดับพันธุกรรมหรือ การทำจีโนม (Genome) ของข้าว ขณะเดียวกันก็มีความร่วมมือกับไทยในระดับหนึ่งแต่ยังไม่มากนัก ซึ่งอนาคตจีนและไทยยังสามารถร่วมกันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ อาทิ นาโนเทคโนโลยี ชีวเคมี การเกษตร ประมงและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ทั้งนี้ ไทยโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ลงนามกับสภาวิทยาศาสตร์จีนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ในการตกลงความเข้าใจด้านความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี เพื่อหาโครงการวิจัยร่วมกัน โดยมีการประชุมร่วมกันทุกๆ 2 ปี และยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอูฮั่น (Wuhan University) ของจีนในความร่วมมือด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์หรือจีไอเอส และเทคโนโลยีภาพถ่ายระยะไกลหรือรีโมทเซนซิง (Remote Sensing) ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯได้ส่งนักศึกษาไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วย.