สวทช. เตรียมโชว์ผลงานวิจัยครั้งใหญ่แห่งปี ในงาน NAC 2009 นำขบวนด้วยผลงานเด่นจากเอ็มเทค ต้นแบบจอแสดงผลแบบ OLED ที่พัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยไทย ประหยัดพลังงานกว่าจอ LCD 40% พร้อมร่วมมือเอกชนพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ หวังสร้างโอกาสธุรกิจอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไทย งานวิจัยด้านเกษตรก็เด่นไม่แพ้กัน พัฒนาถุงโพลีเทคห่อมะม่วง ถูกกว่านำเข้าถึงครึ่งหนึ่ง
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แถลงข่าวการจัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2552 (NAC 2009) เมื่อวันที่ 4 มี.ค.52 ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมแถลงผลงานเด่นที่เตรียมนำมาโชว์ในงานด้วย เป็นต้นแบบจอแสดงผลแบบโอเล็ด (OLED) หรือจอแบบไดโอดเปล่งแสงจากสารอินทรีย์ ที่พัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยจากสารอินทรีย์เรืองแสง โดยนักวิจัยเอ็มเทค ซึ่งมีสื่อมวลชนร่วมงานแถลงข่าวคับคั่ง รวมทั้งทีมข่าว "วิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์"
ดร.ธนศาสตร์ สุขศรีเมือง และดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ นักวิจัยเอ็มเทคผู้พัฒนาต้นแบบจอแสดงผลโอเล็ด เปิดเผยว่า เป็นครั้งแรกที่ไทยเราสามารถพัฒนาจอโอเล็ดได้เอง จากสารอินทรีย์เรืองแสงที่เราพัฒนาขึ้นเอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตอันใกล้
ด้วยข้อดีหลายประการของจอแสดงผลแบบโอเล็ด โดยเฉพาะในด้านการประหยัดพลังงาน ที่หากได้รับการพัฒนาอย่างเต็มประสิทธิภาพ จะช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่า 40% เมื่อเทียบกับจอแอลซีดี (LCD) ซึ่งจอโอเล็ดนี้มีแนวโน้มว่าจะเข้ามาแทนที่จอแสดงผลแบบที่ใช้ในปัจจุบัน ทั้งโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ โดยคาดว่าภายใน 5 ปีนี้ โทรศัพท์มือถือที่เป็นจอโอเล็ดจะแพร่หลายมากขึ้น
นักวิจัยกล่าวต่อว่า ขณะนี้เอ็มเทคสามารถพัฒนาสารอินทรีย์เรืองแสงได้หลากหลายสี และพัฒนาวิธีการขึ้นรูปให้เป็นแผ่นฟิล์มบางระดับนานาเมตร แล้วนำมาเคลือบวัสดุต่างๆ เช่น กระจก หรือพลาสติก ซึ่งกระบวนการสังเคราะห์สารเรืองแสงก็ไม่ยุ่งยาก และหากเทียบกับของต่างประเทศแล้ว ของเรายังมีความสเถียรที่อุณหภูมิสูงได้ดีกว่าด้วย และนับว่าเป็นประเทศแรกๆ ที่สามารถพัฒนาได้ โดยขณะนี้กำลังขอยื่นจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีดังกล่าว
เนื่องจากจอแสดงผลแบบโอเล็ดมีความบางเฉียบ และสามารถออกแบบให้บิดโค้งงอได้ จึงสามารถนำมาใช้เป็นแผ่นแสง หรือแหล่งกำเนิดแสงแทนการใช้หลอดไฟทั่วไปได้ สามารถปรับสีของแสงได้ และทำให้มีลักษณะโปร่งใสเมื่อปิดสวิตซ์ได้ด้วย ซึ่งนอกจากช่วยประหยัดพลังงานและยังช่วยในเรื่องการออกแบบอุปกรณ์ส่องสว่าง อาคารบ้านเรือน หรือแม้แต่หน้าปัดรถยนต์ก็ได้
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการวิจัยกันมากว่า 5 ปี แต่หากจะนำไปใช้จริงในระดับอุตสาหกรรม จะต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกมาก ซึ่งขณะนี้กำลังวางแผนจะร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีจอโอเล็ด อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ และอุปกรณ์ให้แสงสว่างต่าง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีถุงโพลีเทคเป็นอีกหนึ่งผลงานเด่นของเอ็มเทค ที่จะนำมาจัดแสดงในงานด้วย ซึ่งเป็นถุงพลาสติกที่มีคุณสมบัติคล้ายกระดาษ สำหรับห่อผลไม้
ระยะแรกเอ็มเทคพัฒนาเป็นถุงห่อมะม่วง ประเทศไทยส่งออกมะม่วงเป็นจำนวนมาก โดยมักพบปัญหาคือสีผิวของมะม่วงไม่สม่ำเสมอ มีจุดด่างดำที่เกิดจากเพลี้ยและแมลงต่างๆ เกษตรกรมักแก้ปัญหาโดยใช้ถุงกระดาษนำเข้าจากต่างประเทศในการห่อมะม่วง ที่กำลังเจริญเติบโต เพื่อให้ผิวมะม่วงมีสีเหลือง เรียบเนียนสวย มันวาว ไม่มีรอยด่างดำ ตรงตามมาตรฐานการส่งออก
ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าวว่าถุงโพลีเทคจะช่วยทดแทนการนำเข้าถุงกระดาษห่อมะม่วงได้ ซึ่งมีต้นทุนถูกกว่าถุงนำเข้าราวครึ่งหนึ่ง และยังสามารถใช้ห่อซ้อได้หลายครั้ง ปัจจุบันไทยนำเข้าปีละกว่า 2 พันล้านถุง คิดเป็นมูลค่าราว 4 พันล้านบาท ซึ่งถุงโพลีเทคจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้กับเกษตรกรได้มาก
ด้าน ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า เป้าหมายหลักของ สวทช. คือการสร้างขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย โดยนักวิทยาศาสตร์ของไทยเอง เพื่อที่จะมารองรับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่จำเป็นในอนาคตอันใกล้ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ เมื่อปี 2551 อุตสาหกรรมดังกล่าวของไทยมีมูลค่าการส่งออกรวมกันประมาณ 8 แสนล้านบาท ซึ่งนักวิจัยไทยจะต้องมีองค์ความรู้ที่จะพัฒนาวัสดุและเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ได้เองภายในประเทศ
"หากเรามีเทคโนโลยีนี้แต่เนิ่นๆ จะช่วยปูพื้นฐานให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยเราแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นและแข่งขันได้ในระดับโลก" ดร.ศักรินทร์กล่าว
สำหรับงาน NAC 2009 นี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 มี.ค.52 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ซึ่งจะมีการสัมมนาวิชาการและการจัดแสดงผลงานวิจัยของ สวทช. เช่น นิทรรศการโครงการเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่โครงการพระราชดำริ, การวิจัยพัฒนาผ้าฝ้ายและฝ้าไหมป้องกันแบคทีเรีย กันน้ำ และให้สีติดทนนานด้วยนาโนเทคโนโลยี, เทคโนโลยีเซรามิกขั้นสูง เป็นต้น เพื่อเผยแพร่งานวิจัยสู่ประชาชนและกระตุ้นให้เกิดการต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ ผู้สนใจสามารถเข้าชมงานได้ โดยดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.nstda.or.th/nac2009