xs
xsm
sm
md
lg

William Herschel ผู้พบดาวยูเรนัส (1)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

William Herschel
มนุษย์ เมื่อ 300 ปีก่อนรู้จักดาวเคราะห์ในระบบสุริยะเพียง 6 ดวง คือ พุธ ศุกร์ โลก อังคาร พฤหัสบดี และเสาร์ เพราะสามารถเห็นดาวเคราะห์เหล่านี้ได้ด้วยตาเปล่า ส่วนตำราดาราศาสตร์ในยุคนั้นก็จะกล่าวถึงดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ทั้ง 6 เท่านั้น หาได้มีเรื่องของดาราจักร กำเนิดของเอกภพ หลุมดำ ดาวเคราะห์ที่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ ฯลฯ แม้แต่น้อย แต่ก็มีนักดาราศาสตร์ท่านหนึ่งที่ได้เปิดโลกดาราศาสตร์ให้กว้างใหญ่ไพศาลด้วยการสร้างกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ จนทำให้สามารถเห็นเนบิวลาและดาราจักรต่างๆ ได้อีกมากมาย รวมถึงดาวเคราะห์ดวงที่ 7 ของระบบสุริยะด้วย เขาคือ William Herschel

William Herschel ถือกำเนิดที่เมือง Hanover ในเยอรมนีเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2281(รัชสมัยสมเด็จพระบรมโกศ) ใน Hanover วัยเด็กเขาตั้งใจจะเป็นนักดนตรีประจำวงดนตรี Hanover Guard เพราะดื่มด่ำกับเสียงดนตรีมาก จนได้ประพันธ์เพลงซิมโฟนีถึง 26 เพลง ในขณะที่มีอายุยังไม่ถึง 20 ปี และในเวลาเดียวกันเขาก็สนใจดาราศาสตร์กับคณิตศาสตร์ด้วย เมื่อ Herschel อายุ 19 ปีได้เกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนี เมื่อกองทัพฝรั่งเศสบุกยึดครองนคร Hanover ได้ Herschel จึงต้องอพยพหลบหนีไปอังกฤษ และเริ่มหาเลี้ยงชีพโดยการแต่งเพลงกับเล่นดนตรี รวมถึงฝึกพูดภาษาอังกฤษ และเปลี่ยนชื่อเยอรมันของตนจาก Friedrich Wilhelm มาเป็น William

อีก 9 ปีต่อมา Herschel ได้รับเลือกเป็นผู้เล่นออร์แกนที่โบสถ์ Octagon Chapel ในเมือง Bath และถึงจะมีงานดนตรีล้นมือ แต่ Herschel ก็ยังมีเวลาอ่านตำราดาราศาสตร์ของ Robert Smith ที่ตีพิมพ์ในปี 2281 เรื่อง A Complete System of Opticks ซึ่งได้อธิบายวิธีการสร้างกล้องโทรทรรศน์และอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เห็นบนท้องฟ้าด้วยอุปกรณ์นี้ Herschel รู้สึกอยากสร้างกล้องโทรทรรศน์ด้วยตนเองบ้าง จึงได้ออกแบบท่อให้พื้นที่หน้าตัดมีขนาดใหญ่เพื่อจะได้รับแสงจากดาวมากขึ้น และได้ซื้อเลนส์ขนาดใหญ่ที่เพื่อนบ้านทำขายเพื่อนำมาติดที่ปลายท่อด้วย

ในปี 2317 Herschel วัย 39 ปีประสบความเร็จในการสร้างกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงที่มีความยาวโฟกัสประมาณ 2 เมตร เมื่อมีอุปกรณ์ดีขึ้น ความทะเยอทะยานของ Herschel ก็สูงขึ้นด้วย ในปี 2319 Herschel ได้พัฒนากล้องจนกระทั่งมีความยาวโฟกัส 7 เมตร และกล้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ตามปกติเมื่อประดิษฐ์กล้องเสร็จ Herschel ก็จะนำกล้องออกขายเพื่อหารายได้ และได้สร้างกล้องประมาณ 400 กล้อง กล้องที่ใหญ่ที่สุดมีความยาวประมาณ 12 เมตร ซึ่งเขาใช้ดูดวงจันทร์ของดาวเสาร์ และดูดาวฤกษ์ต่างๆ อีกทั้งได้บันทึกการเห็นดาวทุกดวง ทำให้มีข้อมูลดาวมากกว่านักดาราศาสตร์ทุกคนในสมัยนั้น การศึกษาสมุดบันทึกของ Herschel ทำให้รู้ว่า เขาได้พบดาวคู่ (ดาว 2 ดวงที่โคจรรอบกันและกัน) 848 คู่ หลักฐานนี้จึงสนับสนุนสิ่งที่ Newton พบคือ สรรพสิ่งแม้แต่ดาวนอกระบบสุริยะก็มีแรงดึงดูดกัน

Herschel ยังได้จัดแบ่งดาวฤกษ์ออกเป็นกลุ่มๆ ตามลำดับความสว่างอย่างละเอียดถึงขนาดว่า ถ้าดาวฤกษ์เปลี่ยนความสว่างในตัวไปไม่มาก ลำดับความสว่างของดาวดวงนั้นก็จะถูกจัดใหม่ทันที

นอกจากจะพบองค์ความรู้ทางดาราศาสตร์มากมายแล้ว Herschel ยังได้พบความรู้ฟิสิกส์ที่สำคัญหลายประการด้วย เช่น พบรังสีใต้แดง (infrared) เมื่อเขาเอากระเปาะเทอร์โมมิเตอร์ไปวางที่บริเวณนอกแถบแสงสีแดงของสเปกตรัมแสงอาทิตย์ และได้เห็นลำปรอทในเทอร์โมมิเตอร์พุ่งสูง เขาจึงเรียกรังสีที่ตามองไม่เห็นว่ารังสี infrared

แต่มีการค้นพบหนึ่งที่ทำให้ Herschel มีชื่อเสียงอย่างอมตะ และทำให้เขาเลิกอาชีพนักดนตรี นั่นคือการพบดาวเคราะห์ดวงที่ 6 ของระบบสุริยะในเวลาค่ำของวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2324 ซึ่งเป็นคืนที่น้องสาวของ Herschel ชื่อ Caroline Herschel ไม่ได้อยู่บ้าน เขาได้เห็นดาวสว่างดวงหนึ่งบนท้องฟ้า และเมื่อเขาปรับกำลังขยายภาพของกล้องโทรทรรศน์ ดาวดวงนั้นก็มีขนาดใหญ่ขึ้นตามที่ปรับ อีก 3 วันต่อมา เมื่อเขาหวนกลับมาดูดาวดวงนั้นอีก เขาได้เห็นดาวเลื่อนตำแหน่งไป เขาจึงคิดว่า มันอาจเป็นดาวหาง แต่ก็ไม่เห็นหางของมันเลยแม้แต่น้อย เพราะเป็นคนไม่ชำนาญมากในการวัดตำแหน่งของดาว Herschel จึงต้องใช้เวลานานกว่าจะรู้ชัดว่าสิ่งที่เห็นไม่ใช่ดาวหาง และเมื่อได้เห็นวงโคจรว่ามีลักษณะเป็นวงกลมมิใช่พาราโบลา Herschel ก็ตระหนักในทันทีว่า เขาได้พบดาวเคราะห์ดวงใหม่แล้ว และดาวดวงนี้อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 2,870 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณ 19 เท่าของระยะห่างที่โลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ ดังนั้นเมื่อมองจาก Uranus โลกจะมีขนาดเท่าหัวเข็มหมุด

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
กล้องโทรทรรศน์ที่ยาว 7 เมตร ที่ Herschel สร้างในปี 2326
ภาพร่างของดาราจักรที่ Herschel สังเกตเห็น
Uranus
กำลังโหลดความคิดเห็น