xs
xsm
sm
md
lg

ทีโอทีหนุนเอกชนคิดค้นตู้ขายชั่วโมงเน็ต เล็งติดตั้งแทนเครื่องโทรศัพท์สาธารณะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเฉลิมลาภ ศักดาปรีชา พัฒนาตู้จำหน่ายอินเทอร์เน็ตอัจฉริยะจนคว้ารางวัล ITEX 09 สาขาการสื่อสาร ที่ประเทศมาเลเซีย
เอกชนไทยพัฒนาตู้จำหน่ายอินเทอร์เน็ตอัจฉริยะ ราคาถูกกว่านำเข้าหลายเท่า ใช้งานง่ายไม่ยุ่งยาก แค่หยอดเหรียญก็สามารถเล่นอินเทอร์เน็ตกับโน้ตบุคหรือพีซีที่มีอยู่ได้ กระจายสัญญาณไกลสุด 300 เมตร พร้อมบันทึกการจราจรทางคอมพิวเตอร์ ป้องกันการทำผิดกฏหมายไอที ด้านทีโอทีเล็งพัฒนาใช้กับเครื่องโทรศัพท์สาธารณะ เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคในยุคโทรศัพท์มือถือครองเมือง

นายเฉลิมลาภ ศักดาปรีชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท มายด์ อินโนเวชั่น จำกัด พัฒนาตู้จำหน่ายอินเทอร์เน็ตอัจฉริยะ (Intelligence Wifi-Box) โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ในการวางแผนด้านการตลาด และนำไปร่วมจัดแสดงในงานงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีนานาชาติ หรือไอเท็กซ์ 09 (International Invention, Innovation and Technology Exhibition: ITEX 09) ที่จัดขึ้นในประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 15-19 พ.ค.52 ที่ผ่านมา โดยได้รับรางวัลเหรียญทอง สาขาการสื่อสาร ในงานดังกล่าวด้วย

นายเฉลิมลาภ กล่าวกับสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า การใช้อินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน เป็นลักษณะการเหมาจ่ายรายเดือนหรือรายชั่วโมง แต่ไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายตามนาทีที่ใช้งานจริง จึงเกิดแนวคิดประดิษฐ์ตู้จำหน่ายอินเทอร์เน็ตอัจฉริยะดังกล่าว โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ทีโอที จำกัด ในการพัฒนาและนำไปทดสอบการใช้งาน และเพื่อพัฒนาอุปกรณ์สำหรับนำไปใช้ทดแทนเครื่องโทรศัพท์สาธารณะที่มีบทบาทน้อยลงอย่างมากในปัจจุบันนี้

ผู้ประดิษฐ์ได้พัฒนาวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และตัวรับส่งสัญญาณไร้สายสำหรับตู้จำหน่ายอินเทอร์เน็ตอัจฉริยะ พร้อมกับออกแบบระบบเซอร์เวอร์สำหรับรองรับเครือข่ายตู้จำหน่ายอินเทอร์เน็ตให้เป็นระบบขนาดใหญ่ โดยตู้จำหน่ายอินเทอร์เน็ตอัจฉริยะนี้ได้รับออกแบบให้มีลักษณะคล้ายเครื่องโทรศัพท์สาธารณะ และสามารถกระจายสัญญาณได้ไกลสูงสุดในรัศมี 300 เมตร ขึ้นอยู่กับเครือข่ายที่ให้บริการ

จากการนำไปติดตั้งเพื่อทดลองให้บริการแก่ผู้ลูกค้าบริเวณหอพักของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต จำนวน 2 จุด และบริเวณคอนโดมิเนียมย่านสะพานควาย จำนวน 3 จุด ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมารวมเป็นเวลากว่า 4 เดือน พบว่าได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี โดยมีผู้มาใช้บริการคิดเป็นรายได้ประมาณ 8,000-10,000 บาทต่อเดือน และยังไม่พบปัญหาใดๆ นอกจากลูกค้ายังไม่ค่อยเข้าใจในการใช้บริการ และมีโครงการจะติดตั้งตู้จำหน่ายอินเทอร์เน็ตในบริเวณดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีก 6 จุด ในเร็วๆ นี้

สำหรับการใช้งานตู้จำหน่ายอินเทอร์เน็ตอัจฉริยะดังกล่าว ผู้ใช้สามารถหยอดเหรียญเพื่อซื้อชั่วโมงอินเทอร์เน็ตได้ตามความต้องการ โดยขณะนี้สามารถซื้อได้ครั้งละ 1-50 บาท จากนั้นรอรับคูปองที่ออกมาจากตู้ ซึ่งจะมีชื่อผู้ใช้ (Username) และรหัสผ่าน (Password) สำหรับเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยคิดค่าบริการตามนาทีที่ใช้งานจริง โดย 1 บาท จะสามารถใช้งานได้ 5 นาที เฉลี่ยค่าบริการนาทีละ 20 สตางค์ หากใช้ไม่หมดในคราวเดียว สามารถเก็บไว้ใช้งานในครั้งต่อไปได้นาน 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ซื้อคูปอง

ในการเข้าใช้งาน ผู้ใช้จะต้องระบุหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือหมายเลขหนังสือเดินทาง เพื่อเป็นการยืนยันบุคคลผู้ใช้งาน แต่ในอนาคตผู้ประดิษฐ์มีแผนการที่จะพัฒนาเพิ่มระบบความปลอดภัยในการเข้าใช้งาน โดยอาจพัฒนาให้มียืนยันการเข้าใช้งานด้วยการแสกนลายนิ้วมือหรือภาพถ่ายแทนการใช้หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือหมายเลขหนังสือเดินทาง

ทั้งนี้ ตู้จำหน่ายอินเทอร์เน็ตที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาเครื่องละประมาณ 200,000 บาท แต่ตู้จำหน่ายอินเทอร์เน็ตอัจฉริยะที่นายเฉลิมลาภพัฒนาขึ้นนี้มีราคาเครื่องละประมาณ 60,000 บาท และมีข้อแตกต่างที่ดีกว่าคือ ยังสามารถบันทึกข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ได้ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และมีการควบคุมการทำงานจากระบบส่วนกลางที่เชื่อมโยงถึงกันทั้งหมด จึงสามารถนำคูปองที่ซื้อจากจุดหนึ่งไปใช้งานที่จุดอื่นๆได้ไม่แตกต่างกัน ขณะที่หากเป็นตู้จำหน่ายของต่างประเทศ จะต้องใช้งานอินเทอร์เน็ต ณ บริเวณที่ซื้อบริการเท่านั้น

"ขณะนี้กำลังร่วมกับทีโอที ขยายการผลิตตู้จำหน่ายอินเทอร์เน็ตอัจฉริยะ เพื่อนำไปติดตั้งให้บริการตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ จำนวน 200 จุด และต่อจากนั้นจะพัฒนาระบบให้สามารถนำไปใช้ได้กับเครื่องโทรศัพท์สาธารณะที่มีอยู่แล้วทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประโยชน์ในการใช้งานเครื่องโทรศัพท์สาธารณะ และสร้างรายได้จากอุปกรณ์ที่มีอยู่แล้ว โดยที่ไม่จำเป็นต้องโละเครื่องโทรศัพท์เหล่านั้นทิ้งไป ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เครื่องโทรศัพท์สาธารณะมีรายได้ลดลงเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยตู้ละ 1,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น" นายเฉลิมลาภกล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์.
ตู้จำหน่ายอินเทอร์เน็ตอัจฉริยะ ใช้งานง่าย เพิ่มความสะดวกให้ผู้บริโภค และคิดค่าใช้จ่ายตามนาทีที่ใช้จริง เฉลี่ยนาทีละ 20 สตางค์
กำลังโหลดความคิดเห็น