xs
xsm
sm
md
lg

3 นวัตกรรมไทยคว้าเหรียญทอง ITEX 09 ที่มาเลเซีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนพพล พันธุ์พานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินโนว์ (ประเทศไทย) จำกัด โชว์ผลงานเจลทดสอบกรุ๊ปเลือดชุดประหยัด ธุรกิจนวัตกรรมที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและอนุญาตให้ใช้สิทธิได้จากผลงานวิจัยของ รศ.ดร.อมรรัตน์ ร่มพฤกษ์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น และได้รับรางวัลเหรียญทอง สาขาไบโอเทคโนโลยีจากงาน ITEX 09 พร้อมติด 1 ใน 6 สุดยอดนวัตกรรมที่จัดแสดงในงานดังกล่าว
ตู้ขายอินเทอร์เน็ต-เอนไซม์รีไซเคิลกระดาษลามิเนท-เจลทดสอบกรุ๊ปเลือด ประกาศศักดานวัตกรรมฝีมือคนไทย คว้า 3 เหรียญทอง ในงาน ITEX 09 ที่มาเลเซีย นักลงทุนต่างชาติเห็นโอกาสสร้างรายได้ เล็งซื้อเทคโนโลยีไปใช้ ด้านผู้บริหารทีเอ็มซีพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการหน้าใหม่ร่วมสร้างธุรกิจบนฐานงานวิจัยเพื่อแจ้งเกิดในตลาดโลก

ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้การสนับสนุนเอกชนไทยสร้างนวัตกรรมใหม่ จนได้รับรางวัล 3 เหรียญทอง ในงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีนานาชาติ หรือไอเท็กซ์ 09 (International Invention, Innovation and Technology Exhibition: ITEX 09) ที่จัดขึ้นในประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 15-19 พ.ค. ที่ผ่านมา

ผลงานนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่ไปคว้ารางวัลในระดับนานาชาติดังกล่าว ประกอบด้วย 1. ตู้จำหน่ายอินเทอร์เน็ตอัจฉริยะ (Intelligence Wifi-Box) ผลงานของ บริษัท มายด์ อินโนเวชั่น จำกัด ได้รับรางวัลเหรียญทอง สาขาการสื่อสาร 2. เอนไซม์สำหรับการนำกระดาษลามิเนทมาใช้ใหม่ (Laminated Paper Recovery Enzyme) ผลงานของ บริษัท เคม ครีเอชั่น จำกัด ได้รับรางวัลเหรียญทอง สาขาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน และ 3. เจลทดสอบกรุ๊ปเลือดชุดประหยัด (innov gel test) ผลงานของ บริษัท อินโนว์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับรางวัลเหรียญทอง สาขาไบโอเทคโนโลยี

ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการทีเอ็มซี กล่าวว่ากับสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า ผลงานดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งอยู่ภายใต้ทีเอ็มซี โดยได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน เพื่อให้การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมของผู้ประกอบการขนาดเอสเอ็มอี (SMEs) ในช่วงเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ พร้อมกับสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เข้ารับการบ่มเพาะ เพื่อขยายฐานทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการนำนวัตกรรมฝีมือคนไทยเข้าสู่เวทีประกวดนวัตกรรมระดับโลกเช่นกรณีนี้

"สำหรับผลงานที่ไปคว้ารางวัลในระดับนานาชาติในครั้งนี้ นอกจากจะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศแล้วยังแสดงให้เห็นว่าผลงานวิจัยและพัฒนาของคนไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าใครเลย ซึ่งภาครัฐต้องให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตอนนี้ประเทศไทยเราก็มีนักวิจัยอยู่มากพอสมควร แต่ยังไม่มีการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์อย่างเพียงพอ ส่วนผู้ประกอบการไทยก็มีศักยภาพสูงพอสมควร แต่อาจยังขาดการบริหารจัดการที่ดีพอ ในขณะที่ต่างประเทศที่พัฒนาแล้วมีการจัดตั้งหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ที่สนใจลงทุนทำธุรกิจเทคโนโลยีกันมานานแล้ว" ศ.ดร.ชัชนาถกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบัน สวทช. ได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดตั้งสมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย หรือ ไทย-บิสป้า (Thai-BISPA) ขึ้นเมื่อต้นปี 52 ที่ผ่านมา โดยมีศูนย์บ่มเพาะธุรกิจที่อยู่ในเครือข่ายร่วม 90 ศูนย์ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการไทยที่เริ่มต้นทำธุรกิจเทคโนโลยีให้มีความเข้มแข็ง เพิ่มมูลค่าสินค้าให้มีความแตกต่างเหนือคู่แข่งและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และพร้อมที่จะดำเนินธุรกิจได้เองต่อไปในโลกธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง

นอกจากผู้ประกอบการไทยได้รับรางวัลเหรียญทองดังกล่าวแล้ว ผลงานเจลทดสอบกรุ๊ปเลือดชุดประหยัดยังได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 6 นวัตกรรมยอดเยี่ยมที่สุดในงาน ITEX 09 จากผลงานของนานาชาติที่เข้าร่วมจัดแสดงทั้งหมดกว่า 300 ผลงาน นอกจากนั้นผลงานเอนไซม์สำหรับการนำกระดาษลามิเนทมาใช้ใหม่ ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนในประเทศมาเลเซียจำนวน 3 ราย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อซื้อขายเทคโนโลยีหรือร่วมลงทุนในประเทศมาเลเซีย

ส่วนตู้จำหน่ายอินเทอร์เน็ตอัจฉริยะ ซึ่งส่วนหนึ่งในการพัฒนานั้นได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และทางทีโอทีมีแผนที่จะนำไปทดแทนโทรศัพท์สาธารณะที่ปัจจุบันเริ่มมีบทบาทน้อยลง ซึ่งโทรศัพท์สาธารณะรูปแบบใหม่จะให้บริการจำหน่ายอินเทอร์เน็ตได้ และยังคงให้บริการโทรศัพท์ได้เช่นเดิม.
นายเฉลิมลาภ ศักดาปรีชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท มายด์ อินโนเวชั่น จำกัด เจ้าของผลงานตู้จำหน่ายอินเทอร์เน็ตอัจฉริยะ
นายไพจิตร แสงไชย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคม ครีเอชั่น จำกัด เจ้าของผลงานนวัตกรรมเอนไซม์สำหรับการนำกระดาษลามิเนทมาใช้ใหม่
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์
กำลังโหลดความคิดเห็น