พูดถึง "อัมพวา" ชุมชนริมคลองแห่งเมืองสมุทรสงคราม หลายคนคงนึกถึงภาพล่องเรือชม "หิ่งห้อย" ยามค่ำ เรียกได้ว่าเจ้าแมลงตัวน้อยที่คุยกันผ่าน "สัญญาณแสง" คือแม่เหล็กสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ไปเยือน แต่ "ตลาดน้ำอัมพวา" ก็เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ชักชวนให้คนต่างถิ่นแวะไปเยี่ยมชมวิถีชีวิตที่แตกต่าง
"น้ำพันช์ดอกดาหลา" เครื่องดื่มจากดอกไม้ไร้ราคาที่พบเห็นดาษดื่นได้ตามท้องร่องของสวนผลไม้ และเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เครื่องดื่มดังกล่าวปรุงสูตรโดย นางสำเนียง ดีสวาสดิ์อดีตแม่บ้านที่มีช่วยสร้างสีสันให้ตลาดน้ำอัมพวาด้วยการขายเครื่องดื่มจากลูกสำรอง ซึ่งเคยได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงหนึ่ง จนกระทั่งเทศบาลตำบลอัมพวาได้ติดต่อให้เธอช่วยนำงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จไปต่อยอด
ผลการวิจัยคุณประโยชน์ของดอกไม้ 5 ชนิด โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จ ได้แก่ ดอกกุหลาบ ดอกบัวหลวง ดอกเข็ม ดอกดาหลาและดอกอัญชัญ พบว่าดอกไม้เหล่านี้มีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าชาเขียวถึง 5 เท่า โดยดอกเข็มแดงมีสารต้านอนุมูลอิสระมากที่สุดถึง 99.5 % ส่วนกุหลาบ อัญชัญ และดอกบัวหลวงมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่า 90% ขณะที่ดอกดาหลามีสารต้านอนุมูลอิสระ 76%
การแปรรูปดอกไม้ชนิดอื่นๆ ดูจะไม่เป็นปัญหามากนัก แต่สำหรับดอกดาหลา ไม้ตระกูลขิงที่มี "เผ็ด เปรี้ยว ฉุน" นั้นเป็นความท้าทายของเธออย่างยิ่งที่จะต้องปรุงเครื่องดื่มโดยดึงรสชาติและกลิ่นเฉพาะตัวนี้ออกมา หลังจากลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็ได้เครื่องดื่มที่ขายดีที่สุดในบรรดาเครื่องดื่มจากดอกไม้ทั้งห้าชนิดของเธอ
"ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ บางครั้งเททิ้งเป็นหม้อๆ ก็มี " สำเนียงเล่าถึงความพยายามในการปรับปรุงเครื่องดื่มจากดอกไม้ ให้กับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ฟังภายในร้านค้าริมคลองในอัมพวา เธอเผยด้วยว่าครั้งแรกที่ผลิตออก 100 ขวดก็ขายหมดทันที ปัจจุบันยิ่งเป็นที่รู้จักผ่านสื่อมากขึ้น ทำให้ช่วงศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ขายเฉพาะน้ำพันช์ดอกดาหลาอย่างเดียวได้ถึง 1,000 ขวด ยังไม่รวมเครื่องดื่มน้ำดอกไม้อื่นๆ ที่ขายได้ไม่ต่ำกว่า 800 ขวด และนอกจากวางขายในตลาดน้ำแล้ว ยังมีลูกค้าจากระนอง ชลบุรี และจังหวัดใกล้เคียงมารับเครื่องดื่มของเธอไปขายต่ออีก นอกจากนี้ดอกดาหลายังมีมูลค่าขึ้น โดยขายได้ดอกละ 5 บาท
"ถ้าไม่มีงานวิจัยพี่ก็ไม่กล้าเสี่ยงที่จะทำเหมือนกัน" เจ้าของเครื่องดื่มน้ำดอกไม้ "ตราสำเนียง" ประจำตลาดน้ำอัมพวาบอกกับเรา และบอกด้วยว่า ตอนนี้เธอยังต้องการเทคโนโลยีที่จะนำมายืดอายุเครื่องดื่มจากที่เก็บไว้ได้เพียง 7 วัน ให้เก็บไว้ได้นานขึ้น ซึ่งล่าสุดได้รับความช่วยเหลือจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ที่พาเธอไปดูงานเรื่องการทำพลาสเจอไรซ์และสเตอริไรซ์อาหารที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ภายหลังจากการดูงานสำเนียงบอกว่า เธอได้กลับมาปรับกระบวนการผลิตนิดหน่อย โดยใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วและไม่ต้องลงทุนเพิ่ม นอกจากนี้ยังได้ซื้อเครื่องทดสอบความหวานจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาใช้ ซึ่งช่วยให้เธอควบคุมคุณภาพของเครื่องดื่มน้ำดอกไม้ได้
การนำความรู้เข้าไปช่วยเหลือเจ้าของกิจการเครื่องดื่มในตลาดน้ำอัมพวาของ iTAP นี้ เป็นส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาผู้ประการรายเล็กในโครงการ "การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนตลาดน้ำอัมพวา" ของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ซึ่ง ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์กล่าวว่า ทีเอ็มซีได้ช่วยเหลือบริษัทเล็กๆ ให้สามารถแข่งขันได้ โดยเข้าไปช่วยทางด้านเทคโนโลยี ตั้งแต่เทคโนโลยีที่เหมาะสมไปจนถึงเทคโนโลยีขั้นสูง แต่ก็ไม่ได้ทำงานกับชุมชนมากนัก จนกระทั่งปี 2552 นี้ เศรษฐกิจโลกได้ส่งผลกระทบกับเยอะ จนมีบริษัทต่างๆ ปิดไปเยอะ ทำให้มีคนกลับถิ่นฐานจำนวนมาก ทางศูนย์จึงได้ลงมาดูในระดับชุมชนว่า จะนำเทคโนโลยีอะไรที่ไปช่วยเก็บรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเอาไว้ได้
"อัมพวาเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่เรามองว่ามีความพร้อม ซึ่งเราไม่ได้รายแรกที่เข้ามา เพราะเขาได้เปิดตลาดน้ำกันตั้งแต่ปี 2547 เรามองว่าเอกลักษณ์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของที่นี่น่าจะแข่งขันได้ ถ้าได้รับการส่งเสริมที่ถูกต้อง ที่ทำขนมอร่อย อาหารอร่อย ใกล้แหล่งวัตถุดิบสำคัญอย่างน้ำตาลมะพร้าว จึงมีโจทย์ว่าจะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยได้อย่างไร" ศ.ดร.ชัชนาถกล่าว และบอกว่ามี 3 โครงการที่ทีเอ็มซีเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการในตลาดน้ำอัมพวา คือ โครงการเครื่องดื่มดอกไม้ โครงการกาแฟโบราณ และโครงการข้าวแต๋น ซึ่งทั้งหมดเป็นโครงการที่ทางเทศบาลตำบลอัมพวาร้องขอให้ทีเอ็มซีเข้าไปช่วยปรับปรุง
"ข้าวแต๋นลุงแว่น" ของศุภชาติ เจียมศิวานนท์ เป็นผู้ประกอบการอีกหนึ่งรายที่ได้รับคัดเลือกจากเทศบาลตำบลอัมพวาให้เข้าร่วมโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนอัมพวา โดยเอกลักษณ์ข้าวแต๋นลุงแว่นคือใช้น้ำตาลมะพร้าว ขณะที่ข้าวแต๋นทั่วไปจะใช้น้ำตาลอ้อย ทั้งนี้แม้ว่าจะมีลีลาและวาทะในการขายที่ดึงดูดลูกค้าได้ดีอยู่แล้ว แต่ลุงแว่นยังมีปัญหาในเรื่องการทอดไม่ให้อมน้ำมัน ซึ่ง iTAP ที่เข้าร่วมพัฒนาวิสาหกิจชุมชนตลาดน้ำอัมพวาตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยแก้ปัญหา
"หลังจากได้คุยตอนนี้ก็ทอดข้าวแต๋นไม่อมน้ำมันแล้ว" ลุงแว่นกล่าวบอกเทคนิคคร่าวๆ คือข้าวเหนียวที่ตากแห้งนั้นต้องไม่แห้งมากหรือน้อยเกินไป ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญ และผู้เชี่ยวชาญจากโครงการยังมีส่วนช่วยเหลือลุงแว่นในการคัดเลือกพันธุ์ข้าวเหนียวที่เหมาะสมสำหรับการทอดข้าวแต๋น ที่ช่วยระบุพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมว่าเป็นข้าวเหนียว กข 6 แต่ยังมีปัญหาเรื่องการเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวและการเก็บควันน้ำมันที่รบกวนเพื่อนบ้านอีก 2 ปัญหาที่อยู่ระหว่างการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
ทางด้าน พลพิพัฒน์ สมานสิริกุล ทายาทรุ่นที่ 3 ของธุรกิจกาแฟโบราณ "สมานการค้า" ซึ่งผลิตกาแฟคั่วบดจำหน่ายทั่วประเทศ และเปิดหน้าร้านขายกาแฟโบราณที่ตลาดน้ำอัมพวากล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ธุรกิจของเขาไม่ได้อิงกับตลาดน้ำอัมพวาเท่าไหร่นัก แต่การเปิดตลาดน้ำก็ทำให้กาแฟโบราณปรุงสำเร็จของเขาขายดีขึ้น เขาจึงอยากได้เครื่องมือสำหรับพลาสเจอไรซ์ชา-กาแฟเพื่อบรรจุขวดขายสำหรับลูกค้าที่อยากซื้อกลับบ้าน นอกจากนี้ยังต้องการความช่วยเหลือจากนักวิชาการเพื่อปรับปรุงกำลังการผลิตกาแฟคั่วบดให้ได้มากขึ้นและพึ่งพากำลังคนน้อยลง โดยปัจจุบันเขาผลิตได้วันละ 1-2 ตัน ขณะที่มีความต้องการมากถึงวันละ 4-5 ตัน
"ตอนนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับนักวิชาการ แต่ก็ยังทำอะไรไม่ได้มาก เพราะผมต้องทำงาน (คั่ว-บดกาแฟ) ตลอดเวลา และที่ร้านก็มีพื้นที่จำกัด คงค่อยๆ ปรับปรุงไปเรื่อยๆ แต่อย่างแรกที่จะทำก่อนคือเครื่องพลาสเจอไรซ์กาแฟปรุงสำเร็จ" พลพิพัฒน์กล่าวถึงการปรับปรุงกิจการโดยความช่วยเหลือจากนักวิชาการ iTAP
ทางด้าน ร้อยโทพัชโรดม อุนสุวรรณ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลอัมพวา ซึ่งเป็นชาวอัมพวาโดยกำเนิดเล่าถึงอดีตของอัมพวาว่า เคยเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญ และเป็นศูนย์กลางการค้าขายทางน้ำ เนื่องจากมีคลองมากว่า 360 คลอง แต่เมื่อการคมนาคมทางบกเข้ามา ทำให้ความสำคัญของคมนาคมทางน้ำลดบทบาทลง และในปี 2547 เทศบาลตำบลอัมพวาได้รื้อฟื้นตลาดน้ำขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งแรกๆ เป็นที่กังขากับคนในพื้นที่ว่าจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร แต่เศรษฐกิจในพื้นที่ได้ก้าวกระโดดจากรายได้ 60 ล้านบาทในปีแรก เพิ่มขึ้นเป็น 500 ล้านบาทในปี 2551 อย่างไรก็ดีคนในชุมชนยังไม่สามารถออกไปแข่งขันกับภายนอกได้ เนื่องจากขาดทักษะ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและไอที
ร้อยโทพัชโรดมกล่าวว่าอยากให้อัมพวาเป็นต้นแบบที่แสดงให้เห็นว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยเหลือในระดับชุมชนได้ ซึ่งนอกจากประเด็นว่าจะช่วยให้คนในชุมชนผลิตสินค้าได้เก่ง ร้านโชห่วยสามารถแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อที่มีอยู่ทั่วหัวระแหงทุกวันนี้ได้ ร้านกาแฟโบราณธุรกิจของชุมชนสามารถแข่งขันกับร้านกาแฟแบรนด์ดังข้ามชาติได้แล้ว ยังมีเรื่องการนำอินเทอร์เน็ตเข้าไปปรับปรุงระบบการจองห้องพักของโฮมสเตย์ในชุมชน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการติดต่อกับลูกค้าต่างชาติได้โดยไม่ต้องผ่านคนกลางและมีต้นทุนต่ำที่สุด โดยทางเทศบาลกำลังหารือกับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทยหรือซอฟแวร์พาร์คภายใต้ศูนย์ทีเอ็มซีอีกด้วย
"อัมพวาเป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งเกษตร เรามีผู้ประกอบที่พักมากกว่า 200 ราย โดย 90% ของผู้ประกอบการที่พักเป็นคนในพื้นที่ และผู้ประกอบการส่วนมากไม่ได้จบการท่องเที่ยวและโรงแรม บางแห่งเจ้าของทำสวนและมีกิจการเสริมเรื่องให้บริการที่พัก ตอนนี้มีวิกฤติด้านการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวที่เกิดจากการลงทุนของนักลงทุนกำลังประสบปัญหา แต่อัมพวาไม่มีเพราะเราเอาการท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ใช่ทั้งชีวิต การพัฒนาจาก "ทุนภายใน" เป็นทุนที่ดีที่สุดที่ทำให้เขาอยู่ได้ และเขาจะรักษาสิ่งแวดล้อมเพราะเจ้าของบ้านที่นี่คงไม่ย้ายบ้านหนีไปไหน" นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลอัมพวากล่าว
ส่วนจุดขายเรื่องการล่องเรือชมหิ่งห้อย ซึ่งกลายเป็นประเด็นถกเถียงทางด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการรบกวนหิ่งห้อย หรือการสร้างความรำคาญให้กับชาวบ้านที่อยู่ริมคลองจนเกิดกรณีตัดต้นลำพูทิ้งนั้น ร้อยโทพัชโรดมกล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการขาดทักษะของชาวบ้านที่เป็นเจ้าของเรือ แต่ก็มีความพยายามแก้ปัญหา ส่วนการตัดต้นลำพูไม่ได้หมายความว่าเกิดจากความรำคาญเรือหิ่งห้อย แต่เนื่องจากลำพูเป็นไม้เปราะเสี่ยงที่จะล้มทับหลังคาบ้านและสายไฟได้ บางครั้งจึงจำเป็นต้องตัดทิ้ง
"มีคำถามกลับว่าชาวอัมพวาจะอยู่ได้เพราะหิ่งห้อยหรืออัมพวาอยู่ได้เพราะความเป็นอัมพวา" ร้อยโทพัชโรดมตั้งคำถามที่ชี้ให้เห็นวิสัยทัศน์การพัฒนาอัมพวาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของชุมชน