xs
xsm
sm
md
lg

วว. สร้างเครื่องกายภาพบำบัดเข่า เพิ่มโอกาสฟื้นฟูผู้ป่วยข้อเสื่อมหลังผ่าตัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเฉลิมชัย จีระพันธุ์ (ยืนซ้าย) และนายประชา เหล่าอำนวย (ยืนขวา) ทีมวิจัยพัฒนาเครื่องกายภาพบำบัดข้อเข่า CPM
ทีมนักวิจัยฝ่ายนวัตกรรมวัสดุของ วว. พัฒนาเครื่องกายภาพบำบัดข้อเข่าต้นทุนต่ำกว่านำเข้าจากต่างประเทศครึ่งหนึ่ง หวังช่วยลดพังผืดและฟื้นฟูผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมหลังการผ่าตัด พร้อมกระจายโอกาสการรักษาสู่โรงพยาบาลท้องถิ่นทั่วประเทศ เตรียมทดสอบใช้งานที่แผนกกายภาพบำบัด ศิริราชพยาบาล

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้อำนวยการ ฝ่ายนวัตกรรมวัสดุ และคณะนักวิจัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกันพัฒนาเครื่องซีพีเอ็ม (Continuous passive mition: CPM) สำหรับกายภาพบำบัดข้อเข่า ซึ่งช่วยในการเคลื่อนไหวข้อเข่าอย่างต่อเนื่องหลังการผ่าตัด ฟื้นฟูข้อเข่าของผู้ป่วยให้กลับสู่ปกติได้เร็วขึ้น และช่วยลดการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ พร้อมกระจายโอกาสการรักษาสู่ชนบท

"ปัจจุบันมีคนไทยที่ป่วยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือผู้ที่ทำงานหนัก เกษตรกรในชนบท รวมทั้งการเล่นกีฬา และอุบัติเหตุ" นายเฉลิมชัย จีระพันธุ์ หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวถึงที่มา

"ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมและเส้นเอ็นอักเสบ จะต้องเข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัด และหลังจากนั้นจะต้องทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูข้อเข่า ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและผิวหนังบ่อยๆ จะช่วยลดการยึดติดกันระหว่างกล้ามเนื้อและผิวหนังบริเวณแผลผ่าตัด
ทำให้แผลหายเร็วขึ้น การเคลื่อนไหวข้อเข่าสามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้เร็วขึ้นด้วย" นายเฉลิมชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม เครื่องกายภาพบำบัดข้อเข่านั้น ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ ราคาไม่ต่ำกว่า 200,000-300,000 บาท และมีใช้เฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่อยู่ในชนบทขาดโอกาสในการเข้ารับบริการเพื่อฟื้นฟูสภาพข้อเข่าหลังการผ่าตัด จึงได้พัฒนาเครื่องซีพีเอ็มนี้ขึ้นมาเมื่อปลายปี 2549 โดยมีคณะแพทย์ของศิริราชพยาบาลเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบการทำงานของเครื่อง และใช้วัสดุภายในประเทศ ทำให้มีต้นทุนเพียง 80,000 บาท

"ฟังก์ชันการใช้งานของเครื่องซีพีเอ็มเหมือนกับเครื่องกายภาพบำบัดข้อเข่าทั่วไปในโรงพยาบาล โดยสามารถกำหนดองศาการงอเข่าได้เพื่อให้เหมาะสมและไม่เกิดการบาดเจ็บ กำหนดความเร็วและรอบในการเคลื่อนไหวได้ พร้อมทั้งได้ติดตั้งปุ่มกดฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัย ผู้ป่วยสามารถกดปุ่มเพื่อหยุดการทำงานของเครื่องได้ทันทีเมื่อรู้สึกเจ็บปวดระหว่างการใช้งาน" นายเฉลิมชัย อธิบายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์

นักวิจัยบอกว่าซีพีเอ็มจะช่วยผู้ป่วยได้เคลื่อนไหวข้อเข่าอย่างต่อเนื่องและนุ่มนวลหลังการผ่าตัด ช่วยลดการเกิดพังผืดและการยึดติดบริเวณข้อเข่า ช่วยฟื้นฟูสภาพข้อเข่าให้กลับสู่สภาพปกติได้เร็วขึ้น และลดระยะเวลาพักฟื้น

โดยในขั้นต่อไปทีมวิจัยจะผลิตเครื่องซีพีเอ็มเพิ่มเป็น 5 เครื่อง เพื่อนำไปทดสอบการใช้งานจริงกับผู้ป่วยที่แผนกกายภาพบำบัด ศิริราชพยาบาล และหลังจากนั้นจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ภาคเอกชนนำไปผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป โดยจะมีราคาถูกกว่าเครื่องกายภาพบำบัดที่นำเข้าจากต่างประเทศถึง 50% ซึ่งจะช่วยให้โรงพยาบาลระดับท้องถิ่นมีเครื่องกายภาพบำบัดข้อเข่าไว้ใช้งานมากขึ้น และเพิ่มโอกาสการรักษาให้กับผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่อยู่ในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ เครื่องซีพีเอ็มสำหรับกายภาพบำบัดข้อเข่านี้จะร่วมนำมาจัดแสดงในงาน "เปิดโลกทัศน์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 46 ปี วว." ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 พ.ค. 2552 ตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น. ณ อาคารถ่ายทอดเทคโนโลนี วว. เทคโนธานี คลองห้า ปทุมธานี.
นักวิจัยกำลังสาธิตการทำงานของเครื่อง CPM สำหรับการกายภาพบำบัดผู้ป่วยหลังผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อม
เครื่อง CMP สามารถช่วยลดการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศได้ และช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมในโรงพยาบาลระดับท้องถิ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น