xs
xsm
sm
md
lg

กทม.จับมือ 3 องค์กรเปิดศูนย์ผู้สูงอายุฯ “สุขุมพันธ์” ฟุ้ง 4 ปีครบ 4 มุมเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
กทม.จับมือศิริราช-สปสช.จุฬาฯ เปิดศูนย์ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพาในชุมชน จำลองสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ หวังลดภาระให้กับชุมชน พร้อมเปิดตัวรถตรวจการได้ยินเคลื่อนที่ 2 คันแรกของหน่วยราชการ ผู้ว่าฯ กทม.ฟุ้ง 4 ปีสร้างครบ 4 มุมเมือง

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมแถลงข่าวเปิดศูนย์บริการผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพาในชุมชน และหน่วยตรวจการได้ยินเคลื่อนที่ โดยมี ร่วมแถลงข่าว ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข 48 (นาควัชระอุทิศ) ซอยเพชรเกษม 69 หนองแขม โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้วหมด และคาดว่าในปี 2553 กทม.จะมีจำนวนผู้สูงอายุตามทะเบียนราษฎรทั้งสิ้น 906,000 คนซึ่งคนกลุ่มเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ข้อเข่าเสื่อม อัมพาต อัมพฤกษ์เรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งโรคเรื้อรังดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นกทม.จึงได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดศูนย์บริการผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพาในชุมชน (สชช.) โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพา หรือมีความทุพพลภาพเบื้องต้นแบบองค์รวม โดยได้จัดรูปแบบการบริการที่มีเครือข่ายการดูแลอย่างบูรณาการ และต่อเนื่อง โดยจัดตั้ง ศูนย์บริการสาธารณสุข 48 นาควัชระอุทิศ ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ และเป็นต้นแบบในการจัดบริการฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุซึ่งป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่มีภาวะพึ่งพาในชุมชน

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การบริหารราชการ 4 ปี ตนจะดำเนินการสร้างศูนย์บริการผู้สูงอายุฯ ให้ครอบคลุม 4 มุมเมือง ซึ่งล่าสุดเตรียมก่อสร้างศูนย์บริการผู้สูงอายุฯ ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 56 (ทับเจริญ) เขตบึงกุ่มอีกแห่งหนึ่งด้วย สำหรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกศูนย์บริการสาธารณสุขที่จะนำมาทำศูนย์บริการผู้สูงอายุฯ นั้น อันดับแรกคือต้องมีพื้นที่ที่กว้างพอสมควร มีสิ่งแวดล้อมที่ดี การเดินทาง ขนส่งสะดวก ส่วนบุคลากรนั้น กทม.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทำการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่แล้ว ซึ่งหลังจากที่ กทม.ได้ดำเนินการสร้างศูนย์บริการผู้สูงอายุแล้ว เชื่อว่าจะทำให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชนไม่เป็นภาระของสังคมอีกต่อไป

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กทม.ยังได้จัดรถเคลื่อนที่ตรวจการได้ยิน จำนวน 2 คัน ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งถือเป็นรถตรวจการได้ยินเคลื่อนที่ 2 คันแรกของหน่วยงานราชการทั่วประเทศ พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการตรวจคัดกรองการได้ยิน ทั้งนี้ เพื่อออกหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินให้ได้รับความสะดวก รวดเร็วและทั่วถึง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้พิการได้รับสิทธิการดูแล อันจะส่งผลไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

ด้านศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพาในชุมชนจะเป็นแบบเดย์แคร์ ไม่มีการพักค้างซึ่งการการบริการ ประกอบด้วย การฟื้นฟูสมรรถภาพทางสมองและสุขภาพทางกาย ณ ศูนย์บริการผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพาหรือทุพพลภาพด้านการเคลื่อนไหว เป็นการบริการภาคกลางวัน สัปดาห์ละ 2 ครั้งๆ ละ 4-5 ชั่วโมง เป็นเวลา 6 สัปดาห์ และการติดตามดูแล เยี่ยมบ้านโดยทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา และนักกิจกรรมบำบัดเดือนละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 6 สัปดาห์ หลังจากนั้นอีก 6 เดือน เป็นการติดตามประเมินความจำเป็นในการเข้ารับบริการในศูนย์บริการผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพาหรือทุพพลภาพด้านการเคลื่อนไหว รวมทั้งการจัดอบรมญาติและอาสาสมัครผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันด้านสุขภาวะในชุมชน สำหรับการดำเนินงานของศูนย์ ประกอบด้วย การจำลองที่อยู่อาศัยที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพา หรือมีปัญหาทางการเคลื่อนไหว ห้องฟื้นฟูทักษะการเคลื่อนไหวด้วยการกายภาพบำบัด โดยใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องรักษาด้วยกระแสไฟฟ้ากับอัลตราซาวนด์ เครื่องกระตุ้นลดปวดด้วยกระแสไฟฟ้า วงล้อบริหารหัวไหล่ ราวคู่ขนานเดิน
กำลังโหลดความคิดเห็น