สปสช.หนุน อปท.ร่วมพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ ตั้งกองทุนสุขภาพชุมชน สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ บูรณาการกับสถานีอนามัยและรพ.ในพื้นที่ ระบุ ปีนี้มี อบต./เทศบาลเกินครึ่งเข้าร่วมแล้ว 3,940 แห่ง ครอบคลุมประชากรกว่า 31 ล้านคน ตั้งเป้าขยายทั้งประเทศ 8 พันแห่ง ด้านท้องถิ่นขานรับตื่นตัวสร้างคุณภาพชีวิตประชาชน
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพมากขึ้น โดยมีกระทรวงสาธารณสุขคอยเป็นพี่เลี้ยง เพราะจากผลงานที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการดำเนินงานด้านต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข ซึ่ง สปสช.ได้สนับสนุน อปท.ในการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และคนพิการในรูปแบบของกองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต./เทศบาล หรือกองทุนสุขภาพชุมชน ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 โดยจัดสรรงบประมาณส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เป็นรายปี ตามจำนวนประชากรในอัตรา 37.50 บาท/คน และมีเงินสมทบจาก อบต./เทศบาลนั้นๆ ในอัตราไม่น้อยกว่า 10-50% รวมถึงเงินสมทบจากชุมชนด้วย
“จากการดำเนินการตั้งแต่ ปี 2549 จนถึงขณะนี้ได้ก้าวสู่ปีที่ 4 นั้น มี อบต.และเทศบาลทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ 3,940 แห่ง ซึ่งมีผลการดำเนินงานและกิจกรรมที่เป็นนวัตกรรมสุขภาพชุมชนมากมายและหลากหลาย ครอบคลุมประชากรกว่า 31 ล้านคน สปสช.โอนงบประมาณ 1,870 ล้านบาท ขณะที่ อบต./เทศบาลสมทบกว่า 450 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่า จนถึงขณะนี้กองทุนสุขภาพชุมชนได้ครอบคลุมพื้นที่และประชาชนกว่า 50% แล้ว เป้าหมายคือการขยายให้ครอบคลุม อบต.และเทศบาลทั่วประเทศ ซึ่งมีประมาณ 7,800 แห่งและในปีหน้า จะมีการเพิ่มงบประมาณเหมาจ่ายจาก สปสช.และท้องถิ่นเข้าสู่แต่ละกองทุนมากขึ้นเพื่อผลักดันให้การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคและการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ คนแก่และผู้ป่วยโรคเรื้อรังในชุมชนให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว
นายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายนี้ทำให้ อปท. มีความตื่นตัว สนใจการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ โดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ภูมิใจที่ได้เป็นพื้นที่นำร่อง เห็นว่าเป็นการพัฒนาแนวทางการทำงานใหม่ของ อปท.ที่เน้นคุณภาพชีวิตของประชาชน บางแห่งยังต้องการขยายการทำงาน เช่น การจัดสวัสดิการภาคประชาชน เมื่อเจ็บป่วยให้การช่วยเหลือ การให้มีแพทย์มาประจำสถานีอนามัย การให้บริการรถพยาบาลฉุกเฉิน มีนวัตกรรมการบริหารจัดการในท้องถิ่นเกิดขึ้นหลายรูปแบบ เช่น การทำสมุดบันทึกสุขภาพของประชาชน การริเริ่มให้มีแพทย์/ทันตแพทย์มาให้บริการที่สถานีอนามัยตามวันเวลาที่กำหนด การมีรถพยาบาลเพื่อการเจ็บป่วยฉุกเฉิน การทำให้ชุมชนปลอดจากการจำหน่ายสุรา มีการจัดทำข้อมูลชุมชน แผนสุขภาพชุมชน การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและคนพิการในชุมชน การป้องกันโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เอดส์ วัณโรค การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของคนในชุมชนเป็นต้น
ทั้งนี้ สปสช.เตรียมจัดงานมหกรรมระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ (กองทุน อบต./เทศบาล) “เสริมศักยภาพท้องถิ่น สร้างสุขภาพชุมชนให้ยั่งยืน” วันที่ 18-19 พฤษภาคม 2552 ณ อาคารอิมแพค คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ฮอลล์ 9 เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยในวันที่ 18 พฤษภาคมนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานพร้อมบรรยายพิเศษเรื่อง “ทิศทางการกระจายอำนาจและบทบาทการสร้างสุขภาพชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” และมอบรางวัลการดำเนินงานสุขภาพชุมชนดีเด่นระดับจังหวัด 75 จังหวัด