xs
xsm
sm
md
lg

มนุษย์ปักกิ่ง (จบ)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ชั้นดินภายในถ้ำที่แสดงให้เห็นเถ้า และเป็นหลักฐานว่ามนุษย์ปักกิ่งรู้จักใช้ไฟ
การศึกษากะโหลก 6 กะโหลก และขากรรไกร 15 ชิ้น ฟัน 157 ซี่ กระดูกแขนส่วนบน 3 ชิ้น กระดูกคอ 1 ชิ้น กระดูกขาอ่อน 7 ชิ้น กระดูกหน้าแข้ง 1 ชิ้น และกระดูกข้อมือ 1 ชิ้น ที่อยู่กระจัดกระจายภายในถ้ำ บ่งบอกว่ามันเป็นกระดูกของชายหญิง 50 คนที่ได้เสียชีวิต ณ เวลาต่าง ๆ กัน โครงกระดูกยังบอกลักษณะของมนุษย์ปักกิ่งอีกว่ามีรูปร่างคล้ายคนปัจจุบันมาก แต่กระดูกแขนและขามีเนื้อกระดูกหนามากกว่า ส่วนโพรงกระดูกนั้นแคบกว่า และกระดูกกะโหลกศีรษะหนากว่า ส่วนกระดูกคิ้วก็ยื่นออกมากกว่า และกะโหลกศีรษะมีปริมาตรมากกว่ากะโหลกของมนุษย์ Homo habilis ที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลกเมื่อ 1.8 ล้านปีก่อน อีกทั้งมีขนาดใหญ่กว่ามนุษย์ชะวา (Java man) ถึงกระนั้นกะโหลกเหล่านี้ก็ยังมีปริมาตรน้อยกว่ากะโหลกมนุษย์ปัจจุบัน นอกจากนี้ฟันของ Peking man ก็ใหญ่กว่าและแข็งแรงกว่า Homo sapiens ปัจจุบันด้วย

การวัดขนาดของกะโหลกแสดงให้เห็นว่ากะโหลกของ Homo erectus มีปริมาตร 900 ลูกบาศก์เซนติเมตร ส่วนกะโหลกมนุษย์ปักกิ่งมีปริมาตร 1,054 ลูกบาศก์เซนติเมตร และกะโหลกของ Homo sapiens มีปริมาตรประมาณ 1,430 ลูกบาศก์เซนติเมตร

ในด้านของอุปกรณ์ในสมัยเมื่อ 460,000-420,000 ปีก่อน มนุษย์ปักกิ่งรู้จักใช้หินควอทซ์ หินทราย และหินฟลินท์ ทำเครื่องใช้ที่มีขนาดต่าง ๆ กัน โดยทำเป็นรูปเหลี่ยมที่มีคมสำหรับใช้ตัด อุปกรณ์ส่วนใหญ่หนักประมาณ 50 กรัม และยาวอย่างน้อย 6 เซนติเมตร แต่เมื่อถึง 370,000-350,000 ก่อน อุปกรณ์ที่ทำมีน้ำหนักเบาขึ้น และวัสดุที่ใช้ทำอุปกรณ์ก็มีคุณภาพดีขึ้น

หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ปักกิ่งมีความสำคัญในด้านมานุษยวิทยาโบราณ คือการพบว่ามนุษย์นี้รู้จักใช้ไฟ เพราะได้มีการพบเถ้าในดิน ที่มีอายุประมาณ 250,000-460,000 ปี และเถ้าอยู่กระจัดกระจาย นั่นแสดงว่ามนุษย์ปักกิ่งรู้จักควบคุมไฟ ซึ่งอาจจะได้จากไฟป่า หรือไฟที่เกิดเวลาฟ้าผ่าต้นไม้ แล้วมนุษย์ปักกิ่งนำไฟมาใช้ในถ้ำ และพยายามทำให้ไฟลุกโพลง จึงหาเชื้อเพลิงที่เป็นไม้มาสุม และอาจกลบไฟบางส่วนด้วยเถ้าหรือดิน เพื่อให้ไฟลุกไหม้ช้า ๆ และเวลาจะใช้ไฟก็เป่าเถ้าหรือดินออก การใช้ชีวิตอยู่ในถ้ำและภายในถ้ำมีไฟ ทำให้มนุษย์ปักกิ่งสามารถรอดอยู่ได้ในฤดูหนาว อนึ่งการพบเมล็ดพืชที่ถูกย่างไฟก็แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ปักกิ่งกินผล walnut และ hazelnut เป็นอาหาร

สำหรับการล่าสัตว์ เพราะสัตว์ให้เนื้อที่มีโปรตีนและแคลอรียิ่งกว่าพืช การได้เห็นซากกระดูกสัตว์มากมายในถ้ำ แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ปักกิ่งรู้จักล่าและชำนาญในการฆ่าสัตว์ โดยเฉพาะกวางพันธุ์ Megaceros pachyosteus กับ Pseualaxis grayi เพราะได้พบซากกระดูกของกวาง 2 พันธุ์นี้มากมาย ซึ่งแสดงว่าตลอดเวลาที่ยาวนาน มนุษย์ปักกิ่งได้เคยนำกวางประมาณ 3,000 ตัวเข้ามาย่างกินภายในถ้ำ

หลักฐานเหล่านี้จึงแสดงให้เห็นว่า มนุษย์ปักกิ่งเป็นมนุษย์ถ้ำที่รู้จักใช้ไฟย่างเนื้อกวาง ชอบเก็บเมล็ดพืช และมีฝีมือในการทำอุปกรณ์ล่าสัตว์เป็นอาหาร ซึ่งการทำเช่นนี้ได้ต้องอาศัยคนเป็นจำนวนมากในการล่า ดังนั้นหลักฐานนี้จึงแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ปักกิ่งมีวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันและช่วยกันทำงานเป็นกลุ่ม หาได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ส่วนการพบซากสัตว์ในถ้ำยังแสดงให้เห็นว่าหลังจากที่ล่าเหยื่อมาได้แล้ว มนุษย์ปักกิ่งจะนำกลับมาที่ถ้ำ แทนที่จะกินเหยื่อทันทีที่ล่าได้ เพราะกวางเป็นสัตว์ที่วิ่งได้เร็ว ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่างานล่าต้องอาศัยผู้ชาย ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่เลี้ยงลูกและเก็บเมล็ดพืช ส่วนประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจคือ ถ้ำนี้มีการใช้นานประมาณ 400,000 ปี ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่ามนุษย์ปักกิ่งได้รู้จักวิธีถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ จากบรรพบุรุษสู่บรรดาลูก-หลาน และนั่นก็คือมีการรู้จักสอนและเรียนกันแล้ว

เมื่อปีกลายนี้ Sigrid Schmalzer ได้เรียบเรียงหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The Peoples Peking Man : Popular Science and Human Identity in Twentieth-Century China ซึ่งจัดพิมพ์โดย University of Chicago Press ราคา 85 ดอลลาร์ หนังสือนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าการค้นพบเกี่ยวกับซากมนุษย์ดึกดำบรรพ์ในจีน โดยเฉพาะมนุษย์ปักกิ่งได้ทำให้คนจีนสนใจวิทยาการด้านนี้มาก เพราะคนจีนมีความเชื่อว่ากระดูกสัตว์มีคุณค่าด้านเภสัชวิทยา ดังนั้นชาวจีนบางคนจึงอาจมีความรู้เรื่องโครงกระดูกสัตว์ดียิ่งกว่านักวิทยาศาสตร์เสียอีก และถึงแม้การขุดกระดูกสัตว์แล้วนำมาขายให้ร้านขายยาจะไม่มีการกระทำกันมากทุกวันนี้ แต่การขุดโครงกระดูกเพื่อนำมาขายเป็นของที่ระลึกก็ยังกระทำกันมาก และ Schmalzer ก็ได้ชี้ให้เห็นว่า การพบกะโหลกมนุษย์ปักกิ่งยังมีความสำคัญเชิงอารยธรรมต่อจีนด้วย เพราะทำให้คนจีนตระหนักว่าจีนคือแหล่งอารยธรรมดึกดำบรรพ์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก เพราะตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา ถ้ำ Zhoukoudian ก็ได้รับการยกย่องโดย UNESCO ให้เป็นแหล่งมรดกโลก

ในนิตยสาร Nature ฉบับวันที่ 12 มีนาคม ศกนี้ G. Shen แห่ง College of Geographical Sciences, Nanjing Normal University และคณะได้วัดอายุของมนุษย์ถ้ำ Zhoukoudian ใหม่ โดยใช้เทคนิคกัมมันตรังสี 26Al/10Be และพบว่า ถ้ำ เคยมีมนุษย์อาศัยอยู่อย่างน้อยก็เมื่อ 780,000 ปีก่อนนี้ และนั่นหมายความว่ามนุษย์ยุคแรกในเอเชียได้ถือกำเนิดเมื่อ 1,300,000 ปีก่อน และได้เข้าพำนักในถ้ำเป็นเวลานานอย่างน้อย 400,000 ปี

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
อุปกรณ์หินของมนุษย์ปักกิ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น