Zhoukoudian เป็นชื่อของเมืองที่อยู่ห่างจากปักกิ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 50 กิโลเมตร เมืองนี้มีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เพราะถ้ำที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟในเมืองเคยมีมนุษย์อาศัยอยู่เมื่อ 780,000 ปีก่อน และมนุษย์ได้ใช้ถ้ำนี้เป็นที่อยู่อาศัย ทำงาน และสร้างครอบครัว ฯลฯ เป็นเวลานานร่วม 400,000 ปี จึงได้ทิ้งถ้ำไปอย่างถาวร แต่ก็ได้ทิ้งหลักฐานและร่องรอยไว้มากมายว่า Homo erectus pekinensis หรือมนุษย์ปักกิ่งมีความสามารถในการใช้ไฟหุงอาหาร ทำอาวุธ ประดิษฐ์อุปกรณ์ และล่าสัตว์ ครั้นเมื่อนักมานุษยวิทยาดึกดำบรรพ์ได้เห็นเมล็ดพืชในถ้ำ นั่นก็แสดงว่ามนุษย์ถ้ำ Zhoukoudian รู้จักปลูกพืช และเมื่อได้เห็นอาวุธที่ทำด้วยหิน นั่นคือหลักฐานที่แสดงว่ามนุษย์ถ้ำนี้มีความชำนาญในการใช้มือ การวิเคราะห์หลักฐานต่าง ๆ ทั้งหลาย ทำให้เราวันนี้รู้ว่าสังคมของมนุษย์ปักกิ่งมีการแบ่งหน้าที่งานตามเพศ และมีความเอื้ออาทรต่อกันโดยการแบ่งปันอาหาร
นอกจากหลักฐานเบื้องต้นนี้ การค้นคว้าและวิจัยเรื่องมนุษย์ปักกิ่งโดยนักวิทยาศาสตร์จีนและตะวันตกซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Institute of Vertebrate Paleontology and Paleoanthropology ของ Chinese Academy of Sciences ยังทำให้เรารู้อีกว่า
มนุษย์ปักกิ่งเป็นมนุษย์ Homo erectus (erectus เป็นคำที่ Eugene Dubois ตั้งในปี 2435 แปลว่า ยืนตรง) ซึ่งได้แยกเส้นทางการวิวัฒนาการจากลิงไพรเมต (primate) เมื่อ 35 ล้านปีก่อน และสัตว์ไพรเมตที่เดิน 4 ขา ชอบกินเมล็ดพืชและผลไม้เป็นอาหาร แล้วได้แยกเส้นทางการวิวัฒนาการจากลิงชิมแปนซีและกอริลลาเมื่อ 8-10ล้านปีก่อน มาเป็นสัตว์ที่เดิน 2 ขา มีสมอง cranium ขนาดเล็กที่มีปริมาตรประมาณ 350 ลูกบาศก์เซนติเมตร อนึ่ง ในเวลาเดิน มนุษย์ลิงใช้มือ 2 มือที่ว่างจับถือวัตถุได้ ครั้นถึงเมื่อ 4 ล้านปีก่อนมนุษย์ Australopithecus ก็ได้ถือกำเนิดที่หุบเขา Awash ในประเทศ Ethiopia และมีสมองใหญ่ขึ้นคือมีปริมาตรประมาณ 500 ลูกบาศก์เซนติเมตร และเดิน 2 ขาได้ดี จนกระทั่งถึงเมื่อ 2.0 ล้านปีก่อนในแอฟริกา มนุษย์ Homo erectus ที่สามารถเดินตัวตรงได้และสูง 145-150 เซนติเมตรก็ถือกำเนิด มนุษย์นี้มีกะโหลกใหญ่ คือมีปริมาตรตั้งแต่ 650-1,250 ลูกบาศก์เซนติเมตร ตัวอย่างของ Homo erectus ได้แก่ มนุษย์ปักกิ่ง และ Homo erectus ก็ได้วิวัฒนาการเป็นมนุษย์ปัจจุบัน Homo sapiens ซึ่งกะโหลกของมนุษย์พันธุ์นี้มีปริมาตร 1,100-1,800 ลูกบาศก์เซนติเมตร
ถ้ำ Zhoukoudian ที่มีการพบมนุษย์ปักกิ่งนั้นเป็นถ้ำหินปูน ในสมัยโบราณชาวบ้านเคยเล่าลือกันว่าเป็นที่อยู่ของพญามังกร เพราะภายในมีซากกระดูกมากมาย แต่แท้ที่จริงมันเป็นกระดูกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และชาวบ้านที่เก็บกระดูก มังกร ไป หารู้ไม่ว่านั่นคือกระดูกมนุษย์ดึกดำบรรพ์
ในปี 2461 (รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) Johan Gunnar Andersson นักธรณีวิทยาชาวสวีเดน และ Walter W. Granger แห่ง American Museum of Natural History กับ Otto Zdanshy ได้เข้าไปสำรวจภายในถ้ำ Zhoukoudian เป็นครั้งแรก เพราะได้ยินชาวบ้านบอกว่า ภายในถ้ำมีกระดูกมังกรมากมาย แต่คนทั้งสามมิได้พบเห็นอะไรที่แปลกหรือผิดปกติ นอกจากเห็นชิ้นหินควอตซ์เพียงไม่กี่ชิ้น ซึ่ง Andersson คิดว่า มันเป็นเพียงอุปกรณ์ที่มนุษย์ยุคแรก ๆ ทำขึ้น
อีก 2 ปีต่อมา Adansky ได้หวนกลับไปที่ถ้ำ Zhoukoudian อีก ในการสำรวจถ้ำครั้งนั้น เขาได้พบฟันมนุษย์ 2 ซี่ เมื่อถึงปี 2470 Birger Bohlin นักมานุษยวิทยาดึกดำบรรพ์ชาวสวีเดนได้ขุดพบกระดูกฟันกรามล่างที่อยู่ในสภาพดี Davidson Black แห่ง Peking Union Medical College จึงตั้งชื่อมนุษย์พันธุ์ใหม่นี้ว่า Sinanthropus pekinensis (ปัจจุบันเรียก Homo erectus pekinensis)
ในช่วงปี 2470-2480 จีนถูกญี่ปุ่นรุกราน การศึกษามนุษย์ปักกิ่งได้หยุดชะงักไประยะหนึ่ง ถึงกระนั้นในปี 2472 Pei Wenzhong ก็ได้รายงานการพบกะโหลกศีรษะส่วนที่เป็น cranium ซึ่งมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ นี่จึงเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ช่วยให้การศึกษามนุษย์ปักกิ่งเริ่มต้นอย่างจริงจัง
ในปี 2492 รัฐบาลจีนได้จัดตั้ง Institute of Vertebrate Paleontology และ Paleoanthropology ขึ้น จากนั้นนักวิจัยของสถาบันก็ได้ขุดพบซากกระดูกของชายหญิง ประมาณ 50 คนที่มีอายุต่าง ๆ กัน อีกทั้งพบอุปกรณ์หินประมาณ 17,000 ชิ้น ซากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 96 ชนิด และเมล็ดพืช 2 ชนิด ภายในถ้ำที่ลึก 140 เมตร และกว้างที่สุด 40 เมตร ซึ่งเกิดในยุค Ordovician และมีอายุประมาณ 500,000 ปี แต่สภาพของถ้ำในสมัยที่มนุษย์ปักกิ่งอพยพเข้าไปอยู่เป็นครั้งแรกเมื่อ 350,000-250,000 ปีก่อนนั้นแตกต่างจากสภาพของถ้ำปัจจุบันมาก เพราะในปัจจุบันน้ำใต้บาดาลจากแม่น้ำ Zhoukou ได้ไหลชะกัดเซาะถ้ำ พัดพาทรายและโคลนเข้าถ้ำ ทำให้พื้นถ้ำราบเรียบเป็นลานให้มนุษย์สามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ เทคนิคการวัดอายุ แสดงให้รู้อายุของถ้ำว่ามีลักษณะทางกายภาพต่าง ๆ กันตามกาลเวลาที่ผ่านไป (อ่านต่ออังคารหน้า)
สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.