xs
xsm
sm
md
lg

เด็กไม่สนใจวิทย์ เล่นละครให้ดูเลยดีกว่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การแสดงละครวิทยาศาสตร์ในค่ายอบรมของ สสวท.
หลังจากลองมาหลายวิธี แต่นักเรียนก็ยังไม่สนใจเรียนวิทยาศาสตร์เท่าที่ควร เขาจึงต้องหาวิธีที่จะดึงเด็กๆ ให้ตั้งใจเรียนด้วยเทคนิค "ละครวิทยาศาสตร์"

วิฑูรย์ ตั้งวัฒนกุล อาจารย์ฟิสิกส์ โรงเรียนสาธิตบางนา จ.สมุทรปราการ เป็น 1 ในครูวิทยาศาสตร์ 20 คน พร้อมด้วยนักเรียนอีก 40 คน ที่เข้าร่วมกิจกรรมค่ายละครวิทยาศาสตร์ ซึ่งสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-8 มี.ค.52

เขาให้เหตุผลที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้กับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เนื่องจากลองเทคนิคการสอนมาหลายวิธีแล้ว แต่นักเรียนก็ไม่ตั้งใจเรียนเท่าที่ควร จึงอยากหาเทคนิคใหม่ๆ ซึ่งละครวิทยาศาสตร์ก็เป็นอีกเทคนิคที่เขาเชื่อว่าจะช่วยดึงให้นักเรียนสนใจการเรียนได้

“ไม่เคยเล่นละครวิทยาศาสตร์มาก่อน ก็ขัดกับตัวตนของผมพอสมควร แต่ก็ทำเพื่อหาเทคนิคใหม่ๆ ถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กๆ ลองมาหลายอย่างแล้วแต่เด็ไม่สนใจเรียน แต่ไม่เคยลองกับละครมาก่อน คิดว่าน่าจะช่วยดึงดูดเด็กได้" วิฑูรย์กล่าวกับเรา

อีกทั้งวิฑูรย์ยังบอกด้วยว่า ทราบข่าวกิจกรรมนี้้จากเว็บไซต์ของ สสวท. ที่เปิดรับสมัครครูและนักเรียนที่สนใจ โดยเปิดรับครู 1 คนและนักเรียน 2 คนเป็นตัวแทนจากแต่ละโรงเรียน และไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งเขามองว่าการประกาศรับสมัครผ่านเว็บไซต์โดยไม่ส่งหนังสือผ่านทางโรงเรียนนี้ ทำให้ได้ผู้ร่วมกิจกรรมที่มีความสนใจจริงๆ

ระยะเวลา 3 วันของการอบรมละครวิทยาศาสตร์นี้ เน้นฝึกทักษะการแสดง ตั้งแต่การแสดงสีหน้า ท่าทาง การแสดงน้ำเสียง การประดิษฐ์อุปกรณ์ประกอบการแสดงภายใต้ทรัพยากรและเวลาที่จำกัด และแบ่งผู้เข้าอบรมเป็นกลุ่มละ 10 คน คละครูและนักเรียนจากแต่ละโรงเรียน โดยแต่ละกลุ่มจะได้เลือก "ของวิเศษ" หรืออุปกรณ์ที่ต้องใช้เพื่อการแสดงที่ทุกกลุ่มต้องแสดงในวันสุดท้ายของการเข้าค่าย กลุ่มละ 1 ชิ้น

พร้อมกันนี้ทุกกลุ่มจะได้ "คำสำคัญ" (Keyword) ที่ต้องมีในการแสดงละคร สำหรับกลุ่มของวิฑูรย์ได้คำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวิชาฟิสิกส์ อาทิ แรงโน้มถ่วง แรงเสียดทาน E=mc2 เป็นต้น

“สำหรับเทคนิคการแสดงละครที่ชอบ และประทับใจในค่ายนี้ คือการออกเสียง ได้ฝึกการออกเสียงว่าต้องมาจากกระบังลม ไม่ใช่จากคอ ที่ผ่านมาใช้เสียงจากคอตลอด พอสอนไปสัก 5-6 คาบ เริ่มเจ็บคอ หมดแรง เสียงหาย ส่วนวิธีการพูดที่ถูกต้องมาจากกระบังลม ให้ลองจับบริเวณเหนือพุงแล้วพูดให้เกิดแรงสั่นสะเทือนบริเวณดังกล่าว ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ไม่เหนื่อยและไม่เจ็บคอ" วิฑูรย์กล่าว

นอกจากคุณครูที่ตั้งใจมาหาเทคนิคการสอนใหม่ๆ อย่างวิฑูรย์แล้ว โรซียะห์ เบ็นดือราแบ อาจารย์เคมีจากโรงเรียนนราสิกขาลัย จ.นราธิวาส คือครูอีกคนที่ดั้นด้นมาเข้าค่ายด้วยความสนใจละครวิทยาศาสตร์ และได้คัดเลือกนักเรียนจาก "ชุมนุมรักวิทยาศาสตร์" มาร่วมกิจกรรมด้วย

เธอบอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า จะนำความรู้ที่ได้จากในค่ายไปจัดกิจกรรมละครวิทยาศาสตร์ในงานโรงเรียน ซึ่งปกติจะมีการแสดงละครอยู่แล้ว และนักเรียนที่เป็นตัวแทนโรงเรียนต้องกลับไปสร้างกลุ่มแสดงละครวิทยาศาสตร์ให้กับโรงเรียนด้วย

ส่วนการประยุกต์ใช้ทักษะการแสดงละครในการสอนนั้น โรซียะห์บอกว่า ปกติการเรียนทฤษฎีนั้น หากพูดอย่างเดียวเด็กนักเรียนอาจจะไม่เข้าใจหรือนึกภาพไม่ออก แต่ถ้าประยุกต์ใช้เทคนิคการแสดงละครเข้าไปด้วยน่าจะช่วยให้เด็กจินตนาการตามได้ง่ายขึ้น และเชื่อว่าการใช้เทคนิคแสดงละครในชั้นเรียนจะช่วยให้นักเรียนจินตนาการตามได้

“สำหรับเทคนิคที่ประทับใจคือการทำหน้ากากอย่างง่ายประกอบการแสดงภายในครึ่งชั่วโมง และเรื่องการแสดงสีหน้าท่าทาง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสอนและการแสดงได้มากในกรณีที่ไม่มีอุปกรณ์ประกอบ เช่น สีหน้าสงสัยเป็นอย่างไร จะส่งสายตาอย่างไร ยิ้มอย่างไร เป็นต้น" โรซะยะห์กล่าว

ทางด้านนักเรียนที่ตามมาร่วมกิจกรรมพร้อมโรซียะห์อย่าง ณัฐจรีย์ เดชาสันติ นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนนราสิกขาลัย กล่าวกับเราว่า ไม่เคยได้ยินชื่อละครวิทยาศาสตร์มาก่อนเลย และไม่เคยรู้อะไรลึกซึ้งเกี่ยวกับละคร แต่ตอนนี้ได้ทราบ ซึ่งที่ผ่านมาโรงเรียนมีการแสดงละครในงานสำคัญๆ ต่างของโรงเรียนอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาเป็นละครที่ไม่มีเนื้้อหาวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้อง

“ในฐานะที่เป็นคนแสดงเอง ละครวิทยาศาสตร์ช่วยให้เข้าใจวิทยาศาสตร์ได้ง่ายขึ้น และไม่เครียดด้วย" ณัฐจรีย์ระบุ

ส่วน มณียา มหาชัย นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนบางระจันวิทยา จ.สิงห์บุรี บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า ไม่เคยแสดงละครวิทยาศาสตร์มาก่อน แต่เคยทำกิจกรรมการแสดงทางวิทยาศาสตร์ "ไซน์-โชว์" (Science Show) และแสดงละครทั่วๆ ไปในงานโรงเรียน

ทั้งนี้เชื่อว่าละครวิทยาศาสตร์จะช่วยให้นักเรียนสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น สำหรับตัวเธอก็ได้เข้าใจในเนื้อหาวิทยาศาสตร์ที่ใช้แสดงละครมากขึ้น บางอย่างที่เคยเข้าใจผิดก้ได้เข้าใจถูกต้องมากขึ้น

“ค่ายอบรมวิทยาศาสตร์ครั้งนี้ เกิดขึ้นจากเมื่อปีที่แล้วเราได้จัดอบรมละครวิทยาศาสตร์ให้กับครูวิทยาศาสตร์ 12 คน ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งครั้งนั้นเราได้รับคำแนะนำว่า การอบรมควรจะให้นักเรียนได้เข้าร่วมด้วย เพื่อเป็นตัวเชื่อมระหว่างครูและนักเรียน โดยในการอบรมเราได้วิทยากรสอนเทคนิคการแสดงจากวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ (มศว) ซึ่งได้มีการลงนามตกลงความร่วมมือกันไว้" สุทธิพงษ์ พงษ์วร นักวิชาการสาขาชีววิทยา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกล่าว

สำหรับค่ายละครวิทยาศาสตร์ของ สสวท.นี้ สุทธิพงษ์กล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่งของโครงการใน สสวท.ที่ต้องการเสนอทางเลือกเทคนิคการสอนอีกรูปแบบหนึ่งให้กับอาจารย์ โดยผู้เข้าอบรมไม่จำเป็นต้องกลับไปแสดงละคร แต่สามารถนำเทคนิคที่ได้ไปประยุกต์กับการสอนหน้าห้องเรียน และเปลี่ยนเนื้อหาที่ยากๆ ให้เป็นเรื่องสนุกและเข้าใจง่าย ซึ่งหากไม่ทำอย่างนั้นจะทำให้นักเรียนยิ่งออกห่างจากวิทยาศาสตร์มากขึ้น.
วิฑูรย์ ตั้งวัฒนกุล อาจารย์ฟิสิกส์ โรงเรียนสาธิตบางนา ผู้ยอมฝืนตัวตนเพื่อสรรหาเทคนิคการสอนใหม่ๆ ให้นักเรียน
โรซียะห์ เบ็นดือราแบ คุณครูเคมีผู้มาไกลจากนราธิวาส
ณัฐจรีย์ เดชาสันติ ผู้ไม่เคยรู้จักละครวิทยาศาสตร์มาก่อน แต่สร้างความประทับใจเพื่อนๆ ในค่ายจากบทบาทที่เธอแสดงได้ไม่น้อย
มณียา มหาชัย ผู้เชื่อว่าละครวิทยาศาสตร์จะทำให้นักเรียนสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น
สุทธิพงษ์ พงษ์วร ตัวแทนจาก สสวท. ผู้จัดการอบรม
กำลังโหลดความคิดเห็น