xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก "อะแคนทามีบา" เชื้อร้ายใกล้ตัวที่เป็นภัยใกล้ตา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มหิดลวิชาการ52 เปิดแล็บจุลชีววิทยา ให้ผู้เข้าชมงานได้รู้จัก อะแคนทามีบา ภัยร้ายใกล้ตัวและใกล้ตา
ใส่คอนแทคเลนส์แล้วปฏิบัติไม่ถูกวิธี มีสิทธิติดเชื้อจนตาบอดได้ ยิ่งเห่อใส่ตามแฟชัน ยิ่งต้องควรระวังมากกว่าปกติ เพราะหากดูแลดวงตาและรักษาคอนแทคเลนส์ไม่ถูกวิธี อาจมีเชื้อโรคเข้าสู่ดวงตาได้ง่าย หรือแค่ฝุ่นละอองปลิวเข้าตา ก็อาจพาเชื้อ "อะแคนทามีบา" เข้าไปได้ด้วยเหมือนกัน

ดวงตาคือหน้าต่างที่ทำให้เรามองเห็นโลกกว้าง แต่ถ้าไม่ดูแลรักษาหน้าต่างบานนี้ให้ดี ก็อาจทำให้เราก้าวเข้าสู่โลกมืดโดยไม่รู้ตัว เพราะสิ่งมีชีวิตเล็กๆ บางชนิดที่เรามองไม่เห็นและเป็นอันตรายต่อดวงตาอย่างยิ่ง ซึ่ง "ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์" ได้ยินได้ฟังมาจากน้องๆ นักศึกษาจากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในงานมหิดลวิชาการ' 52 เมื่อวันที 7 ก.พ.52 ที่ผ่านมา

เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่หลายคนยังไม่เคยรู้มาก่อน จึงมีผู้ให้ความสนใจภัยร้ายจากเชื้อก่อโรคในดวงตาที่ชื่อว่า "อะแคนทามีบา" อยู่ไม่น้อย ซึ่งน้องนักศึกษาที่เป็นวิทยากรประจำเรื่องนี้อธิบายให้ "ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์" และผู้เข้าชมงานอีกหลายคนว่า อะแคนทามีบา เป็นสัตว์เซลล์เดียวจำพวกโปรโตซัว ซึ่งดำรงชีวิตแบบอิสระในธรรมชาติทั่วไป พบได้ทั้งในดิน น้ำจืด น้ำทะเล น้ำประปา หรือแม้แต่ในสระว่ายน้ำ และรวมถึงปะปนอยู่กับฝุ่นละอองทั่วไป หรือเครื่องปรับอากาศ ระบบทำความเย็นของอาคารขนาดใหญ่

เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จะอยู่ในระยะที่เรียกว่า ระยะโทรโฟซอยต์ ซึ่งเป็นระยะที่ก่อโรคได้ และกินแบคทีเรีย หรือยีสต์ เป็นอาหาร แต่หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมก็จะเปลี่ยนเป็นระยะซีสต์ (คล้ายกับการจำศีล คือไม่เคลื่อนที่ ไม่กินอาหาร และไม่สืบพันธุ์) และรอจนกว่าสภาพแวดล้อมจะเหมาะสม จึงออกจากซีสต์เป็นโทรโฟซอยต์ ฉะนั้นระยะซีสต์จึงเป็นระยะที่สามารถติดต่อได้เช่นกัน

สำหรับการทำให้เกิดโรคของอะแคนทามีบา แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ ในคนที่มีภูมิคุ้มกันปกติ และในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ เมื่อได้รับเชื้ออะแคนทามีบาเข้าสู่ดวงตา โดยอาจเกิดจากฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตา รวมทั้งการใช้คอนแทคเลนส์ที่ไม่สะอาดหรือไม่ถูกวิธี จะทำให้เกิดภาวะกระจกตาดำอักเสบ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ตาบอดหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที

ส่วนในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเอดส์ หากติดเชื้ออะแคนทามีบา จะทำให้เกิดแผลเน่าเปื่อย ไซนัสอักเสบแบบแพร่กระจาย สมองอักเสบแบบแกรนูโลมาตัส และอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ในที่สุด

นอกจากนี้ วิทยากรยังมีคำแนะนำสำหรับทุกคนเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้ออะแคนทามีบา โดยเมื่อมีฝุ่นผงเข้าตาให้ค่อยๆ ลืมตาในน้ำสะอาด ไม่ควรขยี้ตาแรงๆ เพราะอาจทำให้เกิดเยื่อบุตาอักเสบ เท่ากับเปิดโอกาสให้เชื่ออะแคนทามีบาและเชื้อโรคอื่นๆ เข้าสู่ดวงตาได้ง่ายขึ้หากระคายเคืองตาผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที และหมั่นทำความสะอาดภาชนะใส่น้ำประปาให้สะอาดอยู่เสมอ เช่น แทงก์พักน้ำ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมเชื้ออะแคนทามีบา

ส่วนผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ก็ต้องรักษาความสะอาดและปฏิบัติให้ถูกวิธีอย่างเคร่งครัด โดยไม่ใช้คอนแทคเลนส์ร่วมกับผู้อื่น ล้างมือให้สะอาดและเช็ดให้แห้งก่อนสัมผัสคอนแทคเลนส์ ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์เมื่อต้องการล้างหน้า อาบน้ำ หรือว่ายน้ำ ห้ามใส่คอนแทคเลนส์นอนหลับไปด้วยโดยเด็ดขาด ล้างและเก็บรักษาคอนแทคเลนส์ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ ห้ามแช่เลนส์ในน้ำเปล่าหรือน้ำเกลือ เปลี่ยนคอนแทคเลนส์ตามระยะเวลาที่กำหนด และรักษาความสะอาดของตลับใส่คอนแทคเลนส์ทั้งภายในและภายนอกอยู่เสมอ เพียงเท่านี้โอกาสที่เชื้ออะแคนทามีบาจะเข้ามากล้ำกลายดวงตาของเราก็แทบจะไม่มีแล้ว

นอกจากจะได้ความรู้เรื่องเชื้ออะแคนทามีบาแล้ว มหิดลวิชาการ' 52 ยังเปิดห้องแล็บให้เยาวชนเข้าชมและสัมผัสกับการเรียนวิทยาศาสตร์ในหลากหลายสาขา อาทิ เปิดประสบการณ์เรียนชีววิทยาภาคสนามด้วยภาพถ่ายในโปสการ์ดสวยๆ นิทรรศการภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ หล่อสวยด้วยคณิตศาสตร์กับลำดับฟีโบนักชี ส่องกล้องจุลทรรศน์สำหรวจหน้าตานานาจุลชีพ เรียนรู้วิธีตรวจหาหมู่เลือด รู้จักไบโอฟิสิกส์ และทดลองชำแหละกบ เป็นต้น
ระวัง! อะแคนทามีบา จะมาโดยไม่รู้ตัว หากใส่คอนแทคเลนส์ไม่ถูกวิธีและไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
ส่องกล้องจุลทรรศน์ดูหน้าตาของเชื้อรานานาชนิด
รู้จักมะเร็งและความน่ากลัวของมะเร็ง
หล่อสวยด้วยคณิตศาสตร์ได้ไง? ลำดับฟีโบนักชีมีคำตอบ
เรียนรู้แล็บฟิสิกส์ง่ายๆได้จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์
พี่ๆภาควิชาชีววิทยาแบ่งปันประสบการณ์การเรียนชีววิทยาภาคสนามให้กับน้องๆ ด้วยเรื่องเล่าจากธรรมชาติในโปสการ์ดสวยๆ
บ้านยุง นวัตกรรมใหม่ควบคุมยุงร้ายไม่ให้แพร่กระจายโรค
ผ่ากบ อ๊บอ๊บ
ศิลปะการวาดภาพในการเรียนวิทยาศาสตร์
กำลังโหลดความคิดเห็น