xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 1-7 ธ.ค.2551

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จแทนพระองค์รับการถวายพระพรจากบุคคลคณะต่างๆ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานฯ หลังทรงพระประชวร(4 ธ.ค.)
คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. “ในหลวง”ทรงพระประชวร งดพระราชดำรัส 4 ธ.ค.-โปรดเกล้าฯ “สมเด็จพระบรมฯ”รับการถวายพระพรแทน!

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ณ ลานพระราชวังดุสิต พระบรมรูปทรงม้า เพื่อทรงตรวจพลสวนสนามในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค.2551 โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่นายทหารชั้นผู้ใหญ่และทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ โดยทรงขอให้ทหารรักษาคำมั่นที่ได้ให้สัจจะวาจาไว้ โดยเฉพาะเกียรติยศ ศักดิ์ศรีของทหารรักษาพระองค์ ซึ่งมิได้หมายถึงการทำตัวให้เรียบร้อยเป็นสง่าสมกับชั้นยศและตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น แต่หมายถึงการปฏิบัติหน้าที่ของทหารให้ถูกต้องสมบูรณ์ รวมทั้งการประพฤติปฏิบัติตนดีให้เป็นที่ศรัทธาเชื่อถือของประชาชนด้วย นอกจากนี้ยังทรงย้ำให้ทหารรักษาพระองค์มีความซื่อสัตย์สุจริต สมัครสมานสามัคคี ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งอดทนและอดกลั้น หากทุกคนมุ่งปฏิบัติดังนี้ ความเจริญจะบังเกิดแก่ตนเอง หมู่คณะ ตลอดจนชาติบ้านเมือง นับเป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีของทหารรักษาพระองค์อย่างแท้จริงและยั่งยืน ต่อมาวันที่ 4 ธ.ค.(เวลา 17.20น.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่างๆ เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค.ซึ่งปีนี้ พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุ 81 พรรษา โอกาสนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงมีพระราชดำรัสแทนพระองค์ ความว่า “...ที่ไม่เสด็จฯ ลง เพราะทรงมีพระอาการประชวรเล็กน้อย ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ขึ้นเฝ้าฯ ได้อธิบายให้ท่านฟังถึงอาการประชวรเบื้องต้น...” จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “...ทรงมีพระอาการช่องพระศอ คือทั้งหลอดลม หลอดอาหารอักเสบ ทำให้เสวยเครื่องไม่ค่อยได้ เขาก็เลยถวายน้ำเกลือและยา ส่วนทางด้านหลอดลม มีเสมหะออกมามาก ทำให้ท่านก็รู้สึกไม่ทรงพระสำราญ ทำให้อ่อนเพลีย แต่ว่าไม่มีไข้ ก็คิดว่าถ้าให้ท่านทรงพักไปสักพัก จนกระทั่งมีพระกำลัง ถึงค่อยออกมาพบท่านหรือทำอะไรได้...” ด้านสำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ในวันต่อมา(5 ธ.ค.) เรื่อง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร ฉบับที่ 1” ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระอาการเจ็บภายในพระศอลงไปถึงหลอดพระกระยาหารส่วนต้นตั้งแต่เมื่อค่ำวันที่ 3 ธ.ค. ทำให้ทรงเจ็บเวลากลืนพระกระยาหาร มีพระปรอท(ไข้)สูงเล็กน้อย แพทย์ได้ถวายตรวจพระวรกาย พบการอักเสบของพระศอบริเวณด้านหลังพระโอษฐ์ และได้ถวายตรวจพระโลหิต รวมทั้งถวายพระโอสถรักษา ต่อมา วันที่ 4 ธ.ค. หลังจากตื่นพระบรรทม มีพระอาการเจ็บพระศอมากขึ้น จนไม่ทรงสามารถเสวยพระกระยาหารและพระโอสถได้ แพทย์จึงได้ถวายน้ำเกลือผสมน้ำตาลทดแทน ตลอดจนถวายพระโอสถปฏิชีวนะผ่านทางหลอดพระโลหิต ทั้งนี้ ทรงมีพระปรอทลดลงในช่วงกลางวัน แต่ในตอนค่ำกลับมีพระปรอทเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ต่อมาวันที่ 5 ธ.ค. พระปรอทลดลงในตอนเช้า และสูงขึ้นในตอนเย็น เสวยพระกระยาหารเหลวได้บ้างเล็กน้อย สำหรับผลการตรวจพระโลหิตเมื่อค่ำวันที่ 3 ธ.ค.บ่งว่ามีการอักเสบ ส่วนการเพาะเชื้อในพระโลหิตและพระเสมหะ ไม่พบเชื้อแบคทีเรีย ล่าสุดเมื่อวานนี้(6 ธ.ค.) สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 ความว่า พระอาการประชวรโดยทั่วไปดีขึ้น มีพระปรอทต่ำกว่าวันก่อน ทรงพระกรรสะ(ไอ)เล็กน้อย ผลการตรวจเอ็กซเรย์พระอุระไม่พบการอักเสบของพระปัปผาสะ(ปอด) และพระหทัย(หัวใจ) ปกติ ผลการตรวจพระเสมหะโดยกล้องจุลทรรศน์ซ้ำไม่พบเชื้อแบคทีเรีย ผลการตรวจดีเอ็นเอของไวรัส ไม่พบเชื้อไข้หวัดใหญ่ และกำลังทดสอบเพื่อหาเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ ต่อไป นอกจากนั้นยังเสวยพระกระยาหารเหลวได้มากขึ้น คณะแพทย์จึงได้ถวายน้ำเกลือผสมน้ำตาลทดแทนน้อยลง

2. “ศาล รธน.”มีมติยุบทั้ง 3 พรรค “พปช.-ชท.-มฌ.”พร้อมตัดสิทธิ“กก.บห.”109 คน เป็นเวลา 5 ปี!
โฉมหน้า กก.บห.พรรคพลังประชาชนบางส่วนจาก 37 คนที่ต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากกรณียุบพรรค
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญนัดผู้บริหาร 3 พรรค คือ พรรคพลังประชาชน-ชาติไทย-มัชฌิมาธิปไตย แถลงปิดคดียุบพรรคในวันที่ 2 ธ.ค.(10.00น.) ทำให้หลายฝ่ายคาดหมายว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยว่าจะยุบพรรคทั้งสามหรือไม่ในวันเดียวกันหรือไม่ก็วันรุ่งขึ้น ปรากฏว่า ส.ส.พรรคพลังประชาชนและแกนนำ นปช.ที่จัดรายการ “ความจริงวันนี้”ต่างออกมาปลุกประชาชนคนเสื้อแดงให้ออกมาต่อต้านและขวางตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้ตัดสินคดียุบพรรคได้ โดยนายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำ นปช.แถลงระหว่างยึดลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการ กทม.ปลุกระดมคนเสื้อแดง(1 ธ.ค.)ว่า “...หากแนวร่วม นปช.จะเดินทางไปที่ศาลรัฐธรรมนูญก็ถือว่าเป็นสิทธิตามกฎหมาย ที่ประชาชนสามารถเดินทางไปทวงถามสิ่งต่างๆ จากศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอื่นๆ ได้” ขณะที่นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ 1 ในแกนนำ นปช.และ ส.ส.สัดส่วนพรรคพลังประชาชน ขึ้นเวทีปราศรัยตั้งแต่วันก่อนหน้า(30 พ.ย.)ว่า “จะปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญมายุบได้อย่างไร เพราะได้รับการแต่งตั้งจากรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยคนของ คมช. ดังนั้นจะต้องไม่ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปทำงานได้” ด้านนายประเสริฐ กิจเด่นนภาลัย ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชาชน ก็ออกมาขู่ว่าจะเกิดจลาจลหากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค โดยบอก(1 ธ.ค.)ว่า “แค่กลุ่มพันธมิตรฯ ไปปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศก็แย่แล้ว ยังมายุบพรรคอีก เราจึงยอมไม่ได้ ต้องนำพลังเสื้อแดงไปกดดันที่หน้าศาล และรอดูว่าศาลจะตัดสินอย่างไร ถ้าศาลตัดสินให้ยุบพรรค หลังจากนั้นภายใน 2 ชม.ก็คงเกิดเหตุการณ์รุนแรง และเข้าสู่การจลาจล ซึ่งถ้าศาลทำไม่ชอบ ศาลก็จะลุกเป็นไฟเอง” ไม่เพียง ส.ส.พรรคพลังประชาชนจะปลุกมวลชนคนเสื้อแดงไปกดดันศาลรัฐธรรมนูญ แม้แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่อยู่เฉย โดยได้ให้สัมภาษณ์นิตยสารรายสัปดาห์ “อาราเบียน บิซิเนส”ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทำนองว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินยุบพรรคถือเป็นการรัฐประหารรูปแบบหนึ่ง โดยบอกว่า “การรัฐประหารยังมีอยู่ มันเปลี่ยนรูปจากการรัฐประหารโดยทหาร มาเป็นการรัฐประหารผ่านกระบวนการยุติธรรม...” อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันแถลงปิดคดียุบพรรค(2 ธ.ค.) ปรากฏว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องเปลี่ยนสถานที่พิจารณาคดี จากศาลรัฐธรรมนูญไปเป็นที่ศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ ใกล้กองบัญชาการกองทัพไทย เนื่องจากม็อบเสื้อแดงได้ไปปิดล้อมศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถึงแม้จะเปลี่ยนสถานที่ ม็อบเสื้อแดงก็ยังตามไปปิดล้อมศาลปกครองอีก ซึ่งนอกจากม็อบเสื้อแดงจะใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัย จนส่งผลกระทบต่อการพิจารณาคดีของศาลปกครอง ทำให้ศาลต้องสั่งเลื่อนการพิจารณาคดีต่างๆ ออกไป 29 คดีแล้ว ม็อบเสื้อแดงยังพยายามจะเข้าไปภายในอาคารศาลปกครองด้วย ส่งผลให้ตำรวจและทหารต้องให้การอารักขาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ และเมื่อได้เวลาแถลงปิดคดี ปรากฏว่า พรรคพลังประชาชนไม่ส่งตัวแทนเข้าแถลงปิดคดี ขณะที่พรรคชาติไทย นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคเข้าแถลงปิดคดีด้วยตนเอง เช่นเดียวกับพรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน หัวหน้าพรรคเข้าแถลงปิดคดี ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้งนายบรรหารและนางอนงค์วรรณต่างแถลงปิดคดีด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ โดยเฉพาะนายบรรหารได้พนมมือขึ้นต่อหน้าตุลาการฯ และกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า “ผมขอกราบอาศัยบารมีของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 ท่าน ก็สุดแท้แต่จะกรุณา แต่พรรคชาติไทยจะมีอยู่หรือไม่ ผมขอกราบวิงวอน” ทั้งนี้ หลังการแถลงปิดคดีเสร็จสิ้น องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรค โดยเรียงลำดับจากพรรคพลังประชาชน ต่อด้วยพรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย โดยก่อนอ่านคำวินิจฉัย นายชัช ชลวร ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวยืนยันว่า การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญเป็นอิสระ ไม่มีการแทรกแซงหรือมีใครมากดดัน โดยศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยตามบทบัญญัติของ รธน.ที่บัญญัติไว้ และในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ คำวินิจฉัยของศาลย่อมจะส่งผลให้มีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ก็ขอให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นและยอมรับคำวินิจฉัยตามระบอบการปกครองโดยกฎหมาย จากนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยโดยมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้ยุบพรรคพลังประชาชนและพรรคมัชฌิมาธิปไตย พร้อมตัดสิทธิทางการเมือง กก.บห.พรรคทั้งสองเป็นเวลา 5 ปี ส่วนพรรคชาติไทยนั้น ตุลาการฯ มีมติ 8 ต่อ 1 ให้ยุบพรรค พร้อมตัดสิทธิทางการเมือง กก.บห.พรรคเป็นเวลา 5 ปีเช่นกัน โดยเสียงข้างน้อย 1 เสียงที่ลงมติไม่ยุบพรรคชาติไทย ก็คือ นายนุรักษ์ มาประณีต สำหรับเหตุผลที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคพลังประชาชน เนื่องจากเห็นว่า ศาลฎีกา(แผนกคดีเลือกตั้ง)ได้พิจารณาแล้วว่า มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายยงยุทธ ติยะไพรัช ส.ส.สัดส่วนและ กก.บห.พรรคฯ กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 53 และทำให้ผลการเลือกตั้ง ส.ส.เชียงรายไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงเห็นว่า ประเด็นนี้ยุติตามคำสั่งของศาลฎีกาแล้ว ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า รธน.มาตรา 237 วรรค 2 และมาตรา 68 เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาดว่า หากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า กก.บห.พรรคผู้ใดมีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลยการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือไม่แก้ไขให้สุจริตและเที่ยงธรรม กฎหมายให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิถีทางอันไม่ได้บัญญัติไว้ใน รธน. แม้ข้อเท็จจริง พรรคการเมืองหรือหัวหน้าพรรคอาจไม่มีส่วนร่วม แต่กฎหมายถือว่าเป็นผู้กระทำ จึงเป็นข้อยุติที่ไม่อาจโต้แย้งได้ และศาลรัฐธรรมนูญก็มิอาจวินิจฉัยเป็นอื่นได้ เนื่องจากความผิดในการซื้อเสียงเลือกตั้งเป็นความผิดที่ร้ายแรง กฎหมายจึงบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารพรรคต้องควบคุมดูแลไม่ให้คนของพรรคทำความผิด และมีบทบัญญัติให้พรรคและผู้บริหารพรรคต้องรับผิดชอบการกระทำของผู้แทน ส่วนที่พรรคพลังประชาชนยืนยันว่า หัวหน้าพรรคหรือ กก.บห.พรรคคนอื่นไม่มีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลยการกระทำผิดนั้น ศาลฯ เห็นว่า เมื่อผู้กระทำผิดเป็น กก.บห.พรรคเสียเอง ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า กก.บห.พรรคคนนั้นย่อมมีเจตนากระทำความผิดยิ่งกว่าเพียงผู้รู้เห็นเป็นใจกับผู้อื่นเสียอีก ศาลฯ ยังชี้ด้วยว่า การที่นายยงยุทธเป็นรองหัวหน้าพรรคและ กก.บห.พรรค เป็น ส.ส.หลายสมัย มีบทบาทสำคัญจนได้รับการยกย่องให้เป็นรองหัวหน้าพรรคและประธานรัฐสภา จึงมีหน้าที่ต้องควบคุมและสอดส่องดูแลให้สมาชิกพรรคที่ตนบริหารดำเนินการด้วยความสุจริต แต่กลับทำความผิดที่ร้ายแรงเสียเอง และเป็นภัยคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตยของประเทศ จึงมีเหตุสมควรต้องยุบพรรคพลังประชาชนเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานพฤติกรรมทางการเมืองที่ดีงาม เพื่อให้เกิดผลในทางยับยั้งและป้องกันไม่ให้กระทำความผิดซ้ำอีก ส่วนสาเหตุที่ศาลฯ ต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและ กก.บห.พรรคเป็นเวลา 5 ปีด้วยนั้น เนื่องจาก รธน.มาตรา 237 วรรค 2 และมาตรา 68 บัญญัติไว้ว่า เมื่อศาลมีคำสั่งยุบพรรคแล้ว จะต้องเพิกถอนสิทธิของหัวหน้าและ กก.บห.พรรคที่อยู่ในขณะกระทำความผิดเป็นเวลา 5 ปี ศาลจึงไม่มีดุลพินิจที่จะสั่งเป็นอื่นได้ ส่วนเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตยและพรรคชาติไทยนั้น ก็อาศัยหลักกฎหมายมาตราเดียวกับพรรคพลังประชาชน เนื่องจากผู้กระทำผิดเป็น กก.บห.พรรคเช่นเดียวกัน โดยในส่วนของพรรคชาติไทย ผู้กระทำผิด คือ นายมณเฑียร สงฆ์ประชา รองเลขาธิการพรรคและ กก.บห.พรรค ขณะที่พรรคมัชฌิมาธิปไตย ผู้กระทำผิดคือ นายสุนทร วิลาวัลย์ รองหัวหน้าพรรคและ กก.บห.พรรค จึงถือว่ามีเจตนากระทำผิด ซึ่งเป็นความผิดที่ร้ายแรงและเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศ จึงมีเหตุอันสมควรต้องยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและ กก.บห.พรรค 5 ปี ทั้งนี้ การที่พรรคทั้งสามถูกยุบ ส่งผลให้มี กก.บห.พรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจำนวน 109 คน โดยแบ่งเป็นพรรคพลังประชาชน 37 คน พรรคชาติไทย 43 คน และพรรคมัชฌิมาธิปไตย 29 คน

3. “เพื่อนเนวิน - 4 พรรคร่วมฯ ”สลับขั้ว-จับมือ “ปชป.”จัดตั้ง รบ. ด้าน “เพื่อไทย”ไม่ยอม ชิงตั้ง รบ.สู้!
สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค ปชป.จับมือตัวแทน 4 พรรคร่วม รบ.เดิมและกลุ่มเพื่อนเนวินบางส่วนแถลงจัดตั้ง รบ.ไม่น้อยกว่า 260 เสียง(6 ธ.ค.)
หลัง 3 พรรคร่วมรัฐบาล(พรรคพลังประชาชน-ชาติไทย-มัชฌิมาธิปไตย)ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค นอกจากจะส่งผลให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็น กก.บห.พรรคพลังประชาชนต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ในทันทีแล้ว ยังส่งผลให้รัฐมนตรีใน ครม.สมชายที่เป็น กก.บห.ของทั้ง 3 พรรคต้องหลุดจากตำแหน่ง 13 คนด้วย ทำให้เหลือรัฐมนตรีแค่ 22 คน ซึ่งต้องอยู่รักษาการจนกว่าจะได้ตัวนายกฯ คนใหม่ และฟอร์มรัฐบาลใหม่ ทั้งนี้ ผลจากการถูกยุบพรรคของทั้ง 3 พรรค ปรากฏว่า มี 2 พรรค(พปช.-ชท.)ที่ได้รับผลกระทบเรื่องจำนวน ส.ส.ที่ต้องลดจำนวนลง เนื่องจาก กก.บห.บางคนเป็น ส.ส.ด้วย จึงต้องสิ้นสภาพการเป็น ส.ส.ทันที โดยพรรคพลังประชาชน มี กก.บห.ที่เป็น ส.ส.ด้วย 15 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 14 คน ส.ส.สัดส่วน 1 คน(นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์) เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินยุบพรรค ได้มี กก.บห.พรรคพลังประชาชนชิงลาออกจากการเป็น ส.ส.สัดส่วนแล้ว 11 คน ส่งผลให้มีการเลื่อนรายชื่อผู้ที่อยู่ในบัญชีขึ้นมาเป็น ส.ส.สัดส่วนแทนคนที่ลาออก มีเพียงนายสมชายคนเดียวที่ไม่ได้ชิงลาออกก่อน(ถ้าลาออก นายสมชายต้องพ้นสภาพการเป็นนายกฯ ทันที เพราะกฎหมายกำหนดให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.) เมื่อพรรคพลังประชาชนถูกยุบ จึงทำให้จำนวน ส.ส.สัดส่วนของพรรคหายไปแค่ 1 คนเท่านั้น จากที่ควรจะหายไปจริงๆ 12 คน ส่วนพรรคชาติไทย มี กก.บห.ที่เป็น ส.ส.19 คน โดยแบ่งเป็น ส.ส.เขต 16 คน ส.ส.สัดส่วน 3 คน สำหรับ ส.ส.เขตที่ถูกตัดสิทธิ ต้องมีการเลือกตั้งซ่อมภายใน 45 วัน ซึ่ง กกต.กำหนดวันเลือกตั้งซ่อมแล้วในวันที่ 11 ม.ค. ส่วน ส.ส.ที่ไม่ถูกตัดสิทธิแต่สังกัดพรรคพลังประชาชน-ชาติไทย-มัชฌิมาธิปไตยอยู่นั้น รธน.เปิดช่องให้ไปอยู่พรรคอื่นได้ภายใน 60 วัน หากหาพรรคอยู่ไม่ได้ ต้องพ้นสภาพการเป็น ส.ส. ซึ่งก็ปรากฏว่า ส.ส.พรรคพลังประชาชนส่วนใหญ่ย้ายไปอยู่พรรคเพื่อไทยที่ตั้งสำรองไว้ล่วงหน้าแล้ว ขณะที่ ส.ส.พรรคชาติไทย จะย้ายไปอยู่พรรคชาติไทยพัฒนาที่ตั้งสำรองไว้ ส่วน ส.ส.พรรคมัชฌิมาธิปไตยจะย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทยที่ตั้งสำรองไว้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในแง่กฎหมายยังมีความไม่ชัดเจนในบางประเด็น เช่น ส.ส.สัดส่วนของพรรคที่ถูกยุบนั้น สามารถย้ายไปอยู่พรรคอื่นได้เช่นเดียวกับ ส.ส.เขตหรือไม่ ซึ่งบางฝ่ายมองว่า ไม่น่าจะย้ายได้ เนื่องจากการเลือกตั้ง ส.ส.สัดส่วน เป็นการเลือกพรรค ไม่ใช่เลือกตัวบุคคลเหมือนเลือก ส.ส.เขต ดังนั้นเมื่อพรรคใดถูกยุบไปแล้ว บัญชีรายชื่อ ส.ส.สัดส่วนของพรรคนั้นก็ต้องสิ้นสภาพไปด้วย ซึ่งหาก ส.ส.สัดส่วนต้องสิ้นสภาพ ไม่เพียงจะส่งผลกระทบต่อยอดจำนวน ส.ส.ของพรรคพลังประชาชนและพรรคชาติไทย แต่ยังจะทำให้นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประชุมสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ได้ เนื่องจากนายชัย เป็น ส.ส.สัดส่วนของพรรคพลังประชาชน ซึ่งประเด็นสถานะและการย้ายพรรคของ ส.ส.สัดส่วนนี้ ทางกลุ่ม 40 ส.ว.ได้ยื่นเรื่องให้นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วเมื่อ 4 ธ.ค. รวมทั้งขอให้ศาลฯ วินิจฉัยด้วยว่า นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล สามารถรักษาการนายกฯ แทนนายสมชายได้หรือไม่ เนื่องจากกฎหมายระบุว่า ผู้ที่จะเป็นนายกฯ ได้ ต้องเป็น ส.ส. แต่นายชวรัตน์ไม่ได้เป็น ส.ส. สำหรับความเคลื่อนไหวในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรคถูกยุบนั้น หลายฝ่ายในสังคม เช่น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ,สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ออกแถลงการณ์(3 ธ.ค.)แนะให้พรรคร่วมรัฐบาลเปลี่ยนขั้วไปร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่า รัฐบาลปัจจุบันหมดความสามารถและหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศโดยสิ้นเชิงแล้ว ดังนั้นรัฐบาลควรเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองอื่นที่ได้รับเลือกตั้งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลก็ควรแสดงความกล้าหาญถอนตัวเปิดทางให้ผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย หากไม่ประสบความสำเร็จ ควรยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน อย่างไรก็ตาม การที่พรรคประชาธิปัตย์จะสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ต้องขึ้นอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรคว่าจะยอมเปลี่ยนขั้วมาจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ นอกจาก 5 พรรคร่วมฯ แล้ว ยังมีอีก 1 กลุ่มการเมืองที่เป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลเช่นกัน คือ “ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน” ที่มีสมาชิกประมาณ 70 คน ซึ่งปรากฏว่า สมาชิกกลุ่มนี้เสียงแตกเป็น 2 ฝ่าย โดยครึ่งหนึ่งเลือกที่จะอยู่กับพรรคเพื่อไทย ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งประมาณ 37 คน ยังไม่ตัดสินใจว่าจะไปอยู่กับพรรคใด แต่มีแนวโน้มว่าจะไม่อยู่กับพรรคเพื่อไทย สังเกตได้จากการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ของนายเนวิน ชิดชอบ อดีต กก.บห.พรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ถึงจุดยืนของกลุ่มเพื่อนเนวิน 37 คนว่า ต้องการผ่าทางตันเพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อย โดยกลุ่มเพื่อนเนวินจะช่วยและสนับสนุนให้ได้นายกฯ คนใหม่ที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นและกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ นายเนวิน ยังพูดในลักษณะแตกหักกับ พ.ต.ท.ทักษิณด้วยว่า “ขณะนี้บ้านเมืองเสียหายมากแล้ว...มันหมดเวลาแล้วที่ผู้มีอำนาจจะนึกถึงการกลับเข้าประเทศ โดยใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน แต่เราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรักษาสถาบันหลัก คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เอาไว้เหนือสิ่งอื่นใด” ทั้งนี้ มีรายงานว่า หลังกลุ่มเพื่อนเนวิน 37 คนส่งสัญญาณว่าจะหันไปหนุนพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ปรากฏว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่พอใจอย่างมาก โดยได้ติดต่อให้นายเนวินเดินทางไปพบ แต่นายเนวินไม่เดินทางไปพบแต่อย่างใด สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับกรณีที่ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางจากฮ่องกงกลับมายังประเทศไทยเมื่อคืนวันที่ 5 ธ.ค. พร้อมด้วยบุตรสาว น.ส.พิณทองทา ชินวัตร ท่ามกลางข่าวสะพัดว่า คุณหญิงพจมานต้องการมาคอนโทรลพรรคเพื่อไทยที่กำลังมีปัญหาเรื่องกลุ่มเพื่อนเนวิน ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา โฆษกส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ รีบออกมาแก้ต่างให้คุณหญิงพจมาน โดยยืนยันว่า คุณหญิงพจมานไม่ได้กลับมาเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ เพียงแค่กลับมาดูแลนางพจนีย์ ณ ป้อมเพชร มารดาที่อายุมากและกำลังจะเข้ารับการผ่าตัดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายวิตกกังวลว่า การกลับมาของคุณหญิงพจมานอาจทำให้สถานการณ์ทางการเมืองวุ่นวาย และการสลับขั้วเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ตามที่หลายฝ่ายเรียกร้องอาจยิ่งเป็นไปได้ยาก สังเกตได้จาก ส.ส.พรรคพลังประชาชนหลายคน(เช่น ร.ต.พงศ์พันธุ์ สุนทรชัย ส.ส.หนองคาย)ที่ย้ายไปอยู่พรรคเพื่อไทย พยายามข่มขู่ ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน 37 คนไม่ให้หันไปหนุนพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล โดยบอกว่า หากกลุ่มเพื่อนเนวินไปร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะเสนอให้นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รักษาการนายกฯ ประกาศยุบสภา เมื่อนั้นกลุ่มเพื่อนเนวินก็เตรียมสอบตกได้เลยในการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่คำขู่นี้ก็ไม่ได้ผล เพราะในที่สุด ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน 37 คนได้ตัดสินใจหนุนพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล เช่นเดียวกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมอีก 4 พรรคที่ตัดสินใจหนุนพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยแกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน 37 คน (นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์) และตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลเดิม 4 พรรค เช่น พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตที่ปรึกษาพรรคชาติไทยที่กำลังกลายเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา , ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี จากพรรคเพื่อแผ่นดิน , นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล จากพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ,และนางพรทิวา นาคาศัย จากพรรคมัชฌิมาธิปไตยที่กำลังกลายเป็นพรรคภูมิใจไทย ได้เปิดแถลงประกาศจัดตั้งรัฐบาลเมื่อเย็นวานนี้(6 ธ.ค.)ที่โรงแรมสุโขทัย โดยยืนยันว่าสามารถรวมเสียง ส.ส.ได้ไม่น้อยกว่า 260 เสียง และจะเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่พรรคเพื่อไทย พรรคใหม่ของพรรคพลังประชาชน ไม่พอใจที่พรรคประชาธิปัตย์จับมือพรรคร่วมรัฐบาลและกลุ่มเพื่อนเนวิน 37 คนจัดตั้งรัฐบาล แกนนำพรรคเพื่อไทย(เช่น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ กก.บห.พรรคพลังประชาชนที่ถูกตัดสิทธิฯ 5 ปี ,พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาฯ)จึงได้เดินเกมจับมือพรรคร่วมรัฐบาลเดิมบางพรรค คือ พรรคประชาราช และพรรคเพื่อแผ่นดินบางส่วน(เช่น นายมั่น พัธโนทัย) ประกาศพร้อมจะจัดตั้งรัฐบาลเช่นกัน โดยยืนยันว่ามีเสียง ส.ส.พอจัดตั้งรัฐบาล คือมีกว่า 228 เสียงแล้ว พร้อมมั่นใจว่า ในที่สุดแล้ว กลุ่มเพื่อนเนวิน 37 คนจะกลับมาอยู่กับพรรคเพื่อไทย สำหรับความคืบหน้าการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคเพื่อไทยในวันนี้(7 ธ.ค.)เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและ กก.บห.พรรคชุดใหม่ ปรากฏว่า ผิดคาด เพราะเดิมมีการคาดหมายว่า ผู้ที่จะได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคก็คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ปรากฏว่า ที่ประชุมมีการเสนอชื่อผู้เหมาะสมเพียงคนเดียวคือ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ซึ่งทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ สร้างความงุนงงให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นอันมากที่ไม่มีใครเสนอชื่อตนเป็นหัวหน้าพรรค อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้แกนนำพรรคเพื่อไทยบางคนเคยส่งสัญญาณแล้วว่า นายกฯ ไม่จำเป็นต้องเป็นหัวหน้าพรรคก็ได้ ดังนั้นโอกาสที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะได้เป็นนายกฯ ในอนาคตหากมีการเลือกตั้งใหม่ตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณฝันไว้ ยังอาจเป็นจริงได้ เป็นที่น่าสังเกตว่า จำนวน กก.บห.พรรคเพื่อไทยชุดใหม่มีแค่ 13 คน น้อยกว่า กก.บห.พรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบซึ่งมี 37 คน โดยพรรคเพื่อไทยเตรียมตั้งรับไม่ให้พรรคต้องถูกยุบซ้ำอีก ด้วยการจะไม่ให้ กก.บห.พรรคลงสมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดังนั้นหากมีผู้สมัคร ส.ส.รายใดทุจริตและถูกจับได้ ก็จะถูกตัดสิทธิเฉพาะตัว เนื่องจากไม่ได้เป็น กก.บห.พรรค

4. “พธม.”ประกาศชัยชนะ-ยุติชุมนุมทุกจุด ขณะที่ “สน.นายกฯ”รวมหัว “ตร.- อัยการ”เอาผิด พธม. ด้าน “บินไทย”เอาด้วย ฟ้อง 2 หมื่นล. !
แกนนำพันธมิตรฯ ทั้งรุ่น 1 และ 2 แถลงยุติการชุมนุมทั้งหมด หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบ 3 พรรคร่วมรัฐบาล(2 ธ.ค.)
หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน-ชาติไทย-มัชฌิมาธิปไตย พร้อมตัดสิทธิทางการเมือง กก.บห.พรรคทั้งสามเป็นเวลา 5 ปีเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ปรากฏว่า แกนนำพันธมิตรฯ ทั้งรุ่น 1 และ 2 ได้ประชุมและมีมติยุติการชุมนุมทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค.เป็นต้นไป และพร้อมคืนพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินดอนเมือง-ทำเนียบรัฐบาลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที ทั้งนี้ แกนนำพันธมิตรฯ ให้เหตุผลที่ยุติชุมนุมผ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 27 ว่า หลังจากพันธมิตรฯ ชุมนุมใหญ่ เพื่อคัดค้านการแก้ไข รธน.2550 และขับไล่รัฐบาลทรราชฆาตกรหุ่นเชิด เพื่อนำไปสู่การเมืองใหม่ ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.-2 ธ.ค.รวม 192 วัน นับเป็นการชุมนุมต่อเนื่องยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยพันธมิตรฯ ได้ทำหน้าที่พิทักษ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และ รธน. ซึ่งการพิทักษ์ รธน.ได้สำเร็จเป็นผลให้กระบวนการยุติธรรมสามารถเดินหน้าพิสูจน์ความผิดของนักการเมืองได้ ดังนั้น คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งยุบ 3 พรรคการเมือง นอกจากแสดงให้เห็นว่า การได้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินที่ผ่านมา ไม่ใช่วิถีทางของประชาธิปไตยตาม รธน. แต่เป็นการได้อำนาจด้วยการทุจริตเลือกตั้งแล้ว ยังเป็นบทพิสูจน์ด้วยว่า การชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็นความถูกต้องชอบธรรม เมื่อพันธมิตรฯ ได้รับชัยชนะในการพิทักษ์ รธน.2550 จนทำให้เกิดการยุบพรรคฝ่ายรัฐบาลถึง 3 พรรค และได้รับชัยชนะในการขับไล่รัฐบาลทรราชฆาตกรหุ่นเชิดเป็นผลสำเร็จ พันธมิตรฯ จึงขอประกาศว่า การได้รับชัยชนะในครั้งนี้ถือเป็น “ชัยชนะของประชาชน” และเมื่อได้รับชัยชนะแล้ว ประกอบกับเป็นช่วงเวลามหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พันธมิตรฯ จึงไม่ปรารถนาที่จะชุมนุมต่อโดยไม่จำเป็น จึงขอประกาศยุติชุมนุมทั้งที่ทำเนียบฯ – สนามบินสุวรรณภูมิ – สนามบินดอนเมือง ตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. อย่างไรก็ตาม พันธมิตรฯ ยืนยันว่า หากรัฐบาลหุ่นเชิดของระบอบทักษิณกลับมาอีก หรือมีการแก้ไข รธน.หรือกฎหมายเพื่อฟอกผิดให้คนในระบอบทักษิณ เอื้อประโยชนให้นักการเมือง หรือลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ พันธมิตรฯ ก็จะกลับมาอีก และว่า หลังจากนี้ รัฐบาลชุดใดใดก็ตามที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน แต่ไม่มีความจริงใจในการปฏิรูปสู่การเมืองใหม่ร่วมกับประชาชน พันธมิตรฯ ก็จะกลับมาอีกเช่นกัน ด้านศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กทม.ได้สรุปยอดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.-2 ธ.ค. ทั้งในส่วนของพันธมิตรฯ และกลุ่ม นปช.พบว่า มีผู้บาดเจ็บ 737 ราย เสียชีวิต 8 ราย โดยผู้เสียชีวิตฝ่าย นปช.มีแค่ 1 คน คือ นายณรงค์ศักดิ์ กอบไธสง จากเหตุที่ นปช.ยกพวกจากสนามหลวงมาบุกพันธมิตรฯ ที่สะพานมัฆวานฯ เมื่อ 2 ก.ย. ส่วนผู้เสียชีวิตฝ่ายพันธมิตรฯ จำนวน 7 คนนั้น ประกอบด้วย 1. น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุธ หรือน้องโบว์ จากเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาที่มีส่วนประกอบของสารระเบิดชนิดร้ายแรงยิงเข้าใส่เพื่อสลายการชุมนุม 7 ต.ค. 2. พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี จากเหตุระเบิดรถจี๊ปเชอโรกีหน้าพรรคชาติไทยเมื่อ 7 ต.ค. 3.นายเจนกิจ กลัดสาคร จากเหตุคนร้ายยิงระเบิดเข้าใส่ผู้ชุมนุมในทำเนียบฯ เมื่อ 20 พ.ย. 4. นายยุทธพงษ์ เสมอภาค การ์ดพันธมิตรฯ จากเหตุคนร้ายปาระเบิดเข้าใส่ที่ตั้งการ์ดพันธมิตรฯ บริเวณสะพานมัฆวานฯ เมื่อ 22 พ.ย. 5. น.ส.กมลวรรณ หมื่นหนู หรือน้องโบ จากเหตุคนร้ายยิงระเบิดเข้าใส่ผู้ชุมนุมในทำเนียบฯ เมื่อ 30 พ.ย. 6. นายรณชัย ไชยศรี จากเหตุคนร้ายยิงระเบิดเข้าใส่ผู้ชุมนุมที่สนามบินดอนเมืองเมื่อ 2 ธ.ค. ส่วนพันธมิตรฯ ที่เสียชีวิตอีก 1 คน คือ นายเศรษฐา เจียมกิจวัฒนา บิดาของนายเทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา แกนนำกลุ่มทหารเสือพระราชา เจ้าของสถานีวิทยุ “วิหคเรดิโอ”ที่เชียงใหม่ ซึ่งถูกแนวร่วม นปช.กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ปิดล้อมทุบรถและลากตัวนายเศรษฐาออกมารุมซ้อม ก่อนใช้มีดแทงคอ-ฟันแขน และยิงซ้ำจนเสียชีวิตเมื่อ 26 พ.ย. ทั้งนี้ หลังพันธมิตรฯ ประกาศยุติชุมนุมและส่งมอบพื้นที่คืนผู้เกี่ยวข้อง ปรากฏว่า รัฐบาลโดยสำนักนายกฯ รวมทั้งตำรวจและแกนนำ นปช.ได้พยายามหาช่องเล่นงานแกนนำพันธมิตรฯ ทุกวิถีทาง โดยในส่วนของทำเนียบรัฐบาลนั้น แม้ตึกสำคัญอย่างตึกไทยคู่ฟ้า-ตึกสันติไมตรี-ตึกนารีสโมสร จะไม่มีอะไรเสียหายหรือสูญหาย แต่นายลอยเลื่อน บุนนาค รองเลขาธิการนายกฯ และนายนัที เปรมรัศมี ปลัดสำนักนายกฯ อ้างว่า ตึกอื่นๆ มีทรัพย์สินสูญหายหลายรายการ ดังนั้นจะแจ้งความดำเนินคดีพันธมิตรฯ แน่นอน ด้านตำรวจสันติบาล รีบรับลูกด้วยการไปตั้งโต๊ะในทำเนียบฯ เพื่อแจกแบบฟอร์มให้ข้าราชการแจ้งความได้ทันที เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่เพียงสำนักนายกฯ จะยุให้ข้าราชการแจ้งความพันธมิตรฯ แต่สำนักนายกฯ ยังได้เรียกตำรวจกองบังคับการตำรวจสันติบาลและสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.)เข้าหารือถึงวิธีที่จะดำเนินคดีพันธมิตรฯ ด้วย(4 ธ.ค.) โดยปลัดสำนักนายกฯ อ้างว่า ตำรวจและอัยการสูงสุดอยู่ในฐานะที่ปรึกษาด้านกฎหมายของรัฐ จึงมีการหารือเรื่องรูปคดีที่ต้องดำเนินการกับพันธมิตรฯ ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรฯ ชี้แจงกรณีมีข่าวว่าทรัพย์สินในทำเนียบฯ บางส่วนสูญหายว่า พันธมิตรฯ ได้พยายามดูแลตึกต่างๆ โดยเฉพาะตึกสำคัญ 3 ตึกอย่างไทยคู่ฟ้า-สันติไมตรี-นารีสโมสร ส่วนตึกอื่นที่เจ้าหน้าที่อ้างว่ามีทรัพย์สินสูญหาย น่าจะเป็นฝีมือของมิจฉาชีพที่แฝงตัวเข้ามาระหว่างชุมนุม ซึ่งการ์ดพันธมิตรฯ เคยจับกุมได้กว่า 10 คน โดยได้ส่งตัวให้ตำรวจ สน.นางเลิ้งทุกครั้ง และเก็บของกลางไว้บางรายการ นายสุริยะใส ยังย้ำด้วยว่า หากพันธมิตรฯ ต้องการทำลายข้าวของในทำเนียบฯ จริง ทำไมไม่เลือกลงมือที่ตึกสำคัญ 3 ตึก ที่มีทรัพย์สินมูลค่ามหาศาล ซึ่งจากการตรวจสอบไม่มีความเสียหายใดใด ส่วนความเสียหายจากการปิดสนามบินที่บอร์ดการบินไทยจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากพันธมิตรฯ 2 หมื่นล้านนั้น นายสุริยะใส บอกว่า เป็นการผิดสัจจะวาจาของบอร์ดการบินไทยและบอร์ดการท่าอากาศยานฯ เพราะบอร์ดของทั้ง 2 องค์กรหลายคนเป็นคนรับใช้ระบอบทักษิณ นายสุริยะใส ยังชี้ด้วยว่า ความเสียหายจากการปิดสนามบินคงเทียบไม่ได้กับการสูญเสียของประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวอย่างสันติ จนต้องเสียชีวิตทั้งหมด 7 คน เป็นที่น่าสังเกตว่า กรณีที่บอร์ดการบินไทยจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากพันธมิตรฯ 2 หมื่นล้านนั้น นายสุรชัย ธารสิทธิพงษ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานบอร์ดการบินไทย บอกว่า ตัวเลข 2 หมื่นล้าน ไม่ใช่ความเสียหายที่การบินไทยได้รับระหว่างการชุมนุมเท่านั้น แต่เป็นการประเมินจากผลกระทบต่อเนื่องที่จะเกิดกับการบินไทยใน 6 เดือนข้างหน้าด้วย ด้านแกนนำ นปช.อย่าง นพ.เหวง โตจิราการ ,นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ ,นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ พร้อมพวก ก็พยายามยัดข้อหาก่อการร้ายให้แกนนำพันธมิตรฯ ที่ปิดสนามบิน ด้วยการเข้าแจ้งความต่อตำรวจกองปราบปราม(3 ธ.ค.)ให้ดำเนินคดี 12 แกนนำพันธมิตรฯ ฐานก่อการร้าย ด้าน พล.ต.ต.พงษ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บังคับการกองปราบปราม แม้จะไม่แสดงความเห็นว่าการปิดสนามบินของพันธมิตรฯ เข้าข่ายก่อการร้ายหรือไม่ แต่ พล.ต.ต.พงษ์พัฒน์ ก็ให้คำจำกัดความของคำว่า การก่อการร้ายตามหลักสากลและหลักวิชาการว่า คือ “การกระทำของคนกลุ่มใดๆ ที่จะทำให้เกิดความหวาดกลัวเกิดขึ้นในสังคม เช่น กลุ่มคนร้ายใช้วิธีการฆ่าแล้วตัดคอนำไปทิ้งไว้กลางตลาด ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะสร้างความหวาดกลัวให้กับคนทั่วไป” ทั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่า การปิดสนามบินของพันธมิตรฯ ไม่เข้าข่ายก่อการร้ายเพราะไม่ได้ทำให้เกิดความหวาดกลัวในสังคม เพียงแต่ทำให้การเดินทางโดยเครื่องบินหยุดชะงักชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจาก ผอ.การท่าอากาศยานสั่งปิดสนามบินทั้ง 2 แห่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่เพียงสำนักนายกฯ -แกนนำ นปช.และบอร์ดการบินไทยจะพยายามเล่นงานพันธมิตรฯ เท่านั้น แต่ตำรวจก็โดดลงมาร่วมวงด้วย โดย พ.ต.ท.พร แก้วช้าง ตัวแทนชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจเพื่อประชาชนแห่งชาติ ได้เข้าร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)เมื่อ 4 ธ.ค.ให้ดำเนินคดี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และกลุ่มพันธมิตรฯ อีก 13 คน ข้อหาก่อการร้ายเช่นกัน

5. สรุปยอดผู้ลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. 14 คน -ไร้เงา “ปุระชัย”- เพื่อไทย ส่ง “แซม”ลงชิง!
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ และแกนนำพรรคเพื่อไทย ช่วยหาเสียงให้นายยุรนันท์ ภมรมนตรี ที่ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรค(7 ธ.ค.)
หลังจาก กกต.กทม.ได้เปิดรับสมัครผู้สนใจลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.-4 ธ.ค. ปรากฏว่า มีผู้มาสมัครทั้งสิ้น 14 คน ประกอบด้วย นายสุเมธ ตันธนาศิริกุล สมัครในนามทีมกรุงเทพฯ พัฒนา ได้หมายเลข 1 ,ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ ได้หมายเลข 2 ,นางลีนา จังจรรจา ผู้สมัครอิสระ ได้หมายเลข 3 ,นางธรณี ฤทธีธรรมรงค์ ผู้สมัครอิสระ ได้หมายเลข 4 ,นายกงจักร ใจดี ผู้สมัครอิสระ ได้หมายเลข 5 ,ร.อ.เมตตา เต็มชำนาญ สมัครในนามกลุ่มเมตตาธรรม ได้หมายเลข 6 ,นายอิสระ อมรเวช ผู้สมัครอิสระ ได้หมายเลข 7 ,ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้สมัครอิสระ ได้หมายเลข 8 ,นายวิทยา จังกอบพัฒนา ผู้สมัครอิสระ ได้หมายเลข 9 ,นายยุรนันท์ ภมรมนตรี สมัครในนามพรรคเพื่อไทย ได้หมายเลข 10 ,นายธรรณม์ชัย รุ่งจิรโรจน์ ผู้สมัครอิสระ ได้หมายเลข 11 ,นายแก้วสรร อติโพธิ ผู้สมัครอิสระ ได้หมายเลข 12 ,นายอุดม วิบูลเทพาชาติ ผู้สมัครอิสระ ได้หมายเลข 13 และนายเอธัส มนต์เสรีนุสรณ์ สมัครในนามพรรคสุวรรณภูมิ ได้หมายเลข 14 ส่วนที่มีข่าวว่า ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ อาจจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ด้วย เพราะได้ส่งคนมาขอใบสมัครนั้น ไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวของ ร.ต.อ.ปุระชัยแต่อย่างใด ด้าน กกต.กำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.แล้วในวันที่ 11 ม.ค.2552
กำลังโหลดความคิดเห็น