สธ. เผยสถานการณ์ไข้ป่าทั่วประเทศพบ ผู้ป่วยไทย-เทศเกือบ 5 หมื่นราย ชี้ส่วนใหญ่อยู่เขตชายแดนพม่าและกัมพูชา ย้ำจนท.เฝ้าระวังผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง เริ่มมอบมุ้งชุบสารป้องกันมาลาเรียให้ทหารพรานชายแดนเขาพระวิหารก่อน 100 หลัง
วันนี้(8 พ.ย. 51) ที่จังหวัดศรีสะเกษ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะผู้บริหาร เดินทางไปเยี่ยมทหารที่ป่วยด้วยโรคมาลาเรียหรือไข้ป่า ประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อ ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา และให้ขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ ที่โรงพยาบาลกันทรลักษณ์ โดยได้มอบกระเช้าของขวัญให้กับ ทหารพรานป่วยด้วยโรคมาลาเรีย นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลกันทรลักษณ์ จำนวน 3 ราย หลังจากนั้นเดินทางไปที่ค่ายทหารพรานภูน้อย ได้มอบสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภค ให้ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามแนวชายแดนด้านเขาพระวิหาร ประกอบด้วย มุ้งชุบน้ำยาไพรีทรอยด์ 100 หลัง ยาทากันยุง เพื่อใช้ป้องกันโรคไข้มาลาเรีย เจลล้างมือ ยาสีฟันและแปรงสีฟัน
นายวิชาญ กล่าวว่า โรคมาลาเรียหรือไข้จับสั่น เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังและมักพบในพื้นที่ชนบทตามป่าเขา โดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำเชื้อ จะชุกชุมมากในฤดูฝน สำหรับสถานการณ์มาลาเรียทั่วประเทศตั้งแต่มกราคม – กันยายน 2551 พบผู้ป่วยไทยจำนวน 20,506 ราย ผู้ป่วยต่างชาติ จำนวน 20,803 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงของประเทศ 10 จังหวัด ได้แก่ ตากสูงสุด 4,471 ราย รองลงมา ได้แก่ ยะลา 3,971 ราย นราธิวาส 1,284 ราย แม่ฮ่องสอน 1,096 ราย ระนอง 1,033 ราย กาญจนบุรี 1,021 ราย ชุมพร 986 ราย สงขลา 759 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 742 ราย และจันทบุรี 664 ราย ซึ่งจะพบว่าบริเวณพื้นที่ที่พบมาลาเรียเกือบทั้งหมด จะเป็นบริเวณป่าเขาชายแดนของประเทศ โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย-พม่า และไทย-กัมพูชา สำหรับจังหวัดศรีสะเกษ ตั้งแต่ตุลาคม 2550- กันยายน 2551 พบผู้ป่วยมาลาเรีย 321 ราย
นายวิชาญ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเน้นให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังผู้ป่วยมาลาเรียทั้งคนไทยและต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ได้ตั้งหน่วยมาลาเรีย 300 แห่ง และศูนย์มาลาเรียชุมชนในพื้นที่ที่มีไข้มาลาเรียชุกชุม กว่า 500 แห่งทั่วประเทศ เพื่อตรวจและรักษาโรคมาลาเรียฟรีทั้งหมด โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะตรวจเชื้อทางกล้องจุลทรรศน์ หากพบเชื้อจะให้การรักษาทันที ไม่ต้องเดินทางไปรักษาในโรงพยาบาล
ทางด้านนพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้ป่วยมาลาเรีย จะมีอาการหลังถูกยุงก้นปล่องกัด 10-14 วัน จะมีไข้สูง หนาวสั่น จับไข้เป็นเวลาหรือวันเว้นวัน ให้รีบไปพบเจ้าหน้าที่หรือแพทย์ทันที อย่างไรก็ดีการป้องกันเพื่อไม่ให้ถูกยุงกัดเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ทายากันยุง นอนในมุ้ง ซึ่งขณะนี้หน่วยมาลาเรียหรือศูนย์มาลาเรีย ได้ให้บริการชุบมุ้งด้วยสารไพรีทรอยด์ ซึ่งมีคุณสมบัติป้องกันยุง ทำให้ยุงที่เกาะมุ้งและสัมผัสน้ำยาเป็นอัมพาตและตายภายใน 3 วินาที ไม่เป็นพิษต่อคน แต่ต้องชุบสารเคมีทุก 6 เดือนเพื่อคงประสิทธิภาพต่อเนื่อง