xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เผย 9 จุดพักชายแดนป่วยโรคติดต่อจากปี 49 มี 6 หมื่นราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เผยในปี 2549 พบต่างชาติที่อพยพและอยู่ศูนย์พักพิงชั่วคราวตามชายแดนไทย 9 แห่งใน 4 จังหวัด คือ ราชบุรี กาญจนบุรี ตาก และแม่ฮ่องสอน ป่วยจากโรคติดต่อที่อยู่ในข่ายการเฝ้าระวังจำนวน 58,363 ราย โดยเป็นโรคอุจจาระร่วงมากอันดับ 1 ตามด้วยโรคมาลาเรีย บิด ไข้เลือดออก เสียชีวิต 36 ราย

นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ทำการเฝ้าระวังโรคติดต่อที่เกิดในกลุ่มของชาวต่างชาติที่อพยพมาอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดนไทย-พม่า 9 แห่ง ในพื้นที่ 4 จังหวัดคือ บ้านถ้ำหิน จ.ราชบุรี, บ้านต้นยาง จ.กาญจนบุรี, บ้านแม่หละ บ้านอุ้มเปี้ยม และบ้านนุโพ จ.ตาก, บ้านปางควาย-ปางแทรกเตอร์ บ้านแม่สุริน บ้านแม่ละอู และบ้านแม่ลามาหลวง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีชาวต่างชาติพักอาศัยประมาณ 8 หมื่นคน

ผลการเฝ้าระวัง ในปี 2549 พบกลุ่มชาวต่างชาติป่วยจากโรคติดต่อจำนวน 58,363 ราย ที่พบมาก 5 อันดับแรกได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 29,949 ราย โรคมาลาเรีย 12,713 ราย โรคบิด 11,877 ราย โรคไข้เลือดออก 2,307 ราย และโรคสครับไทฟัส 1,517 ราย เสียชีวิตทั้งหมด 36 ราย โรคที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ โรคมาลาเรีย 16 ราย วัณโรค 8 ราย โรคสครับไทฟัส 4 ราย โรคไข้เลือดออก 2 ราย

สำหรับการเฝ้าระวังผู้ป่วยที่อยู่นอกพื้นที่พักพิงชั่วคราวที่เข้าไปรักษากับหน่วยแพทย์ในพื้นที่พักพิง ในปี 2549 พบทั้งหมด 3,274 ราย โรคที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ โรคไข้มาลาเรีย 1,873 ราย โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 789 ราย โรคบิด 376 ราย โรควัณโรค 135 ราย โรคสครับไทฟัส 101 ราย

ทางด้านนพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สาเหตุที่ประชาชนในศูนย์พักพิงมีการเจ็บป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงกันมาก เนื่องจากรับประทานอาหารและน้ำดื่มไม่สะอาด มักจะใช้น้ำจากลำคลอง ลำธารที่ไหลผ่านศูนย์ บางครอบครัวใช้น้ำจากลำคลอง ทั้งอาบและดื่ม โดยไม่ได้ต้มฆ่าเชื้อโรคก่อน

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ได้ให้สำนักงานควบคุมป้องกันโรค ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด ควบคุมเรื่องความสะอาดสิ่งแวดล้อม จัดทำเอกสารแนะนำเรื่องอาหารการกินที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ เป็นภาษาพม่า ให้ถ่ายอุจจาระลงส้วม ห้ามถ่ายลงในแม่น้ำลำธาร เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่ระบาดสู่พื้นที่รอบจุดพักพิง
กำลังโหลดความคิดเห็น