"ฮอโลแกรม" หรือภาพแบบฮอโลกราฟี แม้ว่าจะเป็นที่รู้จักกันมานาน และคุ้นเคยกันอย่างดีตามภาพยนตร์ไซ-ไฟ รวมถึงสติกเกอร์ภาพ 3 มิติตามบัตรเครดิตต่างๆ แต่สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นก็ทำให้กลับมาพูดถึงอีกครั้ง ด้วยการรายงานสดผ่านฮอโลแกรม อันเป็นเหตุให้เราต้องทบทวนถึงความหมายของคำนี้กันอีกรอบ
จากสารานุกรมออนไลน์วิกิพีเดียภาคภาษาไทยระบุว่า ฮอโลแกรมมาจากเทคนิค "ฮอโลกราฟี" (holography) หมายถึง กระบวนการสร้างภาพฮอโลแกรม ซึ่งเป็นภาพ 3 มิติ โดยเป็นภาพที่บันทึกลงบนฟิล์ม หรือ แผ่นเคลือบด้วยสารสำหรับบันทึกแสง ซึ่งผ่านเทคนิคการบันทึกด้วยการใช้แสงที่มีหน้าคลื่นสอดคล้องกัน (coherence) เช่น แสงเลเซอร์ และเมื่อถูกส่องสว่างอย่างเหมาะสม จะแสดงให้เห็นภาพที่มีลักษณะ 3 มิติ
เดนนิส กาบอร์ (Dennis Gabor) (1900-1979) วิศวกรไฟฟ้าชาวฮังการี เป็นผู้ค้นพบหลักการของฮอโลกราฟีโดยบังเอิญ ในวันอีสเตอร์ ปี 1947 ระหว่างที่เขากำลังพัฒนาปรับปรุงคุณภาพของ กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน จากการค้นพบนี้ กาบอได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ในปี 1971
ทั้งนี้ ฮอโลแกรมแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ white-light hologram ซึ่งภาพฮอโลแกรมที่บันทึกนั้น สามารถมองเห็นได้ด้วยการส่องสว่าง ด้วยแสงสว่างจากธรรมชาติ และอีกประเภทหนึ่งคือ ภาพฮอโลแกรม ที่ต้องถูกส่องสว่างด้วยแสงเลเซอร์ หรือแสงที่มีสภาพหน้าคลื่นสอดคล้องกันในระดับหนึ่ง ถึงจะมองเห็นภาพ 3 มิติได้
ในทางหลักการแล้ว ความแตกต่างระหว่างภาพถ่ายธรรมดา (photograph) และภาพฮอโลแกรม (hologram) นั้น คือสิ่งที่ถูกบันทึก
ภาพถ่ายธรรมดาจะบันทึกความเข้ม (intensity) และ สี ซึ่งก็คือ ความยาวคลื่น (wavelength) ของแสง ของแต่ละจุดในภาพที่ฉายตกลงบนฟิล์ม
สำหรับภาพฮอโลแกรมนั้น นอกจากความเข้มและสีแล้ว ยังบันทึก เฟส (phase) ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทำให้สามารถสร้างกลับ หน้าคลื่นของแสง ให้เหมือนหรือคล้ายกับที่สะท้อนออกจากวัตถุ มาเข้าตาเราโดยตรงได้ ทำให้เห็นภาพนั้นมีสภาพเหมือน 3 มิติ
ข้อมูลจากวารสารอุตสาหกรรมสาร กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ระบุว่า ฮอโลแกรมถูกนำมาประยุกต์ใช้ในงานด้านต่างๆ มากมาย เช่น การนำไปใช้ในการตรวจสอบ ผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมในการผลิต อุปกรณ์ทางแสง เช่น เลนส์กระจกที่มีขนาดเล็กมากๆ มีการพัฒนาไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ อีกมากมาย
แต่ที่แพร่หลายมากที่สุดคือ การผลิตเป็นรูปภาพ 3 มิติ เพื่อเพิ่มมูลค่าและตกแต่งผลิตภัณฑ์ และป้องกันการปลอมแปลงเอกสารสำคัญ เช่น บัตรเครดิต หรือวีซ่าของบางประเทศ เนื่องจากภาพที่สร้างขึ้นมาไม่สามารถปลอมแปลงด้วยเครื่องถ่ายเอกสารสี หรือด้วยเครื่องพิมพ์ใดๆ
ทั้งนี้ ในการนำฮอโลแกรมไปใช้งาน สามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ เช่น
- ทรานสมิชชัน ฮอโลแกรม (Transmission Hologram) นำมาใช้กับบัตรประชาชน บัตรขับขี่ ซึ่งตัว ฮอโลแกรมชนิดนี้จะทำออกมาจากโรงงานมีลักษณะคล้ายกระเป๋าใบเล็ก หรือซอง (Purse) นำบัตรหรือวัสดุที่ต้องการทำ มาสอดใส่ตรงกลางช่องว่าง นำไปรีดที่เครื่องจักรโดยใช้ความร้อนและแรงกดจาก บน - ล่าง แผ่นฮอโลแกรมก็จะติดแนบกับบัตร
- รีเฟลคชัน ฮอโลแกรม (Reflection Hologram) จะอยู่ในรูปของแผ่นฟอล์ย
- ฮอโลแกรม สติเกอร์ (Hologram Sticker) สามารถแกะลอกเป็นดวง ติดบนวัสดุตามต้องการ
- ฮอโลแกรม ฮอต สแตมปิง ฟอล์ย (Hologram Hot Stamping Foil) ติดโดยใช้ความร้อน และแรงกดสูง การทำงานคล้ายการปั๊มฟอล์ยเงิน, ทองลงบนสิ่งพิมพ์ทั่วไป
อย่างไรก็ดี ฮอโลแกรม สามารถเลือกติดตรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามความเหมาะสมของสินค้า ไม่ว่าจะติดฮอโลแกรมลงบนตัวสินค้า บนกล่อง หรือ ภาชนะบรรจุ บนใบรับรองสินค้า ใบรับประกันสินค้า บนป้ายราคาสินค้า หรือใช้ฮอโลแกรม ในการติดผนึก (Seal) ฝาเปิด-ปิด.