ASTVผู้จัดการรายวัน - ป.ป.ช.เตรียมเรียก “ชายกระโปรง” เข้าให้ปากคำตามคำร้องของ ส.ว.อยู่เบื้องหลังคำสั่งสลายการชุมนุม 7 ตุลาทมิฬ จนทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ขณะเดียวกันยอมรับหนักใจ 3 นายตำรวจ “พัชรวาท-สุชาติ เหมือนแก้ว-อำนวย” เบี้ยวให้ปากคำ เผยซ้ำผลสรุปรัฐบาลฆาตกรผิดชัดเจน
วันนี้ (14 ธ.ค.) นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนการสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา เปิดเผยว่า อนุกรรมการฯจะไต่สวนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เพิ่มเติมในกรณีนี้หลังจากตรวจสอบข้อมูลที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.เดินทางมายื่นต่อ ป.ป.ช.เมื่อปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า นายสมชาย อาจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว โดยขณะนี้คณะอนุกรรมการฯอยู่ระหว่างเร่งไต่สวนข้อเท็จจริงจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
“แต่ปัญหาคือ นายตำรวจระดับสูงหลายคนที่เกี่ยวข้องไม่ให้ความร่วมมือ ส่งผลให้การทำงานล่าช้า ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล หนึ่งในผู้ถูกไต่สวน ก็ทำหนังสือขอเลื่อนการให้ปากคำออกไปก่อน” นายวิชา กล่าว และว่า สำหรับผู้ถูกไต่สวนในคดีนี้ นอกจากนายสมชาย และ พล.ต.ท.สุชาติ แล้วยังมี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลด้วย
อนึ่ง เมื่อช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาสลายกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 ในคณะกรรมาธิการการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล คณะอนุกรรมาธิการพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตของ “น้องโบว์” หรือ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ในเหตุการณ์หน้าลานพระบรมรูปฯ วันที่ 7 ต.ค.ในคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา และติดตามสถานการณ์ความรุนแรงและปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้ร่วมกันรายงานผลการตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรงวันที่ 7 ตุลาคม 2551
โดย พล.ต.ต.เกริก กัลยาณมิตร ส.ว.สรรหา สรุปผลสอบว่า คณะอนุกรรมาธิการฯได้ตรวจสอบหลักฐานแล้วพบข้อสังเกต 11 ข้อ คือ 1.รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ยังมีเวลาแถลงนโยบายได้ถึงวันที่ 9 ตุลาคมแต่กลับรีบแถลงวันที่ 7 ตุลาคมทั้งที่ทราบว่ามีมวลชนมาปิดล้อมรัฐสภาตั้งแต่คืนวันที่ 6 ต.ค. 2.รัฐบาลสามารถเลือกสถานที่อื่นแถลงนโยบายแทนรัฐสภาได้ ซึ่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ก็หาที่สำรองไว้ 3 แห่ง แต่รัฐบาลกลับเดินหน้าใช้รัฐสภาแถลงนโยบายทั้งที่รู้ว่าจะเกิดความรุนแรง 3.รัฐบาลใช้การสลายฝูงชนรุนแรงจนมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากและบาดเจ็บสาหัส
4.หลังแถลงนโยบาย รัฐบาลมิได้สั่งการให้ตำรวจหยุดสลายการชุมนุม แต่ยังมีการสลายการชุมนุมต่อจนถึง 24.00 น. 5.การสลายการชุมนุมไม่ทำตามหลักสากลและแผนกรกฎ 48 ไม่มีการเจรจาและทำตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก 6.ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาเลย โดยไม่เริ่มจากการใช้โล่ กระบอง หรือใช้น้ำฉีด 7.ตำรวจเจาะจงเลือกใช้แก๊สน้ำตาของจีน ที่มีสารระเบิดมากถึงขั้นทำลายอวัยวะคนได้ 8.ตำรวจยิงกระสุนแก๊สน้ำตาหรือขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมโดยตรง 9.หลังจาก ส.ส. ส.ว.ออกจากรัฐสภา แล้วตำรวจยังสลายการชุมนุมแบบเดิม ขณะผู้ชุมนุมเดินทางกลับ 10.มีตำรวจบาดเจ็บและทรัพย์สินราชการเสียหาย แต่นายกฯไม่คำนึงถึง 11.นายกฯและรัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกระดับ ไม่แสดงความรับผิดชอบและไม่ตระหนักถึงผลกระทบ ทำให้ทัศนคติระหว่างตำรวจกับประชาชนเป็นไปในทางลบ จากกรณีดังกล่าว รัฐบาลต้องตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์ขึ้นมารับผิดชอบ เพราะเป็นผู้สั่งการเพียงคนเดียว
ขณะที่ พล.อ.ต.นพ.วิชาญ เบี้ยวนิ่ม อนุกรรมาธิการ พิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตฯ และหัวหน้าหน่วยนิติเวช โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้ชันสูตรศพ น.ส.อังคณา ระบุว่า น.ส.อังคณา เสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาล ทั้งนี้เมื่อศพมาถึงพบว่า ปนเปื้อนแก๊สน้ำตา จึงต้องล้างหลายครั้งก่อนชันสูตร เมื่อชันสูตรพบว่า เสื้อผ้าฉีก มีรอยไหม้ดำ บาดแผลใหญ่บริเวณอกด้านซ้ายต่อเนื่องมาถึงแขน ขนาด 40 คูณ 14 เซนติเมตร ลึกถึงซี่โครง ซี่โครงหักตลอดแนว ปอดช้ำเลือดออกกระจาย ม้ามแตก เยื่อหุ้มหัวใจและผนังทะลุ เมื่อส่องกล้องจุลทรรศน์ พบชัดเจนว่า เป็นเพราะแรงอัดและความร้อน สารเคมีที่ปนเสื้อผ้าเป็นสารประกอบของระเบิดแก๊สน้ำตา ไม่ใช่ ระเบิดปิงปองหรือระเบิดสังหาร และเป็นการระเบิดใกล้ตัว ไม่ได้ชิดตัว จึงไม่ใช่การพกระเบิดแล้วระเบิดเอง
ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา อนุกรรมาธิการติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองฯ ระบุว่า สตง.ตรวจพบว่า กองพลาธิการและสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซื้อระเบิดแก๊สน้ำตาจากจีน โดยเป็นแบบขว้าง 17,000 ลูก เมื่อปี 36-38 แบบยิงจำนวน 40,800 ลูก เมื่อปี 36 และยังพบว่า รอง ผบ.ตร.คนหนึ่ง ขอระเบิดแก๊สน้ำตาจาก 4 หน่วย ซึ่งเป็นอาวุธเก่า ตั้งแต่เดือน พ.ค.51 โดยระบุชัดว่า “ขอชนิดขว้างผลิตในประเทศจีน” เพื่อควบคุมการชุมนุม
นอกจากนี้ พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตผู้เชี่ยวชาญสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้ให้ ข้อมูลว่า ระเบิดแก๊สน้ำตาดังกล่าวมีซีโฟร์ 7 กรัม จุดชนวนแล้วพุ่ง 200-300 ฟุตต่อวินาที สามารถเป็นอันตรายต่อร่างกาย ในลูกระเบิดส่วนผสมที่เป็นแก๊สน้ำตาจะเสื่อมใน 5-8 ปี แต่ส่วนผสมที่เป็นซีโฟร์จะไม่หมดอายุ ทั้งนี้ระเบิดแก๊สน้ำตาดังกล่าวตำรวจเรียกคืนมาเก็บหมด เพราะใช้ตั้งแต่พฤษภา 35 และหมดอายุแล้ว นอกจากนี้ ฝ่ายตำรวจยังเคยระงับการซื้อระเบิดแก๊สน้ำตาจากจีน เพราะพบว่าร้ายแรง ไม่รู้ว่าทำไมจึงนำมาใช้อีก ส่วนฝ่ายตำรวจใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาไปเท่าใด กำลังตามตรวจสอบอยู่
ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ประธานอนุกรรมาธิการติดตามสถานการณ์ฯ กล่าวว่า จากการตรวจสอบหลักฐานพบเหตุผิดปกติ 7 ข้อ คือ 1.เป็นการสลายการชุมนุมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพของประชาชน ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 2.รัฐบาลสามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้แต่ไม่ทำ 3.การกระทำของตำรวจเกิดจากมติ ครม. เมื่อคืนวันที่ 6 ต.ค. 4.ตำรวจปฏิบัติข้ามขั้นตอนที่ 2 ของแผนกรกฎ 48 ไม่มีการเจรจาและใช้กำลังจากเบาไปหาหนัก แต่ปรากฏว่าตำรวจทำการรุนแรงมากตลอดทั้งวัน 5.ตำรวจขาดดุลพินิจในการใช้อาวุธ เพราะการสลายการชุมนุมช่วงเช้าพบผู้บาดเจ็บสาหัสหลายราย แต่ยังคงใช้อาวุธรุนแรงดังกล่าวตลอดทั้งวัน
6.พบว่ามีการยิงกระสุนแก๊สน้ำตาเข้าใส่รถพยาบาล และมีเจ้าหน้าที่พยาบาลถูกยิงด้วยกระสุนยางจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถือว่าขัดหลักสากลในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในที่เกิดเหตุ และขัดขั้นตอนของแผนกรกฏ 48 และ 7.งบเยียวยาของรัฐบาล หลักเกณฑ์การพิจารณายังไม่เหมาะสม ไม่เป็นธรรม อาจกระตุ้นให้เกิดการใช้ความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต