xs
xsm
sm
md
lg

เรียนรู้จัดการน้ำแบบชาวบ้านผสานเทคโนโลยี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีเสวนาคุยกันฉันวิทย์ (ซ้ายไปขวา) นายวิชัยรัตน์ , นายมณเฑียร และน้าน้อย
"เห็นน้ำก็เหมือนเห็นชีวิตอีกหลายชีวิต"

นี่คือความสำคัญของน้ำ ในสายตาของ "น้าน้อย" ชาวนาในพื้นที่แห้งแล้งของบุรีรัมย์ ที่ปลูกข้าวได้เพียงไร่ละ 10 ถัง และจากผู้มีความรู้เพียงชั้น ป.4 กลายเป็นผู้นำชุมชนที่นำชาวบ้านขุดคลองเก็บน้ำ พร้อมจัดสรรทรัพยากรและทำระบบฐานขอมูลท้องถิ่น ด้วยการประยุกต์ใช้จีพีเอส-ภาพถ่ายดาวเทียม

"การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการน้ำชุมชน" เป็นหัวข้อในเวทีเสวนา "คุยกัน...ฉันวิทย์"ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 6 มี.ค.52 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้เข้าฟังเสวนาดังกล่าว ซึ่งได้ นางสนิท ทิพย์นางรองหรือน้าน้อย ผู้แทนชุมชนบ้านลิ่มทอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ และนายมณเฑียร บุญช้างเผือก ผู้แทนชุมชนบ้านป่าสักงาม อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์จัดการในพื้นที่ชุมชน ภายใต้การสนับสนุนทางด้านวิชาการและเทคโนโลยีจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.)

ในส่วนของหมู่บ้านลิ่มทองนั้น น้าน้อยเล่าว่า ก่อนหน้านี้พื้นที่ทำนาขาดแคลนน้ำมาก ซึ่งในปี 2548 วิกฤติถึงขั้นผลผลิตข้าวบางพื้นที่ได้ไม่ถึง 10 ถังต่อไร่ แต่ถึงอย่างนั้นชาวบ้านในหมู่บ้านยังหารือกันแต่เรื่องตัดถนนและการพัฒนาอื่นๆ อีกทั้งชาวบ้านและน้าน้อยเองก็มีหนี้สินมากมาย จนกระทั่ง สสนก.ได้เข้ามาช่วยเหลือในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเริ่มต้นจากการสำรวจแหล่งน้ำและพื้นที่กักเก็บน้ำ โดยการเดินเท้า และวาดแผนที่ด้วยตัวเอง รวมทั้งสอบถามข้อมูลจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน

หลังจากที่ลงแรงสำรวจพื้นที่แหล่งน้ำและแหล่งเก็บน้ำ และชาวบ้านในพื้นที่ก็เห็นว่าน้าน้อยและเจ้าหน้าที่จาก สสนก.ทำจริง และทุกคนเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น จึงให้ "ใบยินยอม" เพื่อใช้พื้นที่นาสำหรับขุดคลองเก็บน้ำเป็นระยะทางถึง 36 กิโลเมตร โดยไม่รับค่าเวนคืน ทั้งนี้น้ำที่เก็บได้เป็นของสาธารณะที่ใช้ร่วมกัน ส่วนพื้นที่ยังเป็นกรรมสิทธิของเจ้าของพื้นที่นั้นๆ ปัจจุบันชาวบ้านในหมู่บ้านลิ่มทองจึงมีน้ำเพื่อการเพาะปลูก

ด้าน นายวิชัยรัตน์ ศศิผลิน นักวิจัยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ซึ่งลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านด้วยการบริหารจัดการน้ำ กล่าวว่า หลังจากให้ชาวบ้านได้สำรวจแหล่งน้ำและทำแผนที่จากการวาดด้วยมือเอง ก็ได้นำแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมไปให้ชาวบ้านทำพิกัดแหล่งน้ำ และใช้จีพีเอสกำหนดพิกัด พร้อมบอกเหตุผลที่ไม่นำแผนที่ไปให้ชาวบ้านตั้งแต่แรก เพราะอยากพิสูจน์ว่า "วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ" และภูมิปัญญาชาวบ้านนั้นเป็นจริงหรือไม่

นักวิจัยจาก สสนก.ยกตัวอย่างภูมิปัญญาในการขุดคลองเก็บน้ำที่ได้รับทราบจากผู้อาวุโสใน อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์ ถึงวิธีขุดคลองเก็บน้ำ ซึ่งปกติแล้วชาวหมู่บ้านลิ่มทองหลายรุ่นไม่สามารถขุดคอลงเก็บน้ำไว้ได้ เนื่องจากดินในพื้นที่เป็นดินทราย แต่ผู้อาวุโสดังกล่าวแนะภูมิปัญญาที่สืบทอดมาว่า เมื่อขุดแหล่งเก็บน้ำแล้วจะเอาวัว-ควายลงไปเลี้ยง เพื่อให้เหยีบย่ำดินจนแน่นและผสมกับมูลของสัตว์ทำให้ดินแน่นขึ้น แต่ก่อนจะเปิดเป็นพื้นที่รับน้ำก็จะเลี้ยงปลานิลอยู่ประมาณ 2-3 ปี ซึ่งมูลปลานิลจะช่วยอุดรูพรุนที่ก้นสระได้

ส่วนนายมณเฑียรชาวบ้านจากหมู่บ้านป่าสักงามกล่าวว่า ปัญหาในพื้นที่ของเขาคือการตัดไม้ทำป่าที่เป็นต้นน้ำ ซึ่งเขาเองก็เป็นหนึ่งในอดีตผู้มีอาชีพตัดไม้หรือที่เขาเรียกว่า "มอดไม้" โดยมีรายได้เดือนละ 10,000 บาท และเป็นอาชีพที่ทำมาตั้งแต่รุ่นปู่-รุ่นย่า ส่งผลให้ป่าในพื้นที่ชุ่มชนเตียนโล่ง น้ำตกแห้งเหือด แต่เมื่อฟื้นฟูป่าในเวลาเพียง 5 ปี ทำให้มีน้ำตกกลับมาหลังจากแห้งไปนานนับ 10 ปี ซึ่งชาวบ้านก็ใช้เทคโนโลยีจีพีเอสและภาพถ่ายดาวเทียมในการสำรวจพื้นที่ป่ารอบชุมชนเช่นกัน

มณเทียรกล่าวว่า การได้สำรวจพื้นที่ป่าและฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมทำให้ชาวบ้านรู้ว่าการเรียกร้องพื้นที่ทำกินคนละ 20 ไร่นั้นเป็นการเรียกร้องที่เกินกำลังที่ชาวบ้านจะดูแลไหว จึงลดข้อเรียกร้องลงเหลือเพียงไร่ครึ่ง

"เรามีพื้นที่ทำกินคนละไร่ครึ่ง แต่เราพื้นที่หากินจากป่า 37,000 ไร่ เนื่องจากหมู่บ้านเราอยู่พื้นที่ในป่าต้นน้ำ หากชาวบ้านไม่รักษาป่า ที่สุดสังคมก็จะไล่เราออกไป แต่เราได้พิสูจน์แล้วว่าเราอยู่กับป่าได้ แม้เงินหมื่นไม่เห็น แต่เงินพันไม่ขาด" อดีตมอดไม้แห่งป่าต้นน้ำกล่าว

อย่างไรก็ดี การเริ่มต้นบริหารจัดการแหล่งของทั้งน้าน้อยและนายมณเฑียรต่างก็เผชิญอุปสรรค โดยมณเฑียรกล่าวว่าตอนนี้ก็ยังคงมีคนยึดติดกับอาชีพตัดไม้ที่ได้เงินมากกว่า แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งเช่นกันที่มองเห็นสิ่งที่ยั่งยืนกว่า ส่วนน้าน้อยนั้นคนรอบข้างมองว่าเป็นการเสียเวลาและเสียโอกาสรับจ้างหาเงินวันละ 100-200 บาท แต่น้าน้อยมองว่า ขนาดคนที่มีพร้อมแล้วยังเสียเวลามาช่วยเหลือ ทำไมเราจึงไม่เปิดโอกาสให้ตัวเองบ้าง อีกทั้งได้เห็นความตั้งใจของคนที่อยากช่วยคนจนจึงพยายามสู้.
น้าน้อย
นายมณเฑียร
กำลังโหลดความคิดเห็น