ศูนย์ข่าวศรีราชา - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดสัมมนาเพื่อการส่งออก”ปลานิลสัญจร เกษตรกรพบผู้ส่งออก หวังสร้างเครือข่ายการส่งออกปลานิลของไทยอย่างเป็นระบบ
เมื่อเร็วๆ นี้ นายนิกร จำนง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อการส่งออก”ปลานิลสัญจร เกษตรกรพบผู้ส่งออก ครั้งที่ 3 “ ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลในเขตพื้นที่ภาคกลาง(บางส่วน)และภาคตะวันออก จำนวน 13 จังหวัด รวม 381 คน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการค้า และความต้องการปลานิลในตลาดโลก เพื่อสร้างเครือข่ายการส่งออกปลานิลของไทยอย่างเป็นระบบ
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ร่วมกับ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย จัดสัมมนา เชิงปฏิบัติการ การเพิ่มศักยภาพการผลิตปลานิลเพื่อการส่งออก “ปลานิลสัญจร : เกษตรกรพบผู้ส่งออก ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตร กรได้รับทราบข้อมูลความต้องการสินค้าปลานิลของ ผู้แปรรูปและส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิล อันจะนำไปสู่การพัฒนาให้เกิดระบบซื้อขายโดยตรง ระหว่างเกษตรกรและผู้แปรรูป ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรในการเร่งเพิ่มปริมาณการผลิตปลานิล และสามารถวางแผนการผลิตให้มีปริมาณและคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้แปรรูป ทำให้ไม่เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่เป็นธรรม และเป็นไปตามกลไกความต้องการของตลาดโลก
จากการนำข้อมูลที่ได้จากการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนมาใช้ประกอบ ในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนา การผลิตปลานิล และผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก ผลปรากฏว่ามีเกษตรกรให้ความสนใจเพาะ เลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย และมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ประกอบกับประเทศผู้นำเข้าให้ความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยในสินค้าคาดว่าภายในปี 2553 จะมีผลผลิตปลานิลเท่ากับ 300,000 ตัน และจะเพิ่มปริมาณการส่งออกปลานิลได้ถึง 50,000 ตัน เพื่อสนองต่อความต้องการของตลาดโลก ซึ่งไทยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่สหรัฐอเมริกา กลุ่มยุโรปตะวันตก กลุ่มตะวันออกกลาง
ด้าน ดร.จิราวรรณ แย้มประยูร รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การส่งออกปลานิล มีทั้งแบบที่ยังมีชีวิต แช่แข็งทั้งตัว และแปรรูปแช่เย็นแช่แข็ง เมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา มีปริมาณการส่งออกรวมสูงถึง 16,733 ตัน มูลค่า 1,014.6 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนมีปริมาณการนำเข้าปลานิลทั้งตัวเพิ่มขึ้นถึง 3,255 ตัน ส่วนสหภาพยุโรป มีการนำเข้าเนื้อปลาแล่จากไทย ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาในปริมาณที่เพิ่มขึ้นถึง 1,514 ตัน ซึ่งมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนในอัตราก้าวหน้า และคาดว่าในปี 2552 การส่งออกปลานิลของไทยจะมีแนวโน้มสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 90 โดยคู่แข่งการส่งออกปลานิลของไทยที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในเอเชีย คือ จีน อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
เนื่องจากมีแผนขยายการเพาะเลี้ยงเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น ดังนั้น การจัดสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อการวางแผนการผลิตและการตลาดร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด สามารถนำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการส่งออกปลานิลในภูมิภาคอาเซียน และในอนาคตคาดว่าประเทศไทยจะสามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ โดยนำส่วนเหลือใช้จากการแปรรูปมาทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น การส่งออกหนังปลานิล เพื่อนำไปสกัดเยลลี่ และคอลลาเจนในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เครื่องหนัง เครื่องประดับ หรือการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ที่ใช้ปลานิลเป็นวัตถุดิบเป็นต้น