xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมตั้งรองผู้ว่าฯ "ซีเอสโอ" ทุกจังหวัด ใช้วิทยาศาสตร์แก้ปัญหาอาชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ซ้ายไปขวา) ดร.สุจินดา โชติพานิช , ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช , นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล และ นายวิชัย ศรีขวัญ
ก.วิทย์-ก.มหาดไทย ลงนามความเข้าใจ ใช้วิทยาศาสตร์แก้ปัญหาระดับจังหวัด เตรียมตั้งรองผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดรับตำแหน่ง "ซีเอสโอ" ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และมหาดไทย เผยที่ผ่านมากระทรวงวิทย์ทำงานช่วยจังหวัดมา 6 ปีโดยผ่านสถานศึกษาท้องถิ่น

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ลงนามความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยในการดำเนินงาน "การพัฒนาจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" เมื่อวันที่ 20 เม.ย.52 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTVผู้จัดการออนไลน์" ได้ร่วมติดตามการลงนามข้อตกลงระหว่าง ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัด วท. และ นายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยมี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วท. พร้อมด้วย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มท. ร่วมเป็นสักขีพยาน

ดร.สุจินดา กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ว่า การลงนามครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ได้ร่วมงานกับผู้บริหารระดับจังหวัด โดยได้นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงไปแก้ปัญหาระดับจังหวัดและพัฒนาอาชีพให้กับประชาชนมา 6 ปีแล้ว อาทิ การเพาะเห็ด แปรรูปผลผลิตการเกษตร งานด้านปศุสัตว์ เป็นต้น

หากแต่เป็นลักษณะที่ผู้บริหารระดับจังหวัดไม่ได้รับทราบ โดยประสานงานผ่านสถานศึกษาในจังหวัดนั้นๆ อาทิ มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เป็นต้น รวมทั้งหมด 52 สถาบัน เป็นจำนวน 119 แห่งใน 60 จังหวัด ซึ่งหลังจากลงนามแล้วจะสามารถขยายการทำงานได้กว้างขึ้น เนื่องจากผู้บริหารระดับจังหวัดรับทราบ

"ตามบันทึกข้อตกลง ในแต่ละจังหวัดจะได้แต่งตั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัด ที่รับผิดชอบงานด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดให้เป็นผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูงหรือซีเอสโอ (Chief Science Officer: CSO) ซึ่งจะทำหน้าที่ประสานงานระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์กับจังหวัดต่างๆ ทำให้ขยายงานได้กว้างขึ้น ที่ผ่านมาการนำวิทยาศาสตร์ลงไประดับจังหวัดทำได้ยาก เพราะเราไม่มีหน่วยงานในพื้นที่" ดร.สุจินดากล่าวระหว่างแถลงข่าว

ขณะที่ นายวิชัย กล่าวระหว่างแถลงข่าวว่า ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยเองนั้น ที่ผ่านมาก็ประสบปัญหาที่ต้องการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาจากหลายฝ่าย อาทิ ปัญหาโรคพืช ภัยแล้ง-น้ำท่วม การแพร่ระบาดของหวัดนก เป็นต้น ซึ่งการแก้ปัญหาของมหาดไทยใช้วิธีหาคนในพื้นที่นั้นๆ ช่วยแก้ปัญหา บางจังหวัดโชคดีที่มีมหาวิทยาลัย ขณะที่บางจังหวัดไม่มีก็ต้องข้ามพื้นที่ไปหาคนช่วยเหลือ แต่จากการลงนามครั้งนี้จะได้แต่ตั้ง

ทางด้านนายชวรัตน์ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ว่า การลงนามข้อตกลงครั้งนี้มีความสำคัญมากๆ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เข้ามาช่วยจังหวัดเป็นเวลา 6 ปีแล้ว ซึ่งการลงนามถือเป็นการตกลงอย่างเป็นทางการ และกล่าวด้วยว่าการวิจัยและพัฒนานั้นมีความสำคัญมาก โดยบริษัทข้ามชาติที่จะเข้ามาลงลงทุนนั้นจะพิจารณาว่าบริษัทมีการลงทุนทางด้านวิจัยและพัฒนาหรือไม่ หากบริษัทไหนไม่มีบริษัทนั้นไม่เจริญ

ส่วน ดร.คุณหญิงกัลยา ได้กล่าวถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้แก้ปัญหาจังหวัด โดยยกตัวอย่างหมู่บ้านลิ่มทอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งใช้หลักการบริหารจัดการน้ำไปแก้ปัญหาน้ำหลากที่มีเกิดขึ้นทุกปี ทำให้หมู่บ้านมีน้ำกินน้ำใช้ และสามารถเพิ่มรายได้ของหมู่บ้านขึ้นไปถึง 105% และลดหนี้ของหมู่บ้านจาก 2.6 ล้านบาทเหลือ 1.6 ล้านบาทได้ในภายใน 1 ปี

"เราทำมานานแล้ว และรัฐบาลก็เน้นสร้างงาน สร้างเงิน และสร้างคุณภาพชีวิต โดยที่ผ่านมาเหมือนเราแอบทำโดยจังหวัดไม่ทราบ ทำให้ขยายผลได้ไม่กว้างนัก การลงนามครั้งนี้จึงมีความหมายมาก หลังจากลงนามเราจะทำได้มากขึ้น โดยเฉพาะ 30 หมู่บ้านเทคโนโลยีแม่ข่าย ซึ่งมี 10 หมู่บ้านที่มีการบริหารจัดกรน้ำที่ดีมาก เราจะได้ขยายผลต่อไปยังรองผู้ว่าซีเอสโอต่อไป" ดร.คุณหญิงกัลยากล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ.
แถวหน้า (ซ้ายไปขวา) ดร.สุจินดา โชติพานิช , ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช , นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล และ นายวิชัย ศรีขวัญ พร้อมด้วยผู้บริหารในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น