ใครที่มีปัญหาโรคภูมิแพ้และกำจัดไรฝุ่นบนที่นอน หมอน ผ้าห่ม ไม่ได้สักที เตรียมตัวประกาศศึกกับไรฝุ่นครั้งสุดท้ายได้เลย เพราะปลายปีนี้จะมีสเปรย์น้ำมันหอมระเหยกำจัดไรฝุ่น จากสมุนไพรไทย จากการคิดค้นสูตรโดยนักวิจัยลาดกระบัง ปลอดภัย กำจัดไรฝุ่นได้ 100% ล่าสุดเอกชน 2 ราย พร้อมใจกันซื้อสิทธิไปผลิตต่อยอดเชิงพานิชย์ เปิดช่องทางเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทยและสร้างรายได้ให้เกษตรกร
โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย หรือบีอาร์ที (BRT) พร้อมด้วย บริษัท คนดี กรุ๊ป จำกัด และบริษัท ไทยเฮิร์บ เทค จำกัด ลงนามร่วมกันในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิสเปรย์น้ำมันหอมระเหยจากพืชกำจัดไรฝุ่น ที่อาคารศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 ก.พ.52 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลงานของนักวิจัยไทย ที่ได้รับการต่อยอดเชิงพาณิชย์ และเป็นครั้งแรกในประเทศที่คนไทยจะได้ใช้สเปรย์กำจัดไรฝุ่นจากสมุนไพรไทย
ผลงานวิจัยสเปรย์น้ำมันหอมระเหยกำจัดไรฝุ่นคิดค้นและพัฒนาขึ้นโดย ดร.อำมร อินทร์สังข์ และนายจรงค์ศักดิ์ พุมนวน คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยได้รับทุนจากบีอาร์ที ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การสนับสนุนของไบโอเทค และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยในพิธีลงนามครั้งนี้มีสื่อมวลชนจากหลายแห่งมาร่วมงาน รวมทั้งทีมข่าว "วิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์" ร่วมสังเกตการณ์
ดร.อำมร อธิบายว่า ไรฝุ่นพบได้ทั่วไปในธรรมชาติและเกือบทุกที่ทั่วโลก แต่เนื่องจากมีขนาดเพียง 0.3 มิลลิเมตร จึงมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งไรฝุ่นชอบอาศัยในที่อุณหภูมิประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสูงร้อยละ 60-70 แต่ไม่ชอบแสงสว่าง โดยมักพบอยู่ในที่หนอน หมอน ผ้าห่ม พรม และผ้าม่าน เป็นต้น
ไรฝุ่นกินเศษขี้ไคล ขี้รังแค สะเก็ดผิวหนังเป็นอาหาร โดยเศษผิวหนัง 1 กรัม สามารถเลี้ยงไรฝุ่นได้ถึง 1 ล้านตัว นาน 1 สัปดาห์ และมีรายงานว่ามีคนไทยป่วยเป็นโรคภูมิแพ้เนื่องจากไรฝุ่นสูงถึง 10 ล้านคน ซึ่งสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาราว 36,000 บาทต่อปี
การป้องกันและกำจัดไรฝุ่น สามารถทำได้โดยดูแลรักษาความสะอาดของเครื่องนอนและเครื่องใช้ภายในบ้าน ที่เป็นเส้นใยโดยการซัก ตากแดด ดูดฝุ่น หรือการใช้สารเคมีกำจัดไรฝุ่น ซึ่งสารเคมีดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นอันตรายต่อร่างกายและเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ศึกษาวิจัยพื้นฐานเกี่ยวกับไรฝุ่น ทั้งในเรื่องชีววิทยา ความหลากหลาย และการแพร่กระจายกระจายของไรฝุ่น และค้นพบสารสกัดจากสมุนไพรที่มีฤทธิ์กำจัดไรฝุ่นชนิด เดอร์มาโทฟาโกอิดีส เทอโรนีสซินัส (Dermatophagoides pteronyssinus) แต่เนื่องจากยังเป็นสารสกัดหยาบ จึงมีสารหลายชนิดปะปนกันอยู่ ทำให้ยากต่อการควบคุมคุณภาพ และมีสีติดที่นอนหรือเฟอร์นิเจอร์ด้วย
นักวิจัยจึงทดลองสกัดเอาเฉพาะน้ำมันหอมระเหยจากพืช 8 ชนิด ได้แก่ กานพลู อบเชย ขมิ้นชัน ไพล ตะไคร้หอม พริกไทยดำ โหระพา และมะพร้าว แล้วนำไปทดสอบฤทธิ์กำจัดไรฝุ่น โดยพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากกานพลูและอบเชยที่ความเข้มข้น 1.0% สามารถกำจัดไรฝุ่นได้ 100% รองลงมาคือน้ำมันหอมระเหยจากขมิ้นชัน ไพล และตะไคร้หอม ที่ความเข้มข้น 1.5% กำจัดไรฝุ่นได้ 93.3%, 90.0% และ 76.7% ตามลำดับ
ดังนั้นจึงเลือกใช้น้ำมันหอมระเหยจากกานพลูและอบเชยเป็นส่วนประกอบหลัก ในสูตรการผลิตสเปรย์กำจัดไรฝุ่น โดยมีน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรอื่นเป็นส่วนประกอบรอง พร้อมทั้งได้ทดลองแต่งกลิ่นด้วยน้ำมันหอมระเหยจากลาเวนเดอร์ ยูคาลิปตัส กาแฟ และมะลิ ซึ่งจากการทดสอบประสิทธิภาพก็ยังสามารถกำจัดไรฝุ่นได้ 100% เช่นเดิม และไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้
ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรสูตรน้ำมันหอมระเหยกำจัดไรฝุ่นดังกล่าวแล้วเมื่อปี 2551 และได้อนุญาตให้บริษัท คนดี กรุ๊ป จำกัด และบริษัท ไทยเฮิร์บ เทค จำกัด นำผลงานดังกล่าวไปต่อยอดในเชิงพานิชย์
นักวิจัยอธิบายวิธีการใช้สเปรย์น้ำมันหอมระเหยกันไรฝุ่นอย่างมีประสิทธิภาพว่า ควรฉีดน้ำมันหอมระเหยลงบนฟูก ที่นอน หรือโซฟา แล้วนำพลาสติกหรือผ้าหนาๆ คลุมทิ้งไว้ 1-2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันหอมระเหยระเหยออกไปได้รวดเร็ว และยังช่วยกำจัดไรฝุ่นที่หลบหนีลงไปใต้ผิวที่นอนได้อย่างดี ซึ่งควรจะฉีดทุกๆ 2-3 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้ไรฝุ่นกลับมาสะสมใหม่ได้อีก
นายชานนท์ ระวังเหตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเฮิร์บ เทค จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทได้ดำเนินการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรมานาน ซึ่งการขออนุญาตใช้สิทธิผลงานวิจัยในครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มโอกาสและสร้างรายได้ให้กับบริษัทอีกทางหนึ่ง รวมทั้งช่วยเพิ่มมูลค่าให้สมุนไพรไทย และช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกกานพลูไม่มากนัก ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดจันทบุรี และชุมพร หากมีการนำพืชดังกล่าวมาใช้ประโยชน์มากขึ้น ก็จะเป็นการช่วยส่งเสริมเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ นายชานนท์ ให้ข้อมูลกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ เพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทางบริษัทกำลังอยู่ระหว่างพัฒนาโรงงานผลิตให้ตรงตามมาตรฐานจีเอ็มพี (GMP) รวมทั้งการควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งในเรื่องประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความพึงพอใจของผู้บริโภค โดยคาดว่าจะวางตลาดได้ราวปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าหลังจากที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว ส่วนราคาจำหน่ายน่าจะอยู่ราว 150-180 บาท ในปริมาณ 250 มิลลิลิตร
ทางด้าน นางสาริศา ปิ่นทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท คนดี กรุ๊ป จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องนอนเพื่อสุขภาพและเป็นเอกชนอีกรายหนึ่งที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าว กล่าวว่า ปัญหาไรฝุ่นเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พบมากเกี่ยวกับที่นอน ซึ่งสเปรย์ป้องกันไรฝุ่นนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ โดยมีแผนจะผลิตจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ สำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในครั้งนี้มีระยะเวลา 5 ปี ซึ่งทางไบโอเทคจะได้รับค่าตอบแทนในการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากแต่ละบริษัทเป็นเงินจำนวน 1 แสนบาท และค่ารอยัลตี 4% โดย ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผอ.ไบโอเทค บอกว่านี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนามาจากการศึกษาวิจัยพื้นฐานในด้านความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย.