xs
xsm
sm
md
lg

ถก"13พืชอันตราย"เดือด” ไบโอไทยไม่ไว้วางใจรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - เวทีถกพืชสมุนไพรอันตรายโต้คารมเดือด กรมวิชาการเกษตรยัน คณะกรรมการวัตถุอันตรายออกกฎหมายตามขั้นตอนรับฟังความเห็นนักวิชาการ แต่อาจไม่เป็นไปตามจินตนาการคลอบคลุมทุกฝ่าย ยันแก้ไขได้ จะทบทวนประกาศฯ ทุกด้านและสร้างความเข้าใจ ขณะที่ “ไบโอไทย” ไม่วางใจกรมวิชาการเกษตรทบทวนประกาศก.อุตสาหกรรม ชี้จับตาสรรคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิวัตถุอันตราย

วานนี้ (20 ก.พ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มีการเสวนา “จากพืชสมุนไพรอันตราย...สู่ความท้าทายการมีส่วนร่วมของสังคม” โดยมีนายยงยุทธ ทองสุข รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายวิชา ธิติประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร นายวิฑูรย์ เลี่ยงจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) น.ส.วลัยพร มุขสุวรรณ นักวิชาการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการของเสียอันตราย น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง นักวิชาการ กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งการเสวนาครั้งนี้มีการโต้เถียงกันอย่างดุเดือด

นายวิชา ชี้แจงว่าประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2552 ซึ่งอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มีเป้าหมายชัดเจนและผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการวัตถุอันตรายที่มีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วมในการพิจารณาด้วย แต่อาจไม่ครอบคลุมเพราะไม่มีตัวแทนที่มาจากสื่อมวลชนและเกษตรกร ซึ่งเห็นด้วยว่า ควรมีการปรับปรุง อย่างไรก็ตามถือว่าประกาศฉบับนี้มีส่วนร่วมของฝ่ายต่างๆ ในระดับหนึ่งเพียง หากเห็นว่าไม่เพียงพอก็สามารถแก้ไขปรับปรุงใหม่ได้อยู่แล้ว ยืนยันว่า ประกาศฯ ฉบับนี้ มีขั้นตอนการการรับฟังความคิดเห็นแต่อาจไม่เป็นไปตามจินตนาการที่ต้องการ

“ส่วนจะมีการทบทวนประกาศฯ อย่างไรนั้น ก็จะทบทวนทุกเรื่อง พิจารณาว่าสังคมจะยังคงให้ลดการควบคุมสารสำคัญในพืชธรรมชาติ หรือไม่ต้องการยกเลิกและให้กำกับดูแลแต่ให้แก้ไขเนื้อหาให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาอาจเพราะการสื่อสารไม่ครบถ้วนกระบวนความ ซึ่งผมยินดีที่จะอธิบายในทุกเวที เพราะตลอดชีวิตไม่เคยพูดโกหก ดังนั้นหากใครจะพูดอะไรก็ควรพูดให้จบครบกระบวนความ ไม่ใช่พูดดีใส่ตัวชั่วใส่คนอื่น หรือพูดแค่บางส่วนที่เป็นการบินเบือนเพื่อทำร้ายทำลายกัน”นายวิชากล่าว

นายวิชา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การขึ้นบัญชีผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืช ซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี เฉพาะที่มีการนำไปใช้ป้องกัน กำจัด ทำลาย ควบคุมแมลง วัชพืช โรคพืช ศัตรูพืช หรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืช 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเรือ กากเมล็ดชา พริก คื่นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดอกดึง และหนอนตายหยาก เป็นวัตถุอันตรายประเภท 1 บัญชี ข. เป็นการควบคุมเพื่อการค้าเท่านั้น ไม่ใช่การปลูกเพื่อนำมาใช้เองในครัวเรือน ถือเป็นคำอธิบายที่มีความชัดเจน คณะกรรมการวัตถุอันตรายควรได้รับการยกย่องสรรเสริญแต่กลับมีปัญหาเพราะการใช้ภาษา ความไม่เข้าใจ และความไม่ทันสมัย ฯลฯ

“ผมยินดีให้มีการตรวจสอบได้เสมอและไม่ต้องขู่ว่าจะฟ้องศาลปกครองเพราะเป็นหน่วยงานราชการถือเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนใครจะไม่ไว้วางใจผม ผมก็ไม่เก็บเป็นอารมณ์ ชอบหรือเกลียดถือเป็นความรู้สึกเพราะเป็นความเห็นส่วนตัวของแต่ละคนแต่หากไม่วางใจผม ผมก็ไม่วางใจคนๆ นั้นเช่นกัน และยืนยันอีกครั้งว่า ประกาศฯ ฉบับนี้ กระทำโดยเจตนาเพื่อส่งเสริมการใช้พืชสมุนไพรในการสร้างมูลค่ามีการผลิตและใช้อย่างแพร่หลายขึ้น”นายวิชากล่าว

ด้านนายวิฑูรย์ กล่าวว่า ยังคงไม่วางใจกรมวิชาการเกษตรว่าจะทบทวนประกาศฯ อย่างไร เพราะที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรเป็นผู้มีส่วนสร้างความเข้าใจผิดมาแล้วหลายครั้ง อาทิ เซ็นทรัลแล็ป พืชสวนโลก กล้ายาง และพืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ เพราะอาจเป็นไปได้ว่าท้ายที่สุดจะไม่มีการเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ทบทวนเลย

“มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปดำเนินการทบทวนประกาศนั้น ถือว่าเป็นการซื้อเวลา โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของภาคประชาชน องค์กรกว่า 100 แห่ง นักวิชาการมากมายในช่วงเวลานี้เลยหรืออย่างไร ข้อวิจารณ์ทั้งหมดไม่มีความหมายหรือไม่รับฟังเลยหรือ”นายวิฑูรย์กล่าว

นายวิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า อยากให้ทุกฝ่ายจับตามองคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน ตามพ.ร.บ.วัตถุ อันตราย พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม 2551 แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนองค์กรสาธารณประโยชน์และมีประสบการณ์นั้นจะเป็นผู้ใด เพราะที่ผ่านมีความใกล้ชิดกับสมาคมหรือนักธุรกิจมากกว่าภาคประชาชน

นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ทัศนคติของผู้ที่เกี่ยวข้องในการออกนโยบายดังกล่าวทำให้ปัญหาเกิดขึ้นอย่างทุกวันนี้ เพราะทั้งนายยงยุทธ ทองสุข รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม หนึ่งในคณะกรรมการวัตถุอันตรายและนายวิชา ธิติประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตรที่มาแสดงทัศนคติในวันนี้ ที่พูดว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ซึ่งตรงกับอธิบดีคนหนึ่งที่เคยพูดไว้ว่า เรื่องนี้เป็นการทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ การพูดเช่นนี้แสดงถึงทัศนคติที่มีปัญหา และประกาศที่ออกมาก็สะท้อนว่ามาจากรากฐานทัศนคติเช่นนี้ อย่างไรก็ตามเรื่องที่เกี่ยวกับสังคมถือว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่เสมอ

“ภายในสัปดาห์หน้าทางมูลนิธิฯร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรฯจะไปยื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อระงับประกาศฉบับดังกล่าวที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ.ที่ประกาศให้ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนของพืชสมุนไพร 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตราย โดยอาจจะต้องพิจารณาจากสำนวนคำฟ้องจากนักวิชาการอิสระที่ยื่นฟ้องศาลปกครองไปก่อนหน้านี้ ให้รอบครอบมากขึ้น”นายวิฑูรย์ กล่าว

ด้านดร.ถวิลวดี กล่าวว่า กระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ แต่การมีส่วนร่วมอย่างไร แค่ไหน เป็นเรื่องที่หน่วยงานราชการควรให้ความสำคัญไม่ใช่เครือข่ายต่างๆ ที่มีอยู่มากอยู่แล้วแต่กลับไม่รู้เรื่องไม่เรียกให้เข้ามามีส่วนร่วม เข้าข่ายเป็น “แด๊ด ซินโดม” หรือคุณพ่อรู้ดี ที่ทำตัวรู้ดีไปหมดทุกเรื่อง ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เปิดช่องให้สามารถเปิดรับฟังความคิดเห็น การทำประชามติ หรือประชาพิจารณ์ได้อย่างกว้างขวาง โดยจะรับเป็นมติ หรือเพียงฟังความเห็นก็ได้ ดังนั้น ภาครัฐจึงควรจะคำนึงว่า การรับฟังความเห็นมีความจำเป็นในกระบวนการเกิดกฎหมายหากอยากให้กฎหมายออกได้เร็วแต่ไม่ทำประชามติก็จะเกิดปัญหาในภายหลังเหมือนที่เคยมีภาคประชาชนออกมาเรียกร้อง แต่หากมีการทำประชามติแม้กฎหมายจะค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็สามารถนำไปใช้ได้เลยโดยไม่มีปัญหาตามมา

นพ.อำพล กล่าวว่า ทุกวันนี้รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ระบุชัดเจนในมาตรา 57ถึงสิทธิของบุคคลที่ต้องได้รับคำชี้แจงและเหตุจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นก่อนการอนุญาตหรือดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมใดๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อมีรัฐธรรมนูญกำหนดเช่นนั้นแล้ว ในเรื่องที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายฉบับที่ 6 ที่ระบุให้สมุนไพร 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายในบัญชีที่ 1 ก็ควรที่จะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญนี้

“อย่างกรณีพืชสมุนไพรก็ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่เป็นเรื่องใหญ่ ส่งส่งกระทบกระเทือนสังคมเป็นวงกว้างจึงควรจัดการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนให้มากที่สุด มิฉะนั้นจะนำไปสู่ความวิตก ความไม่ไว้วางใจ ซึ่งผมเสนอว่าในฐานะที่สช.ทำงานกับภาคประชาชนสังคมมามากมาย ก็ยินดีหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ หรือในกรณีนี้กรมวิชาการเกษตรจะร่วมมือกับสช.ในการรับฟังความคิดเห็นประกาศดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การทบทวนประกาศ หรือให้เกิดความเข้าใจตรงกันต่อไป”นพ.อำพล กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น