“หมอวิชัย” นั่งประธานประชุมรับฟังความเห็นประกาศฯ ก.อุตสาหกรรม ยันฟังรอบด้าน หากมีผลเสียมากกว่าดีจะเสนอเรื่องเข้า คกก.วัตถุอันตราย แก้ไข หรือยกเลิกประกาศได้ทันที ขณะที่ “วิฑูรย์” ยันต้องยกเลิกประกาศฯ ชี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อ้าง เกษตรอินทรีย์ไม่มีคุณภาพจึงต้องควบคุมฟังไม่ขึ้น แนะให้ควบคุมอุตสาหกรรมสารเคมีแทน
จากกรณีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2552 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 กำหนดให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก คื่นฉาย ชุมเห็ดเทศ ดอกดึง และหนอนตายหยาก เป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 บัญชี ข.นั้น
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ที่ปรึกษากรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานในการประชุมรับความความเห็นประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2552 กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถให้ความเห็นได้อย่างเต็มที่ เพราะยังไม่ทราบรายละเอียดของประกาศฉบับดังกล่าวอย่างชัดเจน และขอฟังคำชี้แจงจากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และอาจจะต้องดูข้อมูลของต่างประเทศ เช่น จีน อินเดีย ฯลฯ ว่ามีการควบคุมอย่างไร เพราะเป็นประเทศที่มีสมุนไพรจำนวนมาก และนิยมใช้อย่างแพร่หลายทั้งในประเทศและส่งออกตางประเทศ
“ตามกำหนดการเดิมจะต้องรับฟังความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ก่อน แต่อยู่ดีๆ ก็มีการออกประกาศมาบังคับใช้ โดยที่ไม่ทราบมาก่อน ดังนั้น ขณะนี้ทำได้เพียงรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้านก่อน อย่างไรก็ตาม หากที่ประชุมเห็นว่ามีผลเสียมากกว่าผลดี ก็จะเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อพิจารณาแก้ไข หรือยกเลิกต่อไป” นพ.วิชัย กล่าว
ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า การออกมาชี้แจงโดยการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำของอธิบดีกรมวิชาการเกษตรไม่ช่วยแก้ปัญหาแต่อย่างใด แต่ทางแก้ คือ ต้องยกเลิกประกาศของคณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรมเท่านั้น เพราะหากประกาศนี้ยังคงอยู่ จะเป็นปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ของภูมิปัญญาชาวบ้านเรื่องเกษตรอินทรีย์ทั้งประเทศ ส่วนกรณีที่อ้างว่าผลิตภัณฑ์ของเกษตรอินทรีย์ไม่ได้มาตรฐานจึงต้องออกประกาศเพื่อเข้ามาควบคุมการใช้ภูมิปัญญาระดับชาวบ้านที่ทำใช้เอง หรือขายกันเองในกลุ่มเล็กๆ ถือว่าไม่ถูกต้องภาครัฐควรเข้าไปดูแลการสารสกัดในระดับอุตสาหกรรมใหญ่ โดยให้สารสกัดเหล่านี้อยู่ในบัญชีที่ 2 แทน
“หากกรมวิชาการเกษตรต้องการควบคุมพืชสมุนไพรที่แปรรูปเป็นสารกำจัด ควบคุม โรค และแมลงศัตรูพืช เพื่อการค้าจริงตามที่ได้แถลงก็ควรจะเน้นการควบคุมอุตสาหกรรมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพราะเป็นต้นเหตุปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อีกทั้งมีเม็ดเงินมหาศาลโดยในปี 2551 มียอดการจำหน่าย 1.8 หมื่นล้านบาท ไม่ใช่เหวี่ยงแหคลุมสมุนไพรทั้งหมดเช่นนี้ และควรระบุให้สารสกัดของสมุนไพรที่จะนำมากำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นอยู่ในวัตถุอันตราย บัญชีที่ 2 เพราะบัญชีที่ 2 คือ การต้องขออนุญาตก่อนดำเนินการ แต่บัญชีที่ 1 ที่กรมวิชาการเกษตรอ้างว่าขึ้นสมุนไพร 13 รายการนั้น เป็นการจดแจ้งให้ทางการทราบภายใต้กฎระเบียบเท่านั้น” นายวิฑูรย์ กล่าว
นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า ก่อนอื่นคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะต้องถอนประกาศของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในเรื่องดังกล่าวก่อน และกรมวิชาการเกษตรก็ถอนประกาศอีกรายการที่กำลังดำเนินการร่างอยู่ด้วยเช่นกัน รวมทั้งหากจะดำเนินการทำประกาศที่ต้องการควบคุมสารสกัดจากสมุนไพรในอุตสาหกรรมจะต้องมีกระบวนการที่โปร่งใส โดยมีคณะกรรมการที่มาจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง 5 หน่วยงานตามที่พ.ร.บ.วัตถุอันตรายพ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม 2551 ระบุไว้ ดำเนินการทำประกาศใหม่ด้วยความมีธรรมาภิบาล
ขณะที่ ภก.วัฒนา อัครเอกฒาลิน ผู้อำนวยการสำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปัจจุบัน อย.มีหน้าที่ดูแลและควบคุมวัตถุอันตรายที่ใช้ในคน และครัวเรือน เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรค และป้องกันแมลงเป็นต้น ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในภาคการเกษตรเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ควบคุมดูแล อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ อย.ได้มีการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญต้องปลอดภัยทั้งในคนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการเผ้าระวังและตรวจสอบเป็นประจำทุกปี