แพร่ - เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน ข่ายทรัพยากร ข่ายหมอพื้นบ้านจังหวัดแพร่ จับมือองค์กรเอกชนทั่วภาคเหนือเดินหน้าชน ตัวการออกกฎหมายสมุนไพรเป็นวัตถุอันตราย ยันเป็นกฎหมายต้านเศรษฐกิจพอเพียง -ล้มระบบเศรษฐกิจชุมชน จากกลุ่มทุนข้าราชการและนักการเมืองเลว จี้รัฐบาล “มาร์ค” จัดการพิสูจน์ความจริงใจ
หลังจากที่ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2551 ประกาศให้สมุนไพรที่ใช้ในการกำจัดศัตรูพืช 13 ชนิด ได้แก่ 1.สะเดา 2.ตะไคร้หอม 3.ขมิ้นชัน 4.ขิง 5.ข่า 6. ดาวเรือง 7.สาบเสือ 8.กากเมล็ดชา 9.พริก 10.คื่นฉาย 11.ชุมเห็ดเทศ 12.ดองดึง 13.หนอนตายหยาก เป็นวัตถุอันตรายประเภท 1 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ฉบับที่ 6 พ.ศ.2552 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบิกษาเมื่อ3 กุมภาพันธ์ 2552 นั้น
ไม่เพียงทำให้สมุนไพรพื้นบ้านที่ใช้อยู่เป็นประจำของคนไทยทั้งยารักษาโรค อาหารเครื่องสำอาง และใช้ในการเกษตร ต้องกลายเป็นวัตถุอันตรายถ้ามีการแปรรูปใช้ในการเกษตรเพื่อลดการใช้สารเคมี ใน พ.ร.บ.ดังกล่าวระบุว่า พืชสมุนไพรดังกล่าวที่เกษตรกรนำมาทำผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนสมุนไพรดังกล่าว โดยไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่ต้องได้รับอนุญาตเสียก่อนนั้น ทำให้การใช้ภูมิปัญญาของเกษตรกรในการลดการใช้สารเคมีไม่สามารถทำได้ โดยต้องได้รับอนุญาตก่อนเท่านั้น
นายเดช สุทธิพันธ์ หมอดินตำบลปงป่าหวาย อ.เด่นชัย จ.แพร่ กล่าวว่า การออกกฎหมายดังกล่าวเป็นการปิดกั้นเกษตรกรโดยทั่วไป ที่ไม่ต้องการใช้สารเคมี ที่หันมาใช้วิธีการหมักสมุนไพรเพื่อนำไปใช้ในการไล่แมลงและทำปุ๋ยในแปลงไร่นาของเกษตรกรเป็นการลดต้นทุนและทำตามหลักของหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่ไม่ต้องลงทุนตั้งโรงงานหรือขออนุญาตเป็นการทำเองใช้เอง ส่งผลให้อาหารที่ผลิตได้ปลอดภัยจากสารพิษและลดต้นทุนการผลิต นอกจากนั้นยังเกิดจุดแข็งของการทำธุรกิจภาคเกษตรกรรมให้กับเกษตรกร
แต่เมื่อกฎหมายนี้ออกมา คนที่นำสมุนไพรมาหมัก ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร หรือหมอพื้นบ้าน ก็ต้องมีการนำเอาสมุนไพรใน 13 ชนิดมาแปรรูปและหมักทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีด้วย ซึ่งจะเป็นการกระทำผิกฎหมายแน่นอน ตรงนี้เกษตรกรคงยอมไม่ได้ที่ตั้งใจเดินหน้าตามแนวพระราชดำริ ใช้ทุนเดิม ใช้ภูมิปัญญา แต่กลับถูกสกัดด้วยกฎหมาย เป็นเรื่องน่าแปลกในแผ่นดินนี้
นายก๋วน เสียงหวาน หมอพื้นบ้านจังหวัดแพร่ กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อคนหลายกลุ่มในชนบทที่เคยใช้สมุนไพรมาอย่างต่อเนื่องซึ่งในอดีตเป็นทางเลือกของคนที่ต้องการมีสุขภาพดี หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะส่งผลแล้วต่อเกษตรกร หมอพื้นบ้าน หมอแผนไทย เภสัชกรในโรงพยายาล กลุ่มบริการทางสุขภาพหรือ สปา และประชาชนโดยทั่วไป และกฎหมายจะได้ประโยชน์เพียงกลุ่มคนที่ต้องการลงทุนผลิต ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสมุนไพรในการใช้ในการเกษตร หรือเป็นการกันไม่ให้มีการใช้ในชุมชนและหันกลับไปใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารคเคมีต่อไป
นายก๋วน กล่าวว่า เครือข่ายหมอพื้นบ้านจังหวัดแพร่ เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดแพร่ และ เครือข่ายทรัพยากรจังหวัดแพร่ เรียกร้องให้ เพิกถอนกฎหมายดังกล่าวโดยเร่งด่วน ภายใน 30 วัน ให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตั้งกรรมการตรวจสอบที่มาของการออกประกาศดังกล่าว โดยในวันที่ 14 ก.พ. เครือข่ายหมอพื้นบ้านจังหวัดแพร่จะเข้าร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเกษตรกรรมยั่งยืน แถลงท่าทีต่อสาธารณะและหาทางผนึกกำลังเพื่อต่อต้านทั่วประเทศต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การดัดแปลงสมุนไพรมาเป็นสารไล่แมลงในแปลงเกษตรกำลังเกิดการพัฒนาอย่างกว้างขวาง ซึ่งส่งผลให้มีผู้ใช้ไปทั่วประเทศ ทำให้เกษตรกรในประเทศไทยเกิดจุดแข็งในการทำการเกษตรที่ลดต้นทุนและปลอดภัยจากสารพิษ ซึ่งจากกฎหมายดังกล่าวมีบทลงโทษไว้สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน ตามมาตรา 71 พ.ร.บ.ดังกล่าวระบุว่า ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการปฏิวัติระบบเกษตรกรรมยั่งยืนของประเทศไทย ซึ่งมีองค์กรเอกชนและหมอพื้นบ้านร่วมกันแถลงข่าวไปแล้ว ที่ กทม.
นอกจากนี้ ในวันที่ 14 ก.พ.จะมีเวทีแลกเปลี่ยนข้อดีข้อเสียของการออกกฎหมายดังกล่าว โดยมีตัวแทนองค์กรชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชนจากหลายหน่วยงาน อาทิ นายมนตรี จันทวงศ์ ประธาน กป.อพช.ภาคเหนือ, นายสำรวย ผัดผล โรงเรียนชาวนาจังหวัดน่าน,นางสาวชิดณัฎฐา เข็มราช สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน, นายวิโรจน์ กันทาสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายหมอเมือง ภาคเหนือ, นางกนกวรรณ์ อุโฆษกิจ สถาบันมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภาคเหนือ ,นางสาวธีรมล บัวงาม สำนักข่าวประชาธรรม เข้าร่วมเวทีเสวนาเพื่อหาทางออกในกฎหมายฉบับดังกล่าว ที่คลังเกษตรอินทรีย์ เจเจ มาร์เกต ข้างตลาดคำเที่ยง อ.เมือง จ.เชียงใหม่