xs
xsm
sm
md
lg

กรมแพทย์แผนไทยหน้าแหก! ประกาศสมุนไพร 13 ชนิดวัตถุอันตราย ที่แท้คุมแค่ใช้กำจัดแมลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกือบจะกลายเป็นวัตถุอันตรายไปเสียแล้ว!!!
อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทย เผยประสานข้อมูลอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลดปมขัดแย้ง ชี้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเจตนาดีหวังดูแลการใช้สมุนไพร ระบุไม่ต้องขออณุญาตหรือขึ้นทะเบียนใช้สมุนไพรได้ตามปกติ ขณะที่ รมช.สธ.ปิ๊งไอเดียติดโลโก้สมุนไพรไทยปลอดภัย รับรองคุณภาพปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง

จากกรณีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2552 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 กำหนดให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก คื่นฉาย ชุมเห็ดเทศ ดอกดึง และหนอนตายหยาก เป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 บัญชี ข. ซึ่งกลุ่มแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้านส่วนหนึ่งออกมาคัดค้านประกาศฯ ฉบับดังกล่าว เนื่องจากอาจส่งผลกระทบกับพืชสมุนไพรและสร้างความแตกตื่นให้กับชาวบ้านอย่างมากนั้น

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ นพ.นรา นาควัฒนานุกุล อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า พืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิด ถูกจัดเป็นเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 บัญชี ข. ในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2552 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดหมวดหมู่ของพื้นสมุนไพร แต่เนื่องจากวัตถุประสงค์เป็นการนำไปใช้เพื่อป้องกัน กำจัด ทำลาย ควบคุม แมลง วัชพืช โรคพืช ศัตรูพืช หรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืช อีกทั้งไม่ต้องขออนุญาตหรือขึ้นทะเบียน ดังนั้น ชาวบ้านจึงสามารถนำสมุนไพรไปใช้ได้ตามปกติ ขณะที่พืชสมุนไพรที่ถูกเปลี่ยนแปลงให้เป็นสารสกัดนำไปใช้ในเชิงอุตสาหกรรม อยู่ในบัญชีที่ 2 ซึ่งจะต้องมีการขออนุญาตและขึ้นทะเบียน โดยเฉพาะเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช

อย่างไรก็ตาม ประกาศฉบับนี้ไม่น่าจะส่งผลกระทบกับสมุนไพรที่ทำไปผลิตเป็นยา หรือเครื่องสำอางเพราะไม่เกี่ยวข้องกัน

“ขณะนี้มีความเห็นที่แตกต่างกันส่วนหนึ่งเกรงว่าชาวบ้านจะตกใจและไม่สบายใจเมื่อเห็นประกาศฉบับนี้ เนื่องจากมีการระบุว่าเป็นวัตถุอันตรายทำให้คิดว่ากำลังทำผิดกฎหมาย มีขั้นตอนการขออนุญาตยุ่งยาก และมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตพื้นบ้าน แต่อีกส่วนหนึ่งมองว่าเจตนาของประกาศฉบับนี้ ไม่ได้ ควบคุมใกล้ชิด ไม่ต้องขอขึ้นทะเบียนและอนุญาต เป็นเพียงความหวังดีที่จะมีการกำกับการใช้สมุนไพรอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และมีคุณภาพ ไม่เป็นอันตรายซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะเข้าไปจัดการให้ความรู้กับชาวบ้านต่อไป” นพ.นรากล่าว

นพ.นรา กล่าวต่อว่า ได้ประสานข้อมูลทางโทรศัพท์กับอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เพื่อลดความขัดแย้งประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งช่วยให้เกิดความเข้าใจในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เวลา 13.30 น.ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย ภาคการเกษตร ฯลฯ เพื่อหารือถึงข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบที่เกิดขึ้น จากนั้นจะมีการลงมติร่วมกันว่าจำเป็นต้องมีการแก้ไขหรือไม่ หรือจะต้องสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น

ด้านนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ภายหลังจากที่มีข่าวนี้ออกไป ตนได้รับโทรศัพท์จากชาวบ้านเนื่องจากมีความไม่เข้าใจและตระหนกว่าจะไม่สามารถปลูกและใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรได้ ซึ่งจะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป เพราะประกาศดังกล่าวอาจมองในภาพรวมอุตสาหกรรมของประเทศ แต่ไม่ได้มองในเชิงการผลิตหน่วยเล็กๆ ที่ใช้ในครัวเรือน ซึ่งหากประกาศฉบับนี้มีข้อเสียมากกว่าข้อดีก็สามารถที่จะแก้ไขได้อยู่แล้ว

“สมุนไพรไทยถูกนำมาใช้ในการรักษาพยาบาลด้านการแพทย์แผนไทยมาโดยตลอด ถือเป็นภูมิปัญญาไทย และเพื่อให้การผลิตสมุนไพรได้มาตรฐานอนาคตจะให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมมือกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในการสร้างตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยปลอดภัยเพื่อรับรองคุณภาพของพืชสมุนไพรว่าปลอดภัย ไม่ต้องกังวลผลข้างเคียง รวมถึงการดูมาตรฐานการผลิตโรงงานซึ่งต้องได้มาตรฐานการผลิตที่ดี (จีเอ็มพี) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)” นายมานิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) มีการแถลงข่าว “เมื่อพืชอาหารและสมุนไพร 13 ชนิดกลายเป็นวัตถุอันตราย? โดยน.ส.ทัศนีย์ วีระกันต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า หากภายใน 7 วันนับจากนี้ไป หากกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ยังไม่มีการดำเนินการที่จะทบทวน หรือยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าว หรือยังมีความพยายามเบี่ยงเบนประเด็นอยู่ ทางเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจะเดินทางเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล และคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ รัฐสภาเพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นเพื่อสืบหาต้นต่อที่แท้จริง
“เชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือจากนายอภิสิทธิ์ เพราะเรื่องนี้ถือว่าขัดกับนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงจะปรึกษานักกฎหมายว่าสามารถยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้หรือไม่ด้วย เพราะสิ่งที่กรมวิชาการเกษตรได้ชี้แจงว่าสาเหตุที่ออกประกาศดังกล่าว เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคนั้นฟังไม่ขึ้น เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ซึ่งทางออกที่ถูกต้อง ควรไปจัดการเรื่องการควบคุมสารเคมีที่เป็นวัตถุอันตราย หรือการควบคุมเฉพาะสารใดสารหนึ่งในพืชสมุนไพรนั้นๆ และควบคุมปริมาณเท่าใดมากกว่า เพราะจะเป็นการควบคุมกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรม ที่ผ่านกระบวนการทางเคมีแล้ว ซึ่งจะไม่กระทบกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน และวิสาหกิจชุมชนที่เกี่ยวข้องกับพืชสมุนไพรเลย” น.ส.ทัศนีย์ กล่าว
 
นายวิฑูรย์ เลียนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ไม่สามารถยอมรับพ.ร.บ.วัตถุอันตราย 2535 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2551 ที่ ประกาศให้สมุนไพรที่ใช้ในการจำจัดศัตรูพืชจำนวน 13 รายการ เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 1 ที่ผู้ใดที่ผลิต นำเข้า หรือส่งออก เพื่อขายพืชสมุนไพรเหล่านี้ ต้องแจ้งล่วงหน้าต่อเจ้าหน้าที่พนักงาน ตามที่กรมวิชาการเกษตรกำลังดำเนินการร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ เนื่องจากกระทบต่อการดำเนินการของเกษตรกรทั้งหมด ที่ใช้แนวทางเกษตรแบบยั่งยืน ที่เน้นการใช้สารอินทรีย์ ทดแทนสารเคมี 
ทั้งนี้ข้อความในร่างประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ระบุชัดเจนว่า ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี หมายความถึง การนำสมุนไพรเหล่านี้ มาบด สับ ทำแห้ง หมัก ฯลฯ ที่ไม่ได้ใช้กระบวนการทางเคมี จะต้องดำเนินการตามประกาศนี้ทั้งหมด หากไม่ดำเนินการถือว่ามีความผิดตามมาตรา 71 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ  ถือว่าเป็นการปิดกั้นภูมิปัญญาชาวบ้านที่จะมีการพัฒนาขึ้นในภาคประชาชน ที่เน้นการพึ่งพาตัวเอง
“การที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตรยังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า การออกประกาศดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือให้สมุนไพรดังกล่าว เดิมจากเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ที่จะต้องมีการจดแจ้งก่อนที่จะมีการดำเนินการใดกับสมุนไพรเหล่านั้นในการทำสารกำจัดศัตรูพืช เหลือเป็นแค่วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 เท่านั้น ที่ดำเนินการเพียงผู้ผลิต นำเข้า หรือส่งออกเพื่อขายเท่านั้นที่ต้องจดแจ้ง  แสดงว่าจะยกเลิกชนิดที่2 เปลี่ยนให้สมุนไพรเหล่านี้มาเป็นชนิดที่ 1 แต่แท้จริงแล้วกรมฯควรจะไปคุมเรื่องสารสกัดจากสมุนไพรที่นำมาใช้กำจัดศัตรูพืช ซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ที่เป็นการดำเนินการในระดับอุตสาหกรรมมากกว่า  มาคุมในระดับชาวบ้านเช่นนี้”นายวิฑูรย์ กล่าว
นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ในประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในการแก้พ.ร.บ.ดังกล่าว ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2551 ซึ่งสธ.ได้มีการแย้งในที่ประชุม และสธ.จะมีการประชาพิจารณ์อีกครั้งในวันที่ 13 ก.พ. แต่เพราะเหตุใดเร่งการดำเนินการเช่นนี้ จนทำให้กฎหมายนี้จึงมีผลบังคับใช้หลังลงราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยที่สธ.ไม่ทราบเรื่องดังกล่าวเลย  อีกทั้งมติดังกล่าวของคณะกรรมการวัตถุอันตรายก็เกิดจากการชงเรื่องของกรมวิชาการเกษตรด้วย จึงไม่ได้เกิดจากคณะกรรมการของกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ดำเนินการตามที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้กล่าวอ้าง
 “นอกจากนี้ในพ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนองค์กรสาธารณประโยชน์และมีประสบการณ์ การดำเนินการคุ้มครองสุขอนามัย ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน ด้านการจัดการปัญหาวัตถุอันตรายในท้องถิ่น หรือด้านในสิ่งแวดล้อม ภายใน 180 วัน แต่จนถึงขณะนี้เกินกำหนดระยะเวลาดังกล่าว แต่ก็ยังไม่มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดนี้เลย รวมทั้งประกาศในเรื่องดังกล่าวจะเป็นโมฆะหรือไม่นั้น คงต้องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ให้คำตอบ”นายวิฑูรย์ กล่าว
นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ ผู้จัดการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวกระทบกับวิถีชีวิตของเกษตรกร เดิมจากที่จะคุมให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ที่คุมเรื่องสารสกัดของสมุนไพรกำจัดศัตรูพืชที่เป็นเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว แต่กลับมาดำเนินการกับเกษตรกรระดับชาวบ้าน ที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังนั้นเรื่องนี้ถือว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญปี 2550
 “ใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว  เพราะประชาชนเกษตรกรส่วนใหญ่ที่ใช้ภูมิปัญญา ชาวบ้าน ใช้เกษตรอินทรีย์ เก็บสมุนไพรมาเป็นวัตถุดิบในการดำเนินการกลับต้องจดแจ้งเจ้าหน้าที่ แต่การดำเนินการสมุนไพรระดับอุตสาหกรรมจะไม่ต้องจดแจ้ง นอกจากนี้วงการสมุนไพรมีการส่งเสริมใน 4 มิติ ที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ คือ 1 อาหาร 2 ยา3 เครื่องสำอาง 4 สมุนไพรไล่แมลง”นายวีรพงษ์ กล่าว 
แหล่งข่าวระดับสูงจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย กล่าวว่า การออกประกาศฉบับดังกล่าวมีเงื่อนงำที่ต้องตรวจสอบหลายประเด็น โดยเฉพาะความเร่งรีบในการออกประกาศ เพราะคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีการประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2551 ซึ่งตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข ได้คัดค้านร่างประกาศฉบับนี้ และได้นักประชุมรับฟังความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2552 เพื่อสรุปเป็นครั้งสุดท้าย แต่กระทรวงอุตสาหกรรม กลับเร่งออกประกาศในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 โดยที่ไม่แจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขรับทราบแต่อย่างใด
“สังคมควรตรวจสอบสายสัมพันธ์ของบุคคลทั้ง 3 คนนี้ให้ดีว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นเหตุของการออกประกาศฉบับดังกล่าว  โดยคนแรกเป็นข้าราชการระดับสูงอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็น ส.ว. มีอักษรน้ำ คือ “อ” มีความสนิทสนมกับ นักการเมืองภาคอีสาน อักษรนำ “น” และทั้ง 2 คนนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ บริษัทสารเคมีข้ามชาติ มีอักษรนำคือ “ม” หากตรวจสอบให้ดีก็จะพบว่าเรื่องนี้มีผลประโยชน์มหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่” แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น