xs
xsm
sm
md
lg

ค้าน ก.อุตสาหกรรม ประกาศคุม 13 สมุนไพรไทย ชี้ส่งผลกระทบมหาศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพทย์แผนไทย ค้าน ก.อุตสาหกรรม ออกประกาศ คุม 13 พืชสมุนไพรไทย พริก ขิง ข่า ตะไคร้หอม ขึ้นฉ่าย เป็นวัตถุอันตราย ตั้งข้อสงสัยมีนัยยะ ผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่ มั่นใจส่งผลกระทบมหาศาล เพราะพืชสวนครัวอยู่คู่วิถีชีวิตคนไทยมานาน เตรียมจัดเวทีรับฟังความเห็น ระบุ ที่ผ่านมาไม่เคยมีมาก่อน หากมีผลเสียมากกว่าดี เตรียมเสนอ ครม.ทบทวนหรือยกเลิกทันที

จากกรณีคณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประกาศให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี 13 ชนิด ได้แก่ 1.สะเดา 2.ตะไคร้หอม 3.ขมิ้นชัน 4.ขิง 5.ข่า 6.ดาวเรือง 7.สาบเสือ 8.กากเมล็ดชา 9.พริก 10.ขึ้นฉ่าย 11.ชุมเห็ดเทศ 12.ดองดึง และ 13.หนอนตายหยาก เป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 บัญชี ข.และมีผลบังคับใช้แล้วนั้น

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. นพ.ประพจน์ เภตรากาศ รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การบังคับใช้ประกาศฉบับดังกล่าว ที่ควบคุมให้พืชทั้ง 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายนั้น ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมหาศาลแน่นอน เพราะพืชทั้ง 13 ชนิด เป็นพืชสมุนไพรไทยพื้นบ้านที่เป็นวิถีชีวิตของคนไทยมานาน ทั้งการปลูกเป็นพื้นผักสวนครัว การปรุงอาหาร เป็นทั้งอาหาร และยา รวมถึงใช้ในภาคการเกษตรด้วย มีการจำหน่าย และการผลิตในระดับอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรมในครัวเรือน และอุตสาหกรรมส่งออก

นพ.ประพจน์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดของประกาศฉบับดังกล่าว ว่า มีข้อกำหนดในการควบคุมอย่างไรบ้าง แต่หากมีการกำหนดเป็นวัตถุอันตรายแล้ว หากมีครอบครอง หรือครอบครอบไว้เพื่อจำหน่ายจะต้องมีการจดแจ้ง หรือขออนุญาตให้ถูกต้องอย่างแน่นอน ซึ่งส่วนนี้จะมีผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะชาวบ้านที่ปลูกหรือขายพืชเหล่านี้ตามตลาดสดต่างๆ เพราะชาวบ้านจะมารู้กฎหมาย อาจเกิดความสับสนและกลัวขึ้นมาได้ หรือแม้แต่ในภาคอุตสาหกรรมขนาดย่อม เช่น วิสาหกิจชุมชน ที่นำพืชสมุนไพรไทยมาดัดแปลงทำเป็นยาสมุนไพรต่างๆ ก็ต้องเกิดผลกระทบตามมาอย่างแน่นอน

“ที่ผ่านมา กระทรวงอุตฯ ไม่เคยแจ้งมาก่อนว่า จะออกประกาศควบคุมพืชสมุนไพรเหล่านี้ ไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานราชการ ภาคเกษตร หรือประชาชน ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการใช้พืชทั้ง 13 ชนิดเลย เพิ่งจะมาทราบเรื่องหลังจากที่ออกประกาศมาแล้ว เรื่องนี้สร้างความสงสัยอย่างมากว่ามีเหตุผลอะไรที่ต้องควบคุมพืชสมุนไพรไทย และควบคุมไปเพื่ออะไร หรือมีนัยยะแอบเฝงอะไรหรือไม่ เพราะยังไม่เห็นประโยชน์ของการควบคุมเรื่องนี้เลย มีแต่จะส่งผลเสียมากกว่า” นพ.ประพจน์ กล่าว

นพ.ประพจน์ กล่าวด้วยว่า เพื่อให้เกิดความกระจ่าง กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อประกาศฉบับดังกล่าว ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 13.30 น.ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยจะมีตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย ภาคการเกษตร ฯลฯ เข้าร่วมประชุม ซึ่งทาง สธ.ต้องการทราบเหตุผลความจำเป็นในการควบคุมพืชสมุนไพรไทย และผลดีของการควบคุม ขณะเดียวกัน ทาง สธ.และภาคเกษตร จะชี้แจงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหากเปิดรับฟังความเห็นแล้ว พบว่า เกิดผลเสียมากกว่าผลดี กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย จะรายงานผลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับทราบ เพื่อนำเสนอเข้า ครม.พิจารณาทบทวนหรือยกเลิกการออกประกาศฉบับดังกล่าวทันที

นพ.ประพจน์ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญ นโยบายของรัฐบาลทุกยุคทุสมัย หรือแม้แต่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปัจจุบัน มีนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมให้คนไทยใช้พืชสมุนไพรพื้นบ้านทั้งสิ้น ดังนั้น ประกาศฉบับนี้ก็ถือว่าเป็นการสวนทางกับนโยบายหลักของประเทศ และขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 จึงต้องมีการทบทวนอย่างแน่นอน ยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัว เช่น ปัจจุบันโรงพยาบาลต่างๆ ใช้ตะไคร้หอม เพื่อไล่ยุง ไล่แมลงให้อย่างแพร่หลาย เพราะมีความปลอดภัยต่อคนไข้ และประหยัดงบประมาณ แต่ต่อไปเมื่อมีการควบคุมแล้ว ก็ไม่สามารถใช้ได้ต้องไปซื้อยาฆ่าแมลงที่เป็นสารเคมีนำเข้าจากต่างประเทศมาใช้แทน จะส่งผลให้ประเทศไทยอ่อนแอและพึ่งตนเองไม่ได้ในที่สุด

ทั้งนี้ ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 14.00 น.ที่สำนักงานมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ถ.งามวงศ์วาน จะมีการแถลงข่าว “เมื่อพืชอาหารและสมุนไพร 13 ชนิดกลายเป็นวัตถุอันตราย ?” โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าว อาทิ เครือข่ายหมอพื้นบ้าน เครือข่ายด้านการเกษตร และเครือข่ายฐานทรัพยากรอาหาร เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น