ทัพพยาบาลปิดถนนกระทรวงหมอ ประท้วงไม่ได้รับความเป็นธรรม “วิทยา” รับสางปัญหาเตรียมเจรจา ก.พ.ขอบรรจุพยาบาลที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว กว่า 6,000 คน อนาคตอาจขอแยกออกจาก ก.พ.พร้อมเพิ่มความก้าวหน้าในวิชาชีพพยาบาลให้สูงขึ้น ปรับแก้ค่าตอบแทนเหมาจ่ายทั้งระบบทุกสาขาวิชาชีพให้เป็นธรรม ไม่เกิดความแตกแยก จี้ ปลัด สธ.จัดการให้เสร็จภายใน 1 เดือน พร้อมเข้าพบนายกรัฐมนตรีชี้แจงความจำเป็น
วันนี้ (9 ม.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น.ที่กระทรวงสาธารณสุข นางกรรณิกา ปัญญาอมรวัฒน์ ที่ปรึกษาชมรมผู้บริหารการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน แกนนำพยาบาลวิชาชีพกว่า 3,000 คน จากทั่วประเทศ เดินทางเข้าพบ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม 3 เรื่อง คือ 1.ต้องการให้พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลและสถานีอนามัยในพื้นที่ปกติ ได้รับค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่น 2.ผลักดันให้บรรจุพยาบาลวิชาชีพที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวขณะนี้ประมาณ 6,000 คนให้เป็นข้าราชการ และ 3.การกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพให้สูงขึ้น แต่ไม่ต้องยุบรวมตำแหน่ง โดยมี นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ.เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียน
สำหรับบรรยากาศการชุมนุมเป็นไปอย่างวุ่นวาย เนื่องจากบรรดาพยาบาลได้ปิดเส้นทางการสัญจรบริเวณหน้าอาการสำนักงานปลัด สธ.และเดินขบวนไปปิดทางเข้าออกประตูทางเข้า สธ.ด้าน ถ.งามวงศ์วาน นานประมาณ 45 นาที ทำให้การจราจรบริเวณใกล้เคียงติดขัดอย่างหนัก จนกระทั่ง นายวิทยา และผู้บริหาร สธ.ได้ลงมาชี้แจงกับกลุ่มพยาบาลด้วยตนเอง จึงได้ยุติการชุมนุมและแยกย้ายกันกลับเมื่อเวลา 12.15 น.
นายวิทยา กล่าวว่า ยินดีรับข้อเสนอของพยาบาลในทุกประเด็น เพื่อแก้ไข เพราะเข้าใจความรู้สึกของพยาบาลชุมชนที่มาเรียกร้องในวันนี้ดี โดยจะเร่งดำเนินการทั้ง 3 เรื่อง เป็นนโยบายเร่งด่วน มอบให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ ซึ่งเรื่องเร่งด่วนที่มีความสำคัญที่สุด คือ การบรรจุพยาบาลที่ขณะนี้เป็นลูกจ้างชั่วคราวอีกประมาณ 6,000 คน โดยจะหารือกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง และเจรจากับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ส่วนเรื่องความก้าวหน้าในวิชาชีพพยาบาลให้มีตำแหน่งสูงขึ้นเป็นระดับชำนาญการพิเศษ หรือผู้เชี่ยวชาญให้มากขึ้น ซึ่งจะต้องชี้แจงกับ ก.พ.ด้วยเช่นกันเนื่องจาก สธ.ไม่สามารถดำเนินการได้เอง และจะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบเป็นระยะๆ
“ส่วนข้าราชการ สธ.จะแยกออกมาจาก ก.พ.เป็น ก.สธ.หรือไม่นั้น ผมมีความคิดว่า อนาคตอาจจะต้องมีการแยก เพราะข้าราชการใน สธ.มีจำนวนมากถึง 2 แสนกว่าคน แต่หาก สธ.ถอนตัวออกจาก ก.พ.อาจทำให้ ก.พ.ล้มได้ ดังนั้น ขอเวลาศึกษาและแก้ปัญหาภายใน สธ.ก่อน เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้”นายวิทยา กล่าว
นายวิทยา กล่าวว่า ส่วนเรื่องค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ซึ่งคิดว่ามีความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมนั้น ได้มอบหมายให้ปลัด สธ.นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ที่ปรึกษางานระบบบริการสาธารณสุข อดีตผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี สธ.จะดำเนินการในรายละเอียด จะต้องแก้ไขทั้งระบบ ซึ่งมี 13 สาขาวิชาชีพ โดยยึดหลักให้ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม อยู่ในกรอบที่ทุกสาขาวิชาชีพพอใจ และไม่สร้างความแตกแยก มิฉะนั้น สายอาชีพอื่นๆ ก็จะมาร้องเรียนเช่นนี้อีกเรื่อยไป โดยให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน
“รัฐบาลสั่งให้ผมมาอยู่ที่นี่ ผมก็นับถอยหลังในการทำงานมาโดยตลอด ว่าจะอยู่กี่เดือน กี่วัน เพราะผมมาแล้วก็ไป ดังนั้นเจ้าหน้าที่ทุกคนชาว สธ.ต้องอยู่ที่นี่ต่อไปนานกว่าผม ดังนั้น จึงต้องร่วมมือกัน ภารกิจผมที่เข้ามาคือดูแลคน สธ.ให้สมศักดิ์ศรี และไม่อยากเห็นภาพการทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างสายอาชีพที่ทำงานร่วมกัน” นายวิทยา กล่าว
นายวิทยา กล่าวด้วยว่า สำหรับความก้าวหน้าในวิชาชีพของพยาบาลนั้น ตนเห็นด้วยอยู่แล้ว เพราะภรรยาเคยพูดมากว่า 10 ปีแล้ว เนื่องจากพยาบาลวิชาชีพระดับ 7 มานานมาก ในขณะที่ครูที่เป็นรุ่นน้องเป็นข้าราชการระดับ 8 ทั้งหมด จึงมีความรู้สึกว่ามีความผิดปกติในระบบของพยาบาล ที่ผ่านมา พยาบาลระดับ 8 ทั้งจังหวัด บางครั้งอาจขึ้นรถแท็กซี่คันเดียวก็ได้ เพราะมีผู้ที่ได้ตำแหน่งนี้น้อย ขณะที่บางอาชีพขึ้นรถไฟทั้งขบวนยังไม่พอ ซึ่งหากปลัด สธ.เห็นด้วยก็รับเป็นหน้าที่ไปดำเนินการ เพราะทั้ง 2 ข้อที่ผ่านมา ถือว่าเป็นนโยบายของ รมว.สาธารณสุข ที่ปลัด สธ.ต้องสนอง แม้ว่าจะยากเพราะต้องต่อรองตามกรอบของกฎหมาย แต่ข้อ 3 สามารถดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะอยู่ภายใต้อำนาจของ สธ.
ด้าน นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา นายแพทย์ 10 ด้านพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข รับผิดชอบกำลังคนและค่าตอบแทน กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้ประชุมตัวแทนจากสภาวิชาชีพทั้งหมด เพื่อจัดทำร่างการจ่ายค่าตอบแทนครอบคลุมทุกสายงาน ซึ่งการทบทวนเรื่องเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามที่ตัวแทนพยาบาลเรียกร้องความเป็นธรรมนั้น จะเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกสาขาวิชาชีพมาหารือ เพื่อให้ได้หลักเกณฑ์ที่เป็นธรรมที่สุด โดยคาดว่า จะเสร็จภายในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจะเพิ่มค่าตอบแทนให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุขทุกสาขาวิชาชีพ ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสถานพยาบาลทุกระดับ อาทิ ค่าล่วงเวลา เพิ่ม 20% ทุกสายอาชีพ เพิ่มค่าอยู่เวร เป็นต้น โดยภายในสัปดาห์หน้าจะเสนอร่างรายละเอียดดังกล่าวให้ปลัด สธ.ลงนามให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
“นอกจากนี้ สธ.กำลังศึกษารูปแบบการจ่ายค่าตอบแทนตามปริมาณงาน ใน รพ.ชุมชุน 2 แห่ง คือ ที่โรงพยาบาลพาน จ.เชียงราย และ รพ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ซึ่งจะจ่ายค่าตอบแทนตามปริมาณงานที่แต่ละคนทำ และในปีนี้จะขยายผลดำเนินการเพิ่มในโรงพยาบาลขนาดเล็กและใหญ่ 11 แห่ง เพื่อให้ได้รูปแบบที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้การจ่ายค่าตอบแทนมีความเป็นธรรมและสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ที่ทำงานหนักก่อนนำมาปฏิบัติจริง ซึ่งวิธีการดังกล่าวเป็นวิธีเดียวกับที่ใช้ในโรงพยาบาลที่เป็นมหาวิทยาลัยดำเนินการอยู่ หลังจากการดำเนินโครงการแล้ว ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่นำร่องผู้ปฏิบัติมีความพอใจ เพราะได้รับความเป็นธรรม” นพ.สุพรรณ กล่าว
ขณะที่ นพ.ปราชญ์ กล่าวว่า ได้ลงนามในคำสั่งให้การเดินทางมาเรียกร้องครั้งนี้ของพยาบาลวิชาชีพเป็นการเดินทางมาอย่างถูกต้อง ไม่นับว่าเป็นวันลาราชการพร้อมทั้งสามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้ ที่ผ่านมาได้ดำเนินการเรียกร้องในการบรรจุบุคลากรทางด้านสาธารณสุขมาโดยตลอด โดยปี 2547-2548 ได้เสนอ ครม.อนุมัติตำแหน่งข้าราชการของ สธ.แต่ก็ยังตกค้างถึงตอนนี้ 1,300 ราย ในจำนวนนี้เป็นพยาบาลถึง 445 ราย เมื่อรวมเจ้าหน้าที่ที่รอบรรจุเป็นข้าราชการจนขณะนี้มีมากถึง 10,389 คน โดยในจำนวนนี้เป็นพยาบาลถึง6,000 คน ซึ่งต้องไปหารือกับ ก.พ.ต่อไป