xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์บริการร่วมตรวจ "นมโรงเรียน" 3 จังหวัด ยันไม่ผ่านมาตรฐาน "เนื้อนม"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.คุณหญิงกัลยา และ นายปฐม แหยมเกตุ โชว์ตัวอย่างนมโรงเรียนที่กรมวิทยาศาสตร์บริการรับไปตรวจ
กรมวิทย์บริการแถลงผลตรวจตัวอย่างนมโรงเรียน จากชุมพร ราชบุรี และสุโขทัย ตามคำร้องขอจากกระทรวงศึกษาฯ พบนมจากทั้ง 3 แห่ง ไม่ผ่านมาตรฐาน "เนื้อนม" ส่วนมันเนยเกินมาตรฐานทุกแห่ง แต่ระบุสาเหตุไม่ได้ แต่พร้อมร่วมตรวจหาสาเหตุกับกระทรวงเกษตร หากได้รับการร้องขอความร่วมมือ

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) พร้อมด้วยนายปฐม แหยมเกตุ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมแถลงผลการตรวจนมโรงเรียนจากห้องปฏิบัติการโครงการวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กรมวิทยาศาสตร์บริการ เมื่อวันที่ 23 ก.พ.52 ณ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ซึ่งทีมข่าว “วิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์” และสื่อมวลชนอื่นๆ เข้าฟังการแถลงผลตรวจสอบดังกล่าว

ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้รับตัวอย่างนมโรงเรียนจากกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผลิตจาก 3 แห่ง ได้แก่ ตัวอย่างนมพาสเจอร์ไรซ์บรรจุถุงลามิเนต ปริมาตร 200 มิลลิลิตร ที่ผลิตโดยโรงงานนำศรีชลเครื่องดื่ม จ.ชุมพร นมชนิดยูเอชที บรรจุกล่องลามิเนต ปริมาตร 200 มิลลิลิตร ที่ผลิตโดยสหกรณ์โคนมราชบุรี จำกัด จ.ราชบุรี และตัวอย่างนมชนิดยูเอชที บรรจุกล่องลามิเนต ปริมาตร 200 มิลลิลิตร ที่ผลิตโดยโรงงานผลิตภัณฑ์นมภาคเหนือ จ.สุโขทัย

ดร.คุณหญิงกัลยาระบุว่า ห้องปฏิบัติการโครงการวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้ตรวจคุณภาพนมตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 265 พ.ศ.2545 เรื่องนมโค ใน 3 ด้าน คือ 1.คุณภาพโภชนาการ 2.เชื้อจุลินทรีย์และแบคทีเรีย และ 3.สิ่งปนเปื้อนในนมหรือความลอดภัยในนม โดยปริมาณที่ตรวจสอบมีความเชื่อถือได้ทางสถิติ ซึ่งการตรวจสอบจุลินทรีย์และสิ่งปนเปื้อนในนมนั้นผ่านมาตรฐาน แต่ทางด้านคุณภาพโภชนาการนั้นไม่ผ่านมาตรฐาน

สำหรับการตรวจคุณสมบัติโภชนาการของนมโรงเรียน ได้ตรวจใน 3 ด้านคือ ด้านโปรตีนนม เนื้อนมที่ไม่รวมมันเนย และมันเนย โดยในส่วนของโปรตีนนมนั้น ต้องมีปริมาณโดยปริมาตรขั้นต่ำ 2.8% จึงผ่านมาตรฐาน พบว่านมจาก จ.ชุมพร มี 2.72% จ.ราชบุรี มี 2.77% และ จ.สุโขทัย มี 2.8% เมื่อปัดตัวเลขเป็นจำนวนเต็มแล้ว จึงมีนมจาก จ.ชุมพรเท่านั้นที่ไม่ผ่านมาตรฐาน

ส่วนเนื้อนมตามมาตรฐาน ต้องมีขั้นต่ำ 8.25% โดยปริมาตร พบว่า นมจาก จ.ชุมพร มี 7.75% จ.ราชบุรี มี 8.24% และนมจาก จ.สุโขทัย มี 8.21% ดังนั้นทั้ง 3 แห่งจึงไม่ผ่านมาตรฐาน ส่วนมันเนยตามมาตรฐาน ต้องมีขั้นต่ำ 3.2% พบว่านมจาก จ.ชุมพร มี 3.65% จ.ราชบุรี 3.66% และ จ.สุโขทัย มี 3.69% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานทั้งหมด

ทั้งนี้ น.ส.จรรยา วัฒนทวีกุล ผู้อำนวยการโครงการวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กรมวิทยาศาสตร์บริการ อธิบายขั้นตอนการตรวจว่า ในส่วนของการหาเชื้อจุลินทรีย์และแบคทีเรียนั้น ใช้กระบวนการทางชีวภาพเพื่อเพาะเลี้ยงเชื้อ หาการปนเปื้อนของจุลินทรีย์และแบคทีเรีย ทางด้านโภชนาการได้ใช้กระบวนการทางเคมี แปลงนมเป็นการก๊าซแอมโมเนีย เพื่อตรวจสอบย้อนกลับหาปริมาณไนโตรเจน และวิเคราะห์หาโปรตีน ส่วนเนื้อนมคือนมที่ไม่รวมน้ำ

อย่างไรก็ดี การตรวจสอบคุณนภาพนมครั้งนี้ ไม่ได้ตรวจหาการปนเปื้อนของเมลามีนด้วย โดยผู้อำนวยการโครงการวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ระบุว่ามีการตรวจสอบหาการปนเปื้อนของเมลามีนในนมผง ก่อนนำเข้าประเทศไทยอยู่แล้ว ดังนั้นนมผงที่ปนเปื้อนที่ปนเปื้อนเมลามีนจึงถูกกันไว้ตั้งแต่ขั้นตอนดังกล่าว

ด้านนายปฐมกล่าวว่า การตรวจสอบคุณภาพนมครั้งนี้ เป็นไปได้ตามการร้องขอของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งส่งตัวอย่างไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่มีความสามารถในการตรวจสอบคุณภาพนมได้ โดยทางกรมวิทยาศาสตร์บริการได้รับตัวอย่างมาตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ.52 ซึ่งระยะเวลาในการตรวจนั้นประมาณ 7 วัน และผลจากการตรวจหลายๆ แหล่งรวมกันจะเป็นการยืนยันผลร่วมกัน

พร้อมกันนี้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ได้สอบถามว่า ปริมาณเนื้อนมที่ไม่ผ่านมาตรฐานนี้ เกิดจากสาเหตุใด นายปฐมและนักวิทยาศาสตร์จากกรมวิทยาศาสตร์บริการ ไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนได้ แต่อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ระบุว่า อาจต้องไปดูที่ขั้นตอนการเลี้ยงโคนม ซึ่งหากทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร้องขอให้ร่วมตรวจสอบก็ยินดี.
กำลังโหลดความคิดเห็น